![]() |
มีของฝากเสริม ที่เป็นผลงาน CORIN ตัดจากมติชน ค่ะ
เนื้อหาอาจจะยาวไปหน่อย แต่ไม่ทราบจะย่ออย่างไร เลยส่งมาให้อ่านทั้งยวง
จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 13 ตค. 2550
ผักตบชวา"มีดี-มีค่า" แปลงผักลอยน้ำ-ปุ๋ยอินทรีย์
คอลัมน์ ทางเลือกทางรอด
โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง
|
ในวันที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) พาสื่อมวลชนหลายสิบชีวิตไปล่องใต้ ในส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช พวกเราได้สนทนากับเกษตรกรหลายคนในโครงการลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมากจากพระราชดำริ ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอาชีพจากการทำนากุ้งมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งแต่ละคนต้องปรับตัวกันมากทีเดียว โดยมีหน่วยราชการหลายแห่งเข้ามาช่วยเหลือตามโครงการปรับเปลี่ยนอาชีพราษฎรพื้นที่เลี้ยงกุ้งในเขตน้ำจืด
ครอบครัว "ไชยสุวรรณ" เกษตรกร ต.เชียรใหญ่ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่เคยเลี้ยงกุ้งกุลาดำ-กุ้งขาวมาก่อนช่วงปี 2533 และประสบภาวะขาดทุนจนต้องเลิกเลี้ยงกุ้งเมื่อปี 2538 ต้องหันมาทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมและยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ด้วยการขยันทำมาหากินของคนในครอบครัวนี้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แม้จะไม่ร่ำรวยเหมือนสมัยเลี้ยงกุ้งก็ตาม แต่สิ่งที่ "ป้าอุบล ไชยสุวรรณ" สามีและลูกๆ ภาคภูมิใจก็คือ เป็นตัวอย่างให้ใครต่อใครมาดูงาน ได้รับใบรับรองการปฏิบัติทางการประมงที่ดีสำหรับการผลิตสัตว์น้ำ รวมถึงรางวัลแม่ดีเด่นของ อ.เชียรใหญ่ เมื่อปี 2548
ป้าอุบลเล่าว่า แต่ก่อนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 25 ไร่ ที่ตัดสินใจเลิกและเปลี่ยนอาชีพเพราะขาดทุนอย่างหนักตอนปี 2538 เวลานี้ทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม หันมาเลี้ยงปลา ทั้งปลานิล ปลาไน และปลาแรด พร้อมกับปลูกผักและผลไม้ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นกล้วย กระท้อน ส้มโอ มะพร้าว
อย่างที่บอกแม้รายได้จะลดลง แต่ชีวิตก็มีความสุขตามอัตภาพ จากที่เคยมีรายรับเป็นแสนทุกวันนี้มีรายได้แค่หลักหมื่น
ทุกๆ วันป้าอุบลจะนำผลผลิตที่สวนทั้งปลาและพืชผักผลไม้ไปขายที่ตลาดเชียรใหญ่บ้าง ตลาดนัดบ้าง ซึ่งแต่ละวันจะมีรายได้ไม่แน่นอน บางวันได้ 600-700 บาท แต่บางวันได้ถึง 4-5 พันบาท
ถ้าไปดูสวนของป้าอุบลจะเห็นว่า ใช้ประโยชน์จากผืนดินคุ้มค่าจริงๆ เพราะตรงบริเวณคันบ่อ ป้าจะปลูกพืชผักและไม้ยืนต้นหลากหลาย เช่น มะพร้าว ขนุน มะกรูด มะนาว มะกอก และยังมีพืชผักที่เก็บยอดขายได้ตลอด ทั้งโหระพา สาระแหน่ กระเพรา มันปู สมุย มะสัง มะม่วงหิมพานต์ และผักบุ้ง เป็นต้น
|
ใช่แต่จะเลี้ยงปลาไว้ขายอย่างเดียว ครอบครัว "ไชยสุวรรณ" ยังเพาะพันธุ์ขายลูกปลาด้วย ที่สำคัญใครได้รับประทานพืชผักผลไม้ของที่นี่ รับประกันได้เลยว่าปลอดภัย เพราะป้าอุบลใช้ปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นเอง ทำให้ไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยเคมี ใครอยากไปดูงานหรือซื้อผลผลิตทั้งปลาและพืชผักผลไม้จากสวนของป้าอุบล ติดต่อได้ที่ 08-9725-0340
วันนั้นป้าอุบลต้มน้ำกระเจี๊ยบเลี้ยงแขกจาก กทม.หม้อใหญ่ แล้วยังให้พวกเราหิ้วผักและผลไม้ได้ตามใจชอบ สาวๆ หลายคนหอบกล้วยน้ำหว้าและผักพื้นเมืองกลับบ้านด้วยความสบายใจ เพราะไม่บ่อยนักที่จะได้ทานผักผลไม้ปลอดสารพิษ
เกษตรกรอีกคนที่เราได้มีโอกาสสนทนาด้วยคือ "คุณพินยา คำแก้ว" อยู่ที่ อ.เชียรใหญ่เช่นกัน และในอดีตก็เคยเลี้ยงกุ้งเคยร่ำรวยและเกือบหมดตัวมาแล้ว ตอนนี้เปลี่ยนมาทำนาข้าวและเลี้ยงปลาควบคู่กัน โดยทำมาเป็นปีที่ 7
"เคยเลี้ยงกุ้งอยู่ 8 ไร่ มันเกิดขาดทุน เพราะมีโรคกุ้งมาก พอมีโครงการปรับเปลี่ยนอาชีพเลยเข้าสมัครเป็นสมาชิกของโครงการปรับเปลี่ยนอาชีพ เลิกอาชีพเลี้ยงกุ้ง มาทำอาชีพนาข้าว ปลูกผัก และเลี้ยงปลาไปด้วย ในเนื้อที่ 40 ไร่ เลี้ยงปลาช่อน 2 บ่อ กำไรมันน้อยลง เพราะทำนาข้าวพันธุ์ชัยนาท ซึ่งเก็บเกี่ยวได้เร็ว มีรายได้ 5-6 หมื่นบาทต่อหนึ่งครั้ง ทำปีหนึ่ง 2 ครั้ง แต่ต้นทุนการผลิตมันเยอะ ปุ๋ยราคาสูง ใส่ไร่ละ 1 กระสอบ กระสอบละ 50 กิโลกรัม ทุกวันนี้ต้องกลับมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ ผสมกับปุ๋ยเคมี ไม่อย่างนั้นดินอาจจะเสื่อมสภาพ"
นอกจากจะต้องใช้ปุ๋ยเยอะแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่เจอคือหอยเชอรี่
ในการเข้าโครงการปรับเปลี่ยนอาชีพนี้ หน่วยงานรัฐได้จัดอบรม และพาไปดูงานตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะในแหล่งที่เกษตรกรประสบความสำเร็จ
คุณพินยาบอกว่า ในการปรับเปลี่ยนอาชีพนี้จากนากุ้งมาเป็นนาข้าวนั้น ต้องทำหลายอย่างเสริมกัน คือ ทั้งปลูกผักและเลี้ยงปลาไปด้วย ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อคุยกันถึงเรื่องรายได้ คุณพินยาโอดครวญว่า ตอนนี้ข้าวราคาตกต่ำมาก ตกเกวียนละ 4,700 บาท ขณะที่ก่อนหน้านี้อยู่ที่เกวียนละ 5,200 บาท จึงอยากให้รัฐบาลช่วยทำให้ข้าวขายได้เกวียนละ 6,000 บาท เพื่อเกษตรกรจะอยู่ได้เพราะต้นทุนต่อไร่สูงมาก ทั้งนี้ คุณพินยาบอกว่า เคยคิดอยู่เหมือนกันว่าถ้ามีโอกาสดีๆ อาจจะกลับไปเลี้ยงกุ้งอีกก็ได้ เพราะรายได้จากการเลี้ยงกุ้งดีมาก
|
ในช่วง 1 วันที่เราไปสำรวจความคืบหน้าของโครงการลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมากจากพระราชดำริ บรรดาสื่อมวลชนหลายแขนงต่างสนใจ การปลูกผักลอยน้ำ และการนำผักตบชวาที่ไร้ค่า มาทำปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ค่อนข้างแปลกและมีประโยชน์มาก โดยเป็นโครงการที่สถาบันทรัพยากรชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ถือเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง และยังช่วยลดภาระในการกำจัดผักตบชวาของหน่วยงานภาครัฐ ได้เป็นอย่างดี
สำหรับวิธีการทำแปลงผักจากผักตบชวาก็ไม่ยากเลย เริ่มจากการนำไม้ไผ่มากั้นเป็นบล็อค แล้วรวบรวมผักตบชวาและทำการอัดแน่นเข้าด้วยกันในขณะที่ผักตบชวายังลอยอยู่ในน้ำ โดยอัดให้ได้ขนาดกว้างประมาณ 2 เมตร ยาว 8 เมตร เมื่ออัดได้ความหนาประมาณ 20-30 เซนติเมตร ให้คนขึ้นไปใช้เท้าเหยียบและเดินไปมาเพื่ออัดให้แพผักตบแน่นและคงทนต่อการใช้งาน ทำแบบนี้เป็นชั้นๆ ทุกระยะ 20 เซนติเมตร จนได้ความหนาประมาณ 1 เมตร เมื่อหนาได้ที่แล้วจะใช้มีดสับผิวด้านบนให้ใบผักตบละเอียดและสะดวกต่อการเพาะปลูก ในการทำแปลงผัก 1 แปลง จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ใช้ผักตบชวาคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 2,000 กิโลกรัม (ไม่รวมน้ำหนักของน้ำ)
ทั้งนี้ ผักที่ใช้ทดลองเพาะปลูกในเบื้องต้นและได้ผลค่อนข้างดี ได้แก่ แตงกวา ผักกาด ผักคะน้า และผักบุ้งจีน ใช้ระยะเวลาเพาะปลูกจนสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 25-40 วัน ตามชนิดของผัก
ในส่วนของผักบุ้งจีน ใช้เวลาเพาะปลูก 25-30 วัน ได้ผลิตผล 40-50 กิโลกรัมต่อแปลง จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 20 บาท รวมราคาที่จำหน่ายได้ 800-1,000 บาทต่อแปลง และสามารถตัดได้สองครั้ง
แตงกวา ใช้เวลาเพาะปลูก 30 วัน ได้ผลผลิต 50 กิโลกรัมต่อแปลง จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 20 บาท รวมราคาที่จำหน่ายได้ 1,000 บาทต่อแปลง
พื้นที่แปลงผักสามารถใช้ในการเพาะปลูกได้ 3-4 รอบ และเมื่อใกล้หมดสภาพแล้วสามารถนำขึ้นมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือนำไปทำเป็นชั้นบนของแปลงผักแปลงใหม่ได้
"คุณปิยะ วันเพ็ญ" หัวหน้าศูนย์บริการการมีส่วนร่วมชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำปากพนัง สถาบันทรัพยากรชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกถึงข้อดีของแปลงผักลอยน้ำว่า "ไม่ต้องลงทุนสูง ไม่เปลืองแรงคนเพราะไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องใส่ปุ๋ย เนื่องจากปุ๋ยมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ และไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง"
ฟังอย่างนี้แล้ว ใครอยากได้ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม หรืออยากไปศึกษาดูงาน สามารถติดต่อคุณปิยะได้ที่ 08-9197-6797
อย่างที่บอกพอนำผักตบชวาไปทำแปลงผักลอยน้ำแล้ว หลังจากนั้นก็สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ต่อไปได้อีก โดยนำมาผสมกับมูลสัตว์ ทั้งมูลไก่ วัว ที่ท้องถิ่นมีอยู่ เติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ และกากน้ำตาล ใช้เวลาหมัก 2 สัปดาห์ ก็สามารถใช้ได้แล้ว
ด้าน อาจารย์สมศักดิ์ บรมธนรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรชายฝั่ง บอกว่า ผักตบชวาในลุ่มน้ำปากพนังเยอะมาก การจะส่งเสริมให้คนภาคใต้นำไปทำหัตถกรรมเหมือนคนภาคอื่นเป็นไปได้ยาก จึงต้องทำเป็นปุ๋ยเพื่อให้เหมาะกับคนใต้
"ปุ๋ยจากผักตบชวาตอนนี้ขายเฉพาะในชุมชนอย่างเดียว กระสอบละ 50 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาทุน ไม่ได้หวังผลกำไร เป็นการแนะนำให้เห็นว่าปุ๋ยที่ทำมาจากผักตบชวานั้น มีประสิทธิภาพ และแตกต่างจากปุ๋ยอินทรีย์ทั่วไปอย่างไร ทั้งนี้ ปุ๋ยผักตบชวา แตกต่างจากปุ๋ยทั่วไปก็คือว่ามีไนโตรเจนจะสูงกว่าปุ๋ยปกติ เพราะผักตบชวามีธาตุอาหารในตัวของมันอยู่แล้ว"
ฟังสองอาจารย์พูดแล้ว พวกเราต่างเห็นด้วยตามนั้น เพราะแตงกวาลูกเบ้อเริ่มเทิ่มที่เขานำมาโชว์ก็บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของแปลงผักลอยน้ำได้เป็นอย่างดี
นี่ถ้าบ้านอยู่ใกล้แหล่งผักตบชวาก็อยากจะทดลองปลูกบ้าง เพราะชอบไอเดียนี้มาก เป็นการกำจัดผักตบชวาชนิดที่ได้ประโยชน์หลายชั้น และถ้าใครทำแบบนี้แล้วได้ผล ช่วยบอกกล่าวเล่าสู่กันฟังด้วย
หน้า 23