ความเห็น: 3
ปัตตานี ถิ่นเกลือหวาน: เกลือหวานจริงๆ หรือ ??? (2)
มาต่อบันทึกตอนสอง เป็นตอนจบวันนี้ จากบันทึกเมื่อวาน ที่คนธรรมดาได้เข้ามาให้ข้อคิดเห็นดีๆ ไว้ว่า เกลือที่ยิ่งบริสุทธิ์ จะยิ่งหวาน เพราะมีสารปนเปื้อนอื่นๆ น้อย ซึ่งเป็นคำตอบที่.....ถูกต้องครับ เย้ๆๆๆๆๆๆๆๆ
.
.
.
.
.
จากบันทึกที่แล้ว ที่ได้บอกไว้ว่าเกลือปัตตานีบ้านเรามีปริมาณ NaCl มากถึง 92% ส่วนเกลืออีกแหล่งหนึ่งมีอยู่ที่ 89% ซึ่ง มีคนเข้าใจผิดไปด้วยว่า เกลือปัตตานีน่าจะเค็มน้อย จึงหวานมากกว่า ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่มีข้ออ้างอิงทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนชัดเจน ดังนั้น เรื่องเค็มน้อยทำให้มีรสหวานนั้นขอให้ตกไปก่อน เพราะยังไง เกลือก็ต้องเค็มอยู่แล้ว ไม่ว่าจะ 92 หรือ 89 %
ที่สำคัญปริมาณ NaCl เป็นหนึ่งในมาตรฐาน มอก. ที่เค้าระบุไว้ด้วย ว่าต้องมีไม่น้อยกว่ามาตรฐานที่กำหนด ประมาณว่าเกลือที่มี NaCl มาก ยิ่งดี ถือเป็นความบริสุทธิ์ของเกลือที่ผลิตได้
การหาเหตุผลเรื่องเกลือหวาน ยังคงทำต่อไป เมื่อมีประเด็นที่ซ่อนอยู่ในคำโบราณอีกคำ ที่เคยมีคนกล่าวไว้ ว่า "เกลือเค็มมากจนขม" ซึ่งสิ่งที่มีอยู่ในทะเล มันไม่ได้มีแค่โซเดียม (Na) และ คลอไรด์ (Cl) ถ้าไม่เชื่อ สืบค้นได้จากสารานุกรมที่ดังในเน็ตเวิร์คมากว่าอย่างวิกีพีเดียอันนี้
ใครที่กดลิงค์เข้าไปดู ก็จะพบว่า นอกจาก น้ำ, Na และ Cl แล้ว ยังมีธาตุ/ไอออนอื่นๆ อยู่อีกไม่น้อย ซึ่งไอออนหลายชนิด สามารถตกผลึกลงมาได้ ไม่ใช่ว่าเป็นเพียง NaCl อย่างเดียว หากกรรมวิธีในการทำนาเกลือนั้น เอื้อให้มันตกตะกอนตามมา ซึ่งคนที่เคยเรียนวิชาเคมี ม.ปลาย จะสามารถพิจารณาจากค่า Solubility ได้ ว่าใครละลายก่อนหลัง ตกผลึกก่อนหลัง
สรุปง่ายๆ ว่า เกลือในทะเล มันมีลำดับ การตกผลิตเร็วช้าต่างกัน เรียงลำดับจากที่ตกผลึกก่อนไปหลัง ดังนี้ CaSO4 >> K2SO4 >> NaCl >> KCl >> Na2SO4 >> MgSO4....
CaSO4 ตัวแรกนี้ เค้าเรียกว่าเกลือจืด มักถูกเร่งให้ตกตะกอนก่อนในนาเชื้อ ซึ่งเป็นนาที่ถึงก่อนเข้าสู่นาจริง คือนาปลง (ลำดับนาที่เรียงจากริมทะเลเข้ามา = นาวัง->นาตาก->นาเชื้อ->นาปลง) ส่วน K2SO4 นั้น ก็จะตกตะกอนลงมาด้วย แต่มีปริมาณน้อย เพราะ K ในทะเล น้อยกว่า Na และ Cl ถึง 50 เท่า
ดังนั้น ในนาปลง ผลึก NaCl จึงตกผลึกลงได้เต็มที่ ซึ่งความบริสุทธิ์จะอยู่ในช่วง 90-95 % ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่เหลืออีก 5-10 % ละ มันคืออะไร
ตอบได้เลยว่าประกอบด้วย ความชื้น ตะกอนดินทราย KCl, Na2SO4 และ MgSO4 นั่นเอง
ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า Na2SO4 ก็คือดีเกลือไทย ส่วน MgSO4 คือดีเกลือฝรั่ง ทั้งสองอย่างมีรสเค็มขม ใช้เป็นยาระบาย และยารักษาโรคบางอย่างได้ หรือ ชาวสวนนิยมใช้ดีเกลือฝรั่งนี่แหละเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ด้วย
ดังนั้น การวิเคราะห์หาดีเกลือรวม จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่เราจะสามารถตอบได้ว่า ทำไมเกลือปัตตานีถึงหวาน ซึ่งคำว่าหวานในที่นี้ คือ รสชาติเค็มกลมกล่อม ไม่ขม ต่างจากเกลือที่อื่น
เมื่อเราวิเคราะห์ปริมาณดีเกลือรวมแล้ว ก็เลยถึงบางอ้อ ว่า ปริมาณดีเกลือรวมของเกลือปัตตานี นั้นมีค่าน้อยกว่าของเกลือจังหวัดสมุทรฯ อยู่ถึง 2 เท่าตัว
ทำให้ได้คำตอบในเบื้องต้นได้ว่า ปัตตานีเรามีเกลือที่รสชาดเค็มกลมกล่อม และไม่เค็มจนขม จนทำให้สามารถเข้ากับสมยาที่เล่าขานมาแต่กาลก่อนว่า ปัตตานี เป็นถิ่นเกลือหวาน
"จากนี้ไป ทางอำเภอเมืองปัตตานีจะผลักดันเกลือหวานปัตตานีที่ผลิตได้ในแต่ละปี เข้าสู่มาตรฐาน อย. มอก. และฮาลาลต่อไป โดยใช้ข้อดีของรสชาดที่เค็มกลมกล่อมไม่ขมของเรานี้เป็นจุดขาย ทำบรรจุภัณฑ์สวยๆ เพื่อส่งไปขายทั่วประเทศ โดยได้เครือข่ายคุณสรยุทธิ์ พิธีกรข่าวช่อง 3 เป็นคนช่วยสนับสนุนต่อไป...." นายปลัดชัชชัย ปลัดหนุ่มแห่งอำเภอเมืองปัตตานีได้กล่าวไว้ ด้วยแววตามุ่งมั่น ที่ต้องการจะช่วยเหลือชาวนาเกลือ ชาวปัตตานี ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้ลูกหลานได้สืบสานตำนานเกลือหวานของเราต่อไป
คติประจำบันทึก: ปากกาที่หมึกหมด ย่อมดีกว่าปากกาที่หมึกแห้ง เพราะอย่างน้อยเราได้ลงมือใช้มันจนหมด เหมือนการทุ่มเททำสิ่งใดด้วยสุดกำลังจนสุดแรง มิได้ปล่อยวางว่างเฉย จนหมึกของเราแห้งเหือดไป
เอิ้ก เอิ้ก
"ใจสั่งมา"
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « การหยุดเดิน คือการถอยหลัง เพราะโ...
- ใหม่กว่า » [3] กาแฟซอง...คอกาแฟมือใหม่ แต่ค...
28 กรกฎาคม 2558 20:03
#103517
หมึกเริ่มหมด ตามวันเวลาของอายุ ฮา
ส่วนว่าเกลือหวาน เกลือเค็ม เราไม้รู้
เรารู้ว่าเกลือ มันมี"ดี"ด้วย 555