ความเห็น: 2
ร้อยเรียงเรื่องราว รองศาสตราจารย์ ดร.สุรไกร เพิ่มคำ (2)
ตอน ภาระหน้าที่
![]() |
ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ (รศ.ดร.อรัญ งามผ่องใส) “ อาจารย์เป็นต้นแบบของการสอน สอนได้ละเอียด ใส่ใจในรายละเอียดเรื่องการสอนทุกอย่างชัดเจน สอนด้วยความตั้งใจ เรียนแล้วเข้าใจหมด คุณสุระพงศ์ สายบุญ หนึ่งในทีมสัมภาษณ์ ได้พูดสนับสนุนสิ่งที่ รศ. ดร. อรัญ งามผ่องใสพูดถึง “ Lab กีฏวิทยา อาจารย์ต้องทำเอง แมลงจะจัดเป็นกล่องๆ ทุกกล่องจะเหมือนกันหมด สอนละเอียด พูดชัด ฟังชัด “
อยากจะให้อาจารย์เล่าเทคนิคการสอนเพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดให้กับอาจารย์รุ่นใหม่ๆ |
เทคนิคการสอน
เนื่องด้วยผมได้เรียนทางด้านการศึกษามาก่อน เรียนจิตวิทยา และจิตวิทยาพัฒนาการ เรียนรู้วิธีสอน การนำเข้าสู่บทเรียน กระบวนการเรียนรู้ ได้พยายามเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง เช่น จำชื่อนักศึกษาให้ได้เพื่อจะสร้างความสำคัญให้กับเขา จากรุ่นแรกปี พ.ศ. 2526 มีเพียง 8 คน จนถึงรุ่นปัจจุบันมี 63 คน ผมจำชื่อได้หมด โดยพยายามจดจำหน้าตาและชื่อเล่นจากรูปที่ภาควิชาเตรียมให้ การจำชื่อเด็กได้ เด็กจะถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา อาจารย์จะเรียกชื่อเรารึเปล่า (เป็นกลยุทธ์ที่กำศึกในห้องได้)
ให้ความสำคัญกับวิชาปฏิบัติการ ซึ่งเป็นวิชาที่ผ่านแล้วผ่านเลย ต้องให้ความสำคัญมากๆ เด็กได้สัมผัสของจริง ได้เรียนรู้สิ่งที่ถูกต้อง เป็นความรู้ต่อเนื่อง เหมือนผ้าขาวเมื่อได้สัมผัสอะไรก็จะติดไป ตามไปแก้ไขยาก ดังนั้นทุกครั้งที่มี Lab. จะให้เวลาในการเตรียมค่อนข้างมาก เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด สิ่งเหล่านี้ผมก็ได้รับต้นแบบที่ดีมาสมัยไปเรียนระดับปริญญาเอกที่ University of Queensland, Australia ก็จดจำนำมาทำต่อ
งานวิจัย
ผมมาบรรจุที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ สมัยอาจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน เป็นคณบดี อาจารย์บอก ” การทำวิจัยอย่านั่งเทียน ให้ออกไปข้างนอกดูว่าชาวบ้านพบปัญหาอะไร แล้วเอาปัญหาตรงนั้นกลับมาทำวิจัย ซึ่งผลวิจัยที่ได้เป็นการแก้ปัญหาให้เขา” การถูกปลูกฝังมาแบบนี้เลยรู้สึกสนุกที่จะออกไปนอกพื้นที่ตามหาโจทย์วิจัย
![]()
|
ปี 2526-2527 งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาชุมชนใน จ.นราธิวาสเมื่อหนอนชอนเปลือกลองกองระบาดหนัก |
ปี 2528 ต้อนรับ รมว.มหาดไทย (พลเอก สิทธิ์ จิรโรจน์) ตรวจราชการฟังบรรยายด้วงงวงผักตบชวา งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาชุมชนและมีผลการควบคุมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน |
![]() |
ปี 2543 งานวิจัยผีเสื้อถุงทองเพื่อการอนุรักษ์
งานวิจัยที่ภูมิใจ
แมลงวันผลไม้ในหน่อไม้ จากการวิจัยทำให้ทราบว่าศัตรูของหน่อไม้ไผ่ตงนอกเหนือจากด้วงแมลงปีกแข็งแล้ว ก็ยังมีแมลงวันผลไม้อีกถึง 14 ชนิดเข้าไปทำลายหน่อไผ่อ่อน
แมลงในป่าชายเลน จากการวิจัยพบว่าแมลงวันผลไม้ Euphranta signatifacies ไปทำลายผลของแสมดำ (Avicennia officinalis) กินใบเลี้ยงคู่ (Cotyledon) ทำให้ต้นกล้าไม่สมบูรณ์หมดโอกาสขยายพันธุ์
บริการวิชาการ
เราโชคดีที่ภาควิชาการจัดการศัตรูพืช เน้นเรื่องแมลง โรคพืช แมลงทำลายสารพัดและหลากหลายวิธี เราจึงเป็นแหล่งวิชาการที่มีคนรู้จัก มีคนมาหาเรามากมายเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหา รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชนขอยกตัวอย่างสัก 3-4 เรื่อง
ข่าแดง
ชาวบ้านได้เล่าให้ฟังว่ารายได้ทั้งหมดที่ใช้ในการเลี้ยงครอบครัวส่งลูกเรียน มาจากการปลูกข่าแดง เมื่อเก็บผลผลิต 50 กก. คัดแล้วเหลือเพียง 10 กก. ที่เหลือเป็นอะไรไม่รู้ รูเล็กๆ เต็มไปหมด ทุกหน่อเป็นหมด ถ้าเป็นอย่างนี้ไปตลอดคงแย่ คงขาดรายได้ที่จะไปเลี้ยงครอบครัว
ผมและทีมงานภาควิชาได้ลงพื้นที่ เมื่อสำรวจดูแล้ว ได้แนะนำชาวบ้านเอามะพร้าวแก่ๆ ผ่าครึ่งเสร็จแล้วไปฝังกลบดินไว้ในบริเวณที่ปลูกข่าแดง ปรากฏว่าพบเสี้ยนดิน ซึ่งเป็นตัวทำลายข่าแดง
แมลงวันวางไข่ในถังซอสมะเขือเทศ
บริษัทปลากระป๋องยี่ห้อหนึ่ง มาขอปรึกษาปัญหา บอกพบหนอนแมลงวันลาย (flesh flies) ปนเปื้อนในถังซอสมะเขือเทศ ทั้งๆ ที่สร้างโรงเรือนปิดมิดชิด เมื่อไปดุสภาพพื้นที่จริงแล้ว ด้วยความที่เป็นนักกีฏวิทยา ก็พบว่าเมื่อเปิดประตูก็จะมีแมลงวันเล็ดลอดเข้าไปพร้อมกับคน แล้ววางไข่บริเวณฝาปิด เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนวัยแรกเล็กมากๆ ก็จะไชผ่านรู/ช่องเล็กๆ ลงไปสู่ถังซอสมะเขือเทศ องค์ประกอบสำคัญของการผลิต
วิธีแก้ไข บุผนังห้องเก็บด้วยมุ้งลวดตาถี่ เพื่อกันแมลงวันเล็ดลอดเข้าไปสร้างความเสียหาย
แมลงปนเปื้อนในถุงมือทางการแพทย์
บริษัทในเครือศรีตรังมาขอปรึกษาปัญหา พบแมลงปนเปื้อนในถุงมือแพทย์ ทั้งๆ ที่ผ่านQC แล้วก็ตรวจไม่เจอ เมื่อส่งสินค้าไปต่างประเทศแล้วสินค้าถูกตีกลับทั้งหมด เพราะสุ่มตรวจพบว่ามีแมลงปนเปื้อนติดบนเนื้อถุงมือเหล่านั้น
ผมและทีมงานของภาควิชาได้ลงพื้นที่จริงดูกระบวนการผลิต ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง พบว่า แมลงในนาข้าวรอบๆโรงงานเคลื่อนตัวเข้าหาแสงไฟที่สว่างมากในเวลากลางคืน จึงได้ให้ข้อเสนอแนะแก่บริษัทติดมุ้งลวดให้มีความถี่เพิ่มขึ้น และติดตั้งแสง ultraviolet ซึ่งสว่างกว่าหลอดไฟทั่วไปติดล่อแมลงใกล้ๆ line ผลิต ซึ่งทั้ง 2 วิธีร่วมกันนี้ลดการปนเปื้อนได้อย่างถาวร
ชิ้นส่วนแมลงปนเปื้อนในอาหาร
เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ จ. ภูเก็ต ตำรวจในเครื่องแบบได้ขับรถจากภูเก็ต นำกล่องใส่อาหาร ปิดทับด้วยเทปกาวอย่างแน่นหนา ที่มีผู้ (ฝรั่ง)ไปแจ้งความ มีร้านอาหารชื่อดังขายอาหารปนเปื้อนไม่สะอาดสำหรับเยาวชนมีหนวดแมลงติดอยู่ในอาหาร ซึ่งเรื่องแบบนี้ฝรั่งเขาให้ความสำคัญมาก เมื่อตำรวจมาถึงภาควิชาพร้อมกับกล้องถ่ายวิดีโอ บอกขอบันทึกทุกขั้นตอนที่ตรวจพิสูจน์ ก่อนนำอาหารที่บอกว่ามีหนวดแมลงปนเปื้อนไปตรวจได้อธิบายบอกกับตำรวจผู้นำถุงตัวอย่างอาหารปนเปื้อนมาให้ตรวจสอบว่า หนวดแมลงจะต้องมีลักษณะเป็นปล้องๆ เมื่อนำไปส่องกล้องแล้วเป็นเส้นธรรมดา ผลการศึกษาไม่ได้เป็นชิ้นส่วนส่วนใดส่วนหนึ่งของแมลง แท้จริงแล้วคือรากฝอยของมันฝรั่งที่ปอกเปลือกไม่หมดจึงค้างเป็นเส้นสีน้ำตาลเนื่องจากการทอดด้วยไฟแรง งานนี้ ร้านอาหารชื่อดัง เลยรอดตัวไป
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ร้อยเรียงเรื่องราว รองศาสตราจารย...
- ใหม่กว่า » ร้อยเรียงเรื่องราว รองศาสตราจารย...
10 มิถุนายน 2558 16:36
#103177
ได้ประโยชน์มากครับ