ความเห็น: 2
มหาวิทยาลัย Kagawa"Akkharawit Kanjana-Opas"
รายงานจาก: Kita-gun, Kagawa Prefecture, ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อวานนี้คณะของเราใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่ที่คณะเกษตร มหาวิทยาลัย Kagawa ซึ่งมีอายุกว่า 100 ปีและเป็น 1 ในสถาบันที่ฝึกอบรมเกษตรกรแห่งแรกๆของญี่ปุ่น เจริญก้าว...หน้ามาเป็นลำดับและมีชื่อเสียงโด่งดังมากจากผลงานวิจัยหลายๆเรื่องที่ผมจะยกตัวอย่างจากการที่เราได้ไปศึกษาดูงานมา ในปัจจุบันมีคณาจารย์ทั้งสิ้น 64 คน และมีนศ.ปริญญาตรี 600 คน (รับปีละ 150 คน) มีหลักสูตรปริญญาโท เอก และหลักสูตรฝึกอบรม (โดยเฉพาะทางด้าน Food Safety ที่มีขื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ทำให้คนที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรนี้เกือบ 100% ได้รับการจองตัวเข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่น) การเปิดหลักสูตรปริญญาเอกก็น่าสนใจครับ เพราะเค้าร่วมมือกันระหว่าง 3 มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทางด้านเกษตรคือ มหาวิทยาลัย Kagawa, Kochi และ Ehime ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาเอกด้วยกัน นับว่าเป็นการรวมพลังและ share resources ที่น่าสนใจในการจัดการศึกษาครับ จำนวนนศ.ต่างชาติในหลักสูตรปริญญาโทและเอกนั้นคิดเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวน นศ.ทั้งหมด และประเทศไทยของเรานั้นก็เป็นประเทศที่มี นศ.มาเรียนมากที่สุดถึง 22 คนในปีนี้ ทิ้งห่างประเทศอันดับสองอย่างอินโดเนเซีย (14 คน) ครับ
สาขางานวิจัยของคณะเกษตรก็จะมีหลากหลายตั้งแต่ การผลิตอาหาร พืชสวน (การปรับปรุงพันธุ์พืช) วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและนิเวศน์วิทยา เคมีชีววิทยาโมเลกุล พืชศาสตร์ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์การอาหาร โดยมีศูนย์วิจัยที่สำคัญๆ คือ ศูนย์วิจัยจีโนมพืชและทรัพยากร ศูนย์ชีวเคมีขั้นสูงและเคมีชีวภาพ ศูนย์ความปลอดภันอาหารและนิวทราซูทิคัล (ที่ Prof.Tamura เป็นหัวหน้าศูนย์) ศูนย์ทรัพยากรและเทคโนโลยีเกษตร แต่ที่ทำให้ คณะเกษตรและมหาวิทยาลัย Kagawa ดังไปทั่วโลกเห็นจะเป็นศูนย์วิจัยน้ำตาลหายาก (Rare Sugar Research Center) ครับ ศูนย์นี้เกิดจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลหายากซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharides) ที่มีอยู่ด้วยกันประมาณ 50 ชนิด เนื่องจากเป็นน้ำตาลที่หายากและไม่พบในธรรมชาติจึงมีราคาสูงมากและมีประโยชน์มากในทางอาหาร การแพทย์ และเภสัชกรรม เช่นเป็นสารต้านเบาหวาน สารต้านโรคอ้วน สารต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง เป็นต้น
งานวิจัยทางด้านน้ำตาลหายากที่ Kagawa University เกิดจากการค้นพบของ Prof. Izumori เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วที่พบว่าสามารถใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพคือใช้เอนไซม์ที่พบจากจุลินทรีย์ในดินนั้นเปลี่ยนน้ำตาลฟรุคโตสธรรมดาๆ ให้กลายเป็นน้ำตาลหายากเช่น D-Psicose เราโชคดีมากที่ได้พบกับ Prof.Izumori ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันนั้นท่านจะมีอายุ 70 กว่าปัีแล้วแต่ยังมาทำงานที่ศูนย์วิจัยนี้และเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับการวิจัยดังกล่าว โดยผมได้เรียนถามท่านว่า อะไรเป็นจุดที่ทำให้ท่านจับงานวิจัยเรื่อง Rare sugar เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ท่านหันมายิ้มและตอบว่า ผมถามคำถามที่สำคัญมาก ท่านจะขอเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ท่าจบปริญญาเอกมาจาก Osaka University และมาเป็นอาจารย์ที่ Kagawa University ใหม่นั้น ท่านยังไม่รูจะทำงานวิจัยอะไรดีที่จะไม่ซ้ำซ้อนกับงานที่มีอาจารย์ผู้ใหญ่ทำอยู่ก่อนแล้ว ในยุคนั้น (ประมาณปี คศ. 1960) งานวิจัยสำคัญๆ ก็มีจะมีเรื่องของ DNA (หลังจากที่ Watson & Crick ค้นพบโครงสร้างของ DNA ด้วยเทคนิค X-ray ในปี คศ. 1953 และต่อมางานดังกล่าวก็ได้รางวัลโนเบลไปนะครับ) และงานวิจัยทางด้านโปรตีน เรื่องของน้ำตาลนั้นทำกันมายาวนานมากและน้ำตาลทุกชนิดในโลกก็มีการศึกษาโดยละเอียดแล้ว โดยเฉพาะผลงานของ Prof. Fischer ที่รายงานโครงสร้างโมเลกุลน้ำตาลต่างๆ ท่านก็มาคิดว่าจะทำอะไรดีจนมาถึงจุดที่เป็นเรื่องของ Rare sugar ที่ยังไม่มีคนศึกษามากนักเพราะหาตัวอย่างน้ำตาลในธรรมชาติไม่ได้ ด้วยความท่ี่ท่านเป็นนักจุลชีววิทยาท่านก็สามารถแยกและคัดเลือก รวมทั้งเพาะเลี้ยงแบคทีเรียจนได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมที่ผลิตเอนไซม์ในการเปลี่ยนโมเลกุลของน้ำตาลทั่วๆไปให้กลายเป็นน้ำตาลหายาก (คนที่เรียนทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพจะรู้ว่ากระบวนการนี้คือ Bioconversion นั่นเอง) สุดยอดมากครับ จากนั้นท่านก็อาศัยความรู้ทางด้านเอนไซม์วิทยาในการวิจัยเพื่อแสดงให้เห้นถึง pathway การเปลี่ยนน้ำตาลต่างๆ ในธรรมชาติที่พบทั่วไปให้กลายเป็นน้ำตาลหายากแต่ละชนิดทั้งหมดได้ และทำออกมาเป็นแผนภูมิที่รู้จักกันไปทั่วโลกในชื่อว่า Izumoring Process
ที่น่าสนใจอีกประเด็นคือท่านได้ทดลองแยกแบคทีเรียจากแหล่งต่างๆมากมายทั้งในและต่างประเทศ แต่พบว่าแบคทีเรียที่ดีที่สุดในการผลิตเอนไซม์เพื่อเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็น้ำตาลหายากนั้นกลับมาจากดินบริเวณคณะเกษตรของมหาวิทยาลัย Kagawa เอง จนมีการสร้างเป็น landmark เอาไว้เลยครับ นี่ก็เป็นเรื่องการหยิบเบี้ยใกล้ตัวมาทำให้เกิดมูลค่า
งานวิจัยของท่านยังไม่ได้หยุดเท่านั้น ท่านได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการตั้งโรงานผลิตน้ำตาลหายากขึ้นในคณะเกษตร มหาวิทยาลัย Kagawa และได้เปิดให้เราได้เยี่ยมชมและอธิบายถึงกระบวนการผลิตโดยละเอียด โดยเริ่มตั้งแต่การหมักจุลินทรีย์ที่แยกได้เพื่อผลิตเอนไซม์จากนั้นก็ทำให้เซลล์แตกเพื่อเอาเอนไซม์ออกมาตรึง (immobilized) แล้วผสมกับน้ำตาลฟรุคโตสจากนั้นก็จะให้เอนไซม์ทำปฎิกริยาประมาณ 24 ชม. ในการเปลี่ยน้ำตาลฟรุคโตสไปเป็นน้ำตาลหายาก (แล้วแต่เอนไซม์ที่เติมลงไปนะครับ)แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้ยังอยู่ในรูปสารผสมของน้ำตาลหายากและน้ำตาลตั้งต้นอยู่ (เอนไซม์ยังไม่เปลี่ยนสารตั้งต้นทั้งหมด 100% เพราะเข้าสู่ภาวะสมดุลก่อน) จากนั้นก็นำไปแยกออกจากกันโดยกระบวนการทางโครมาโตกราฟี และทำให้น้ำตาลหายากนั้นเข้มข้นขึ้น ก่่อนไปตกผลึกซ้ำให้ได้ความบริสุทธิ์สูงขึ้น และทำให้อยู่ในรูปผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเช่น ในรูปของน้ำเชือม เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานต่อไป เราประทับใจกับการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปีและการสนับสนุนที่เป็นระบบมาก และได้ข้อคิดว่าการหาโจทย์วืจัยนั้น แม้ว่าจะเป็นสาขาที่มีคนทำมาก่อนหน้านี้แล้วจนแทบจะไม่เหลืออะไรให้ทำอีกเช่นเรื่องน้ำตาล แต่หากได้นำเอาความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้และคิดโจทย์วิจัยที่สร้างสรรค์ก็ย่อมนำไปสู่การวิจัยที่สำเร็จได้ ปัจจุบันงานวิจัยทางด้าน Rare sugar ของที่นี่ยังดำเนินต่อไปและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผมขอติดเรื่องที่ 2 ที่เป็นลักษณะคล้ายกันคือหยิบงานที่ไม่คิดว่าจะมีใครทำอะไรได้อีกแล้วมาวิจัยจนนำไปสู่การค้นพบที่สำคัญของ Prof.Tamura ทางด้าน Flavor ไว้ในตอนต่อไปนะครับ
Other Posts By This Blogger
- Older « สวัสดีวันหยุด
- Newer » บันทึกการเดินทาง Akkharawit Kanj...
13 ธันวาคม 2560 10:07
#107962
น่าสนใจมากเลยค่ะ