ความเห็น: 0
เก็บเกี่ยวจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ. ครั้งที่ 4
ช่วงหยุดสุดสัปดาห์นี้เป็นวันหยุดยาวของพวกเราได้มีโอกาสกลับบ้าน พักผ่อนกันตามอัธยาศัย สำหรับดิฉันมิได้กลับบ้าน นั่งเคลียร์งาน และออกข้อสอบอยู่ที่คณะ จึงถือโอกาสนี้นำเรื่องที่เก็บเกี่ยวได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ. ครั้งที่ 4 มาเล่าสู่กันฟังค่ะ ขออภัยที่นำมาเล่าล่าช้าไปนิด สืบเนื่องเพราะต้องเคลียร์ภารกิจที่ติดค้างอยู่
ดิฉันเองไม่เคยมีโอกาสเข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ. เลย ทำให้นึกภาพไม่ออกในครั้งแรก และมีคำถามอยู่ในใจ (ไม่ได้บอกใคร) หลายคำถาม เช่น ทำไมเราต้องเดินทางไปกันไกลถึง มข., ประโยชน์ที่ได้คืออะไร, เขาเดินทางไปทำอะไรกัน จะได้ประโยชน์จริงจังไหมและสุดท้ายจะคุ้มไหม
กลับจากการแลกเปลี่ยนทำให้อยากเล่าให้ทุกท่านฟัง เพราะหายค้างคาใจ อีกทั้งเห็นความมุ่งมั่นเพื่อที่จะบริหารความรู้ และการขับเคลื่อนไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ผู้บริหารและทีมงานของ มข. มีความจริงใจและเต็มใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยไม่มีการปิดบังข้อมูล
ดิฉันเดินทางตั้งแต่เช้าสุดของวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2555 เพื่อเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการระหว่าง มข.-ม.อ. ก่อนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 1 วัน นำทีมโดย รองอธิการฯ ศ.อมรรัตน์พร้อมด้วยทีมงานอีกเกือบสิบชีวิต ท่านอธิการบดีและรองอธิการฯ พิชิต เข้าร่วมด้วย สิ่งที่ได้จากการประชุมกลุ่มย่อยนี้คือ มข. มุ่งมั่นในการขอตำแหน่งทางวิชาการ มีกฎระเบียบบังคับในการขอตำแหน่งทางวิชาการ อาจารย์ของ มข. ยื่นขอตำแหน่งฯ เดือนละไม่ต่ำกว่า 10 คน การยื่นขอตำแหน่ง ผศ. เร็วที่สุดใช้เวลา 3 เดือน ค่าตอบแทนของผู้ทรงฯ สูงกว่าเรามากทีเดียว ปัจจุบัน มข. มีศาสตราจารย์เกือบ 50 ท่าน อยู่ระหว่างโปรดเกล้าฯ 4 ท่าน พวกเราเก็บเกี่ยวเทคนิคดีๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับ ม.อ.ต่อไป
ส่วนวันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ได้มีการแบ่งกลุ่ม 6 กลุ่มในเบื้องต้น และสุดท้ายเพิ่มเป็น 7 กลุ่มคือ กลุ่ม TQF โดยดิฉันเลือกเข้าร่วมแลกเปลี่ยนในกลุ่มที่ 6 การบริหารพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับความรู้มากมาย สามารถสรุปได้ดังนี้
1) มข. ทำสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย จนถึงอายุ 60 ปี
2) มข. ให้เงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่ง อาจารย์ วุฒิ ปริญญาเอก 28,500 บาท พร้อมเงินเพิ่มเติมอีก 5,000 บาท ทุกเดือนเป็นเวลา 7 ปี จนกว่าจะได้ ผศ.
3) อาจารย์ของ มข. ทุกคนมีแผนการพัฒนาตนเองชัดเจน จากการทำ TOR
4) อาจารย์ ป.เอก ต้องได้ ผศ. ภายในเวลา 7 ปี และหลังจากได้ ผศ. แล้ว 9 ปี ต้องได้ รศ. หากทำไม่ได้เลิกจ้าง แต่หากได้ รศ. แล้ว จะไม่มีการเลิกจ้าง
5) มข. ให้ทุนสนับสนุนในการแต่งตำรา 50,000 บาท และส่งเสริมให้มีการแต่งตำราในรูปแบบ e-book
6) เงินประจำตำแหน่งได้คูณสองเหมือนข้าราชการ
7) สำหรับอาจารย์ ป. โท ต้องเรียนต่อ ป.เอก ภายใน 3 ปี อาจารย์ ป.ตรี ต้องเรียนต่อ ป.โท ภายใน 2 ปี หากทำไม่ได้ มข. เลิกจ้าง
8) มข. มีระบบการให้โบนัสแก่พนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายอาจารย์และสายสนับสนุน ซึ่งนอกเหนือจากการขึ้นเงินเดือนปกติ โดยสายอาจารย์โบนัสสูงสุด 9% สายสนับสนุนสูงสุด 6% พิจารณาจากผลงาน บทความตีพิมพ์
9) การบริหารอัตราพนักงานมหาวิทยาลัยของ มข. จะบริหารภายใต้การใช้อัตราที่ต่ำกว่าอัตราที่ได้ประมาณ 200 อัตรา ทำให้มีเงินเหลือในการบริหารจัดการ
10) พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน หากผลการประเมินผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าระดับพอใช้ติดต่อกัน 2 รอบการประเมิน ทาง มข. จะเลิกจ้าง
ดิฉันเองชื่นชมท่านอธิการฯ ม.อ. ท่านเลือกที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในกลุ่มที่ 6 การบริหารพนักงานมหาวิทยาลัย นั่นเท่ากับอีกไม่นานพวกเราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการบริหารพนักงานมหาวิทยาลัยของ ม.อ. อย่างแน่นอน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ดิฉันได้รับจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อีกทั้งดิฉันได้พูดคุยกับอาจารย์ที่ไปร่วมในกลุ่มอื่น ได้ข้อสรุปว่า รอบนี้มีการแลกเปลี่ยนอย่างจริงจัง และทางผู้บริหารของ มอ. ก็ได้รับประโยชน์อย่างมากค่ะ
ขอบคุณผู้บริหาร อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมข. ทุกท่านที่ดูแลคณะของม.อ. เป็นอย่างดี รวมถึงการไปทัศนศึกษาที่เวียดนามด้วยค่ะ
ปีหน้าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ. ครั้งที่ 5 จะจัดขึ้นที่ ม.อ. เราคงต้องรีบพัฒนาและปรับปรุงองค์กรของเรา เพื่อได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ มข. กันต่อไปค่ะ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « เทศกาลถือศีลกินเจ ปีนี้ที่หาดใหญ่
- ใหม่กว่า » โครงการออกกำลังกายด้วยยาง คณะวิศ...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้