ความเห็น: 7
วิธีเลือกไข่ ☺☺☺ จากเมนูรักเชฟมือใหม่
ดึก ๆ ถ่างตาดูซีรีย์ไต้หวัน เรื่องเมนูรักเชฟมือใหม่ ดูเรื่องนี้ทีไรเป็นต้อง อยาก ๆๆๆ อยากกิน โอย จงสงบ ๆ .. วันนี้มีตอนที่อาจารย์ตัวเฟิง สอนวิธีเลือกไข่ ☺☺☺ให้ไป่ฮุ่ย กลัวลืมเลยเอามาลงบันทึกซะเลย มีทั้งที่เรารู้มาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วบางเรื่องเพิ่งรู้ก็มี
- ไข่สดเปลือกจะไม่เรียบ อายุไข่ยิ่งนาน เปลือกไข่จะยิ่งบางลงเพราะเปลือกไข่มีส่วนประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งสามารถสลายตัวได้ นานวันเปลือกจึงยิ่งบางลง
- วิธีเลือกไข่ที่มีปริมาณไข่แดงมาก ๆ ให้เลือกไข่ที่มีลักษณะกลม ซึ่งไข่ที่มีลักษณะรีจะมีไข่ขาวมากกว่าไข่ลักษณะกลม (อันนี้เพิ่งรู้แฮะ และเป็นการจุดประกายให้เขียนบันทึกเรื่องไข่ในครั้งนี้)
- จับไข่เขย่า ๆ ถ้ารู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของเนื้อไข่ภายในฟองมาก แสดงว่าไข่เก่า ไข่ใหม่ต้องมีการเคลื่อนไหวน้อย(ฟองอากาศน้อย)
- ส่องไข่กับแสงดู ไข่ที่เห็นฟองอากาศมากจะเป็นไข่เก่ากว่าไข่ที่มีฟองอากาศน้อย
ไหน ๆ ก็เอาเลือกไข่มาฝาก เลยหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บ มารวมเป็นความรู้เรื่องไข่ ๆ กันซะเลย (ขอขอบคุณข้อมูลจาก yyswim และ ศูนย์ธรรมชาติบำบัดบัลวี มีข้อมูลบางส่วนเหมือนกัน ขออนุญาตตัดบางข้อความ แล้วเอามารวม ๆ กันนะคะ)
1. เลือกไข่ดูที่เปลือก ควรเลือกเปลือกไข่ที่มีนวลคล้ายฝุ่นแป้ง หุ้มอยู่โดยรอบ จับแล้วสากมือ ไม่ลื่น เพราะเป็นสภาพคล้ายกับ ไข่ที่เพิ่งออกมาจากแม่ไก่ใหม่ ๆ หากเปลือกไข่ลื่น แสดงว่าเป็นไข่เก่า
ควรเลือกไข่ที่เปลือกผิวสะอาดดีกว่าผิวสกปรก เพราะเปื้อนดิน เปื้อนมูลไก่ และเลือกไข่ที่เปลือกไม่มีรอยแตกร้าว เพราะแสดงว่าเป็นไข่ที่ออกมาจากไก่ โดยที่สารอาหารภายในยังไม่ซึมออกมา หรือยังไม่ถูกปนเปื้อนจากภายนอก
ไข่ที่ยังสด หากส่องไข่ทั้งฟองดูกับแสงแดด จะมีลักษณะโปร่งแสง สีออกแดงเล็กน้อย เพราะสีของไข่แดงมีการกระจายตัว แต่หากไข่แดงเริ่มมีเงาดำคล้ำ แสดงว่าเป็นไข่เก่า
ปกติ เปลือกไข่ไก่จะมีหลายสี เช่น สีขาว สีครีม สีน้ำตาล สีของเปลือกไข่จะเลือกสีอะไรก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของแม่ไก่ และอาหารที่แม่ไก่กิน(อีกเว็บบอกว่า เปลือกไข่ควรจะเป็นสีนวลอ่อน ๆ ไม่ควรเป็นสีเข้มมาก ๆ)
2. เลือกไข่ดูที่น้ำหนัก ดีกว่า ดูที่ขนาดของฟอง
เพราะไข่ไก่ที่ขนาดฟองใหญ่ จะมีไข่แดงใหญ่กว่าไข่ที่มีขนาดเล็ก เพียงเล็กน้อย แต่ที่ฟองใหญ่กว่าจะเป็นไข่ขาวเสียเป็นส่วนใหญ่ พูดง่าย ๆ ก็คือ ซื้อไข่ฟองใหญ่ราคาแพง เพื่อจะซื้อไข่ขาวเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ไข่ฟองเล็ก ๆ หน่อยจะดี เพราะเป็นไข่จากแม่ไก่สาวมีสุขภาพดี กำลังให้ไข่
ควรเลือกไข่ที่มีน้ำหนัก ดีกว่าเลือกไข่ที่มีน้ำหนักเบา เพราะไข่ที่มีน้ำหนัก แปลว่าไข่ยังสด ยังมีสารอาหารเต็มที่ภายในฟอง ความชื้นและสารอาหารยังไม่หายไป
หากจะทดสอบโดยการแช่น้ำ ไข่สดจะจมน้ำ ไข่เก่าจะลอยอยู่ใต้ผิวน้ำ แต่ไข่ที่เสียจะลอยอยู่เหนือน้ำ
หากจะทดสอบโดยการเขย่าดูเนื้อใน ไข่สดเมื่อเขย่าดู เนื้อในจะไม่คลอน ภายในจะแน่น และมีน้ำหนัก ถ้าเนื้อในของไข่คลอน แสดงว่าเป็นไข่เก่า
3. เลือกไข่ดูที่ไข่แดง (ถ้าแม่ค้าตอกไข่ให้ดู) ไข่แดงของไข่ไก่ที่ดีจะมีสีเหลืองนวล ๆ เพราะเป็นไข่จากไก่ที่กินอาหารประเภทข้าวโพด กากถั่วเหลือง ปลาป่น ไข่แดงของไข่ไก่ประเภทที่สีส้มสดมาก ๆ ไม่ควรเลือกซื้อ เพราะผู้เลี้ยงใส่สารสี คือ คลอโรฟิลด์เรดในอาหารไก่ เพื่อให้ไข่แดงออกมาเป็นสีส้มสด ๆ
ไข่แดงที่ดี ควรจะมีลักษณะกลม นูน ส่วนไข่ขาวที่ดีควรจะข้นเกาะตัวกัน
วิธีเก็บไข่ไก่ ………
1. เมื่อไก่ออกไข่มาใหม่ ๆ บนเปลือกไข่จะมีนวลคล้ายฝุ่นแป้ง หุ้มอยู่โดยรอบ ฝุ่นแป้งนี้จะช่วยปิดรูพรุนเล็ก ๆ ที่อยู่โดยรอบเปลือกไข่ ซึ่งตาเรามองไม่เห็น ทำให้เชื้อโรคหรือกลิ่นต่าง ๆ ซึมผ่านเข้าไปในฟองไข่ไม่ได้
ฉะนั้น เมื่อซื้อไข่มา จึงไม่ควรล้างไข่ เพราะจะทำให้ฝุ่นแป้งหลุดออกไป เป็นการเปิดรูพรุนทำให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปได้
แต่หากเห็นว่าเปลือกไข่สกปรกมาก และต้องการเช็ดทำความสะอาดก่อนนำไปเก็บ ก็อาจใช้ผ้านุ่มหรือฟองน้ำ ชุบน้ำธรรมดาบิดหมาด เช็ด แล้วรีบเช็ดแห้ง จากนั้นอาจทาน้ำมันพืชเพียงบางๆโดยรอบเปลือกไข่ เพื่อปิดรูพรุนไม่ให้อากาศเข้า และน้ำในไข่ไม่ระเหยออกมา เพื่อไข่จะได้ไม่เก่าเร็วเกินไป
2. คนที่ชอบดูหนังสือตกแต่งบ้าน อาจจะเคยเห็นไข่วางอยู่ในตะกร้า วางไว้ที่มุมนั้นมุมนี้ของครัว ดูแล้วก็สวยงามดี จึงคิดจะทำตามบ้าง ขอบอกว่าถ้าไม่ได้ตั้งใจจะโชว์ไข่ หรือจะถ่ายรูปไข่ การวางไข่ไว้ในตะกร้าอย่างนี้ ไม่ควรทำ
เพราะไข่ที่เก็บไว้ ณ อุณหภูมิห้อง ภายในเวลา 1 วันจะสูญเสียความสดไป เท่ากับไข่ที่เก็บไว้ในตู้เย็นเป็นเวลาถึง 1 สัปดาห์ ทีเดียว
(รู้ไว้ใช่ว่า : ฟาร์มใหญ่ ๆ เมื่อเขาเก็บไข่ไก่มาจากฟาร์ม เขาจะเก็บไข่ไก่ ไว้ในห้องเย็น อุณหภูมิห้อง 18.3 องศาC สำหรับห้องในบ้านที่เปิดแอร์ อุณหภูมิจะอยู่ประมาณ 25 องศาC จึงมีความเย็นไม่พอจะเก็บไข่ไก่ครับ ส่วนการฟักไข่เป็นลูกไก่นั้น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 21 วัน ฟาร์มใหญ่ๆเขาจะใช้อุณหภูมิของตู้ฟัก 37.7 องศาC)
และแม้ว่าจะเก็บไข่ไว้ในตู้เย็นที่บ้านแล้ว แต่ก็ควรนำไข่ฟองเก่าในตู้เย็น มาปรุงเป็นอาหารก่อนไข่ฟองใหม่ที่เพิ่งซื้อมา ปกติไข่ที่เก็บในตู้เย็น ควรจะรับประทานให้หมดภายใน 30 วัน ถ้าเก็บนานกว่า 30 วัน ไข่จะด้อยคุณภาพลง
3. การจัดวางไข่ ควรวางอย่างระมัดระวังและเบามือ ในช่องวางไข่ในตู้เย็น ให้วางเอาด้านแหลมลงในแต่ละช่อง ให้ด้านป้านหงายขึ้น
เพราะไข่แดงซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าไข่ขาว จะลอยขึ้นบริเวณด้านป้าน บริเวณช่องอากาศว่างภายในไข่ และไม่ไปกระทบกับเปลือกไข่ ถ้าวางไข่โดยนำส่วนด้านป้านคว่ำลง เมื่อไข่แดงลอยขึ้น ไข่แดงจะติดกับเปลือกไข่ ฉะนั้นเวลาต่อยไข่จะทำให้ไข่แดงแตกง่าย
4. หากฟองไข่เกิดร้าวหรือแตก ขณะจัดเก็บไข่ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ต้องการจะใช้ไข่ปรุงอาหารหรือทำธุระอย่างอื่น
ควรต่อยไข่เก็บไว้ในภาชนะแล้วปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ในตู้เย็น ไม่ควรทิ้งไข่ค้างไว้ในฟองไข่ที่ร้าวหรือแตก หรือใส่ไข่ไว้ในถ้วยที่ไม่มีฝาปิด เพราะจะทำให้เชื้อโรคซึมผ่านเข้าไปในไข่ได้ และความชื้นจะระเหยออกไป
การจัดเก็บไข่ในที่ปิดมิดชิดจะสามารถเก็บไข่แดงไข่ขาว ไว้ได้นาน 2 - 3 วัน แต่ถ้าแยกไข่ขาวออกจากไข่แดงเสียก่อน เฉพาะไข่ขาวจะเก็บไว้ได้นานราว 8 - 10 วันทีเดียว
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ยืดเส้นยืดสายคลายเมื่อย ฉบับการ์...
- ใหม่กว่า » รำตะบองชีวจิต กับกลุ่ม "ไหวตัวทั...
ความเห็น
![]() |
![]() |
ขอบคุณมากคับ
ผมได้รู้ว่าไข่เก่าเป็นอย่างไร
ไข่ใหม่เป็นอย่างไรขอบคุณมากครับ
แอดมาหาผมด้วยนะ
เพื่อจะได้ถามอะไรเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
ขอบคุณทุกท่านที่สนใจค่ะ
@วิทยาศาสตร์ : add ไม่ได้อ่ะค่ะไม่มีเบอร์เมลติดต่อของคุณวิทยาศาสตร์ ถ้าไงส่งเมลมาคุยกันได้ค่ะ
07 ธันวาคม 2551 09:50
#38935