ความเห็น: 13
ตอนที่ 16 แหล่งอาหารจานร้อนของชาว ม.อ.ในอดีต
(โดย วัชรินทร์ พุทธพรไพสิฐ ก.ย. 2551) แนะนำกันก่อน
ปี พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นปีที่ผมมาถึงมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกนั้น คาเฟทีเรียของเราเป็นอาคารหลังโดดๆ โรงอาหารสำหรับนักศึกษากับอาจารย์เป็นที่เดียวกัน อีกทั้งอาจารย์ส่วนใหญ่ก็เพิ่งสำเร็จการศึกษามาทำให้หน้าตาดูละอ่อน แยกไม่ออกว่าท่านใดเป็นอาจารย์และใครเป็นนักศึกษา เวลาจะรับประทานอาหารก็จะเข้าไปหยิบถาดหลุม แล้วเข้าคิวเรียงแถวเข้าไปเลือกอาหารให้พนักงานขายตักใส่ถาดหลุมโดยเสมอภาคกัน แล้วก็ตักข้าวสวยฟรีตามความต้องการของแต่ละคน ถาดหลุมที่ใช้นั้นเป็นถาดสะเตนเลสอย่างดี เป็นมันแวววาวสะอาด ไม่มีร่องรอยเปื้อนดำ แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ของบุคลากรผู้รับผิดชอบด้านโภชนาการและโรงอาหาร เช่นเดียวกับช้อนส้อมก็เป็นช้อนสะเตนเลสสวยงาม ราคาอาหารนั้นดูเหมือนว่ากับข้าวจะอยู่ในราคาอย่างละ 1.50 บาท(หนึ่งบาทห้าสิบสตางค์)
อาหารเช้านั้นจะมีทั้งข้าวต้มเครื่อง โจ๊ก ข้าวผัดชนิดต่างๆหมุนเวียนกันไป ส่วนอาหารกลางวันและอาหารเย็นนั้นจะเป็นข้าวสวยพร้อมกับข้าวชนิดต่างๆ ให้เลือกได้สารพัด มีขนมไทยประเภทแกงบวด ลอดช่องจำหน่ายด้วย ตอนเช้าเพื่อนนักศึกษาจะทยอยกันมารับประทาน แล้วเดินไปยังอาคารเรียนตามอัธยาศัยของการตื่นนอนเช้าสายที่แตกต่างกัน สำหรับตอนกลางวันซึ่งนักศึกษาออกจากห้องเรียนเวลาเที่ยง และจะต้องเข้าเรียนตอนบ่ายโมงจะทำให้ต้องต่อแถวยาวเหยียด แต่ก็รับประทานกันทัน มื้อเย็นนั้นผู้ใช้บริการจะมารับประทานอาหารตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น.เป็นต้นไปจนถึงเวลา19.00 น. สำหรับน้ำดื่มนั้นเป็นน้ำสะอาดใส่ถังสะเตนเลสตั้งไว้ 2 ถังใหญ่ ผู้รับประทานอาหารสามารถรินน้ำใส่ถ้วยสะเตนเลสได้ตามความต้องการเช่นกัน
ในยุคนั้นยังมีการก่อสร้างอาคารเรียนต่างๆ เพิ่มเติม ครอบครัวคนงานที่มีเพิงพักไม่ไกลจากตึกเรียนบางครอบครัวจึงทำอาหารประเภทข้าวราดแกงจำหน่ายนักศึกษาที่ขี้เกียจเดินมารับประทานอาหารที่คาเฟทีเรีย มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทั้งนี้น่าจะเกิดจากสาเหตุว่า ถึงแม้อาหารจะดีถูกต้องตามหลักโภชนาการ แต่ถ้ารับประทานอาหารที่มีรสชาติเดิมๆ อยู่บ่อยครั้ง ความเบื่อก็เกิดขึ้นได้ อาหารกลางวันจากร้านครอบครัวคนงานก่อสร้างจึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ต่อมาบริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ห่างจากหอพักชายปีก A (หอพักที่เก่าแก่ที่สุด) มาประมาณ 100 เมตร มีแม่ค้ามาตั้งเพิงเล็กๆ ขายส้มตำไก่ย่าง หมูย่าง ร้านนี้ได้รับความนิยมจากพวกเราไม่น้อยเหมือนกัน ส้มตำมีทั้งส้มตำไทย ส้มตำปู มีข้าวเหนียวนึ่ง ซุบหน่อไม้ ข้างเคียงกับร้านส้มตำมีคุณยายท่านหนึ่งเอาผลไม้บ้านๆ มาวางขายให้พวกเราช่วยกันอุดหนุน เช่นมะม่วงแก้ว จำปาดะ ฝรั่ง เป็นต้น
สำหรับตอนเย็นนั้นนักศึกษาส่วนหนึ่งจะนั่งรถตุ๊กๆ ซึ่งมีคิวรถอยู่หน้าหอพักปีก A เข้าเมืองหาดใหญ่ไปหาอาหารรับประทานกัน แหล่งที่เป็นที่นิยมที่สุดได้แก่ หน้าโรงภาพยนตร์โอเดียน มีก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ รสชาติถูกปากพวกเรา และที่สำคัญคือน้ำเต้าหู้น้องภา ดูเหมือนว่าผู้ขายก๋วยเตี๋ยว บะหมี่หมูนั้นเป็นพี่สาว ส่วนน้องภาขายน้ำเต้าหู้ร้านอยู่ติดๆ กัน น้องภาเป็นเด็กสาวหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส พูดเก่งจึงเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้พวกเราเข้าไปใช้บริการจนดูเหมือนว่าลูกค้าจาก ม.อ.จะเป็นลูกค้าหลัก ข้างๆ โรงภาพยนตร์โอเดียนนี้มีร้านหนังสือใหญ่ชื่อร้านแพร่พิทยา มีหนังสือประเภทสารคดี หนังสือนวนิยาย หนังสือกำลังภายใน และหนังสือเริงรมย์แน่นร้านแทบทุกประเภท ยกเว้นหนังสือทางวิชาการระดับมหาวิทยาลัยซึ่งอาจมีอยู่บ้างแต่น้อยมาก เป็นร้านที่คอหนังสือเข้าไปซื้อหาหนังสืออ่านก่อน หรือหลังแวะเวียนเข้าไปอุดหนุนน้องภา อีกร้านหนึ่งได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าซึ่งจะมีก้านคะน้าปอกเปลือกแช่น้ำแข็งไว้มาวางให้ผู้ที่สั่งซื้อราดหน้ารับประทาน แต่ถ้าใครออกมาดึกหน่อยก็ต้องร้านข้าวต้มนายยาวที่เวลาเก็บเงินค่าอาหารจะคิดเงินเป็นสตางค์ เวลาเขาบอกราคาว่า “หนึ่งหมื่นสองพันห้าร้อย” หมายถึงหนึ่งหมื่นสองพันห้าร้อยสตางค์คือหนึ่งร้อยยี่สิบห้าบาท
พี่ไกรธีระ กิตติศรีไสว(วศ.2) เล่าให้ผมฟังว่าพี่รุ่น 2 มีความสนิทสนมกันมากและมีการคบหาสมาคมออกไปภายนอกกว้างขวาง เป็นที่รู้จักของหน่วยงานราชการที่ติดต่อกันเป็นประจำ อย่างเวลาที่ทางบ้านส่งธนาณัติมาให้ใครคนใดคนหนึ่งในรุ่น 2 ถ้าพี่ในรุ่นมาติดต่อส่งจดหมายลงทะเบียนหรือโทรเลขที่ที่ทำการไปรษณีย์แล้ว พบว่ามีธนาณัติมาถึง เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จะให้เบิกเงินมาเลยโดยไม่ต้องรอให้ส่งใบแจ้งธนาณัติไปที่คณะก่อน ถ้าพี่รุ่น 2 ออกมาพร้อมกันหลายคนหลังจากรับเงินธนาณัติของพี่ในรุ่นเสร็จ ก็จะไปนั่งรับประทานอาหารกันแล้วโทรศัพท์ไปที่คณะหรือหอพักตามให้เจ้าของเงินธนาณัติออกมารับประทานด้วยพร้อมเป็นเจ้ามือเลี้ยงอาหารมื้อนั้น มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปโดยเสมอภาคในรุ่น 2 จนกลายเป็นเรื่องปกติ
ร้านอาหารร้านหนึ่งที่บริเวณแหลมสน ชายหาดสมิหลา ในอำเภอเมืองจังหวัดสงขลานั้น เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ชาว ม.อ.ไปอุดหนุนในวันหยุด ชื่อว่าร้านลุง ป้า มีอาหารทะเลจำหน่าย เจ้าของเป็นข้าราชการบำนาญ เปิดร้านขายอาหารเพื่อคลายความเบื่อที่ต้องอยู่เฉยๆ บรรยากาศของร้านค่อนข้างสงบ อยู่บริเวณหัวมุมติดกับเขื่อนริมทะเลสาบสงขลา ต้นสนสูงใหญ่รายรอบ มีลานหญ้าธรรมชาติให้เอาเสื่อ(สาด)มาปู่นั่งนอนเล่นพักผ่อนหย่อนใจได้ บริเวณร้านของลุงป้านั้นเก้าอี้ที่ใช้เป็นเก้าอี้ผ้าใบ มีร่มคันใหญ่ปักให้ร่มเวลาแดดร้อน บางเสาร์ลุงจะเอานกเหยี่ยวทะเลที่เลี้ยงไว้ใส่กรงมาแขวนเพื่อสะดวกในการดูแลที่ร้านด้วย อาหารที่อร่อยที่สุดของร้านคือปลากระบอกทอด นอกจากนั้นเป็นอาหารทะเลเผาและอาหารตามสั่งอื่นๆ เมื่อประมาณปี 2525 ผมเคยไปนั่งรับประทานอาหารที่นี่พบว่าลุงกับป้าแก่ไปมาก ผมเคยหิ้วลูกเหยี่ยวทะเลตัวหนึ่งจากร้านลุงป้าใส่กรงไปฝากรุ่นพี่ ม.อ.ที่ชอบเลี้ยงนกที่ กทม. พี่เขาชอบใจมากเพราะนกเหยี่ยวตัวนี้มีความสง่างาม กรงเล็บแข็งแกร่ง ลำตัวบึกบึนเมื่อเติบใหญ่ขึ้นจะเป็นนกที่สวยงาม แต่ที่สุดพี่เขาต้องเอาเหยี่ยวไปให้ผู้อื่นต่อ เพราะเมื่อนกเหยี่ยวตัวนี้เข้าไปอยู่ในสวนบ้านพี่ซึ่งมีนกแก้ว นกเขา และนกอื่นๆอยู่นั้นเจ้าเหยี่ยวตัวนี้จะร่าเริงส่งเสียงกึกก้องอยู่ตัวเดียว แต่นกตัวอื่นทุกประเภทจะหยุดส่งเสียงอันไพเราะไปหมด คงจะเป็นเพราะสัญชาตญาณของสัตว์เล็กที่เกรงกลัวสัตว์ล่าเนื้อที่ตัวใหญ่กว่า
อย่างไรก็ตามร้านค้าอาหารบริเวณชายหาดสมิหลาที่มีอยู่หลายร้านนั้นก็เป็นที่น่านั่งรับประทานสำหรับผู้ที่ชื่นชอบพบปะแลเห็นผู้คนสัญจรไปมา อีกร้านหนึ่งอยู่ในตัวเมืองสงขลามีลูกชิ้นปลาทั้งที่เป็นแบบลูกเต๋าและแบบกลมๆ จำหน่ายราคาไม่แพงและอร่อยถูกปากถูกใจทั้งพวกเราและผู้บริโภคที่ไม่ใช่ชาว ม.อ.
สำหรับเพื่อนนักศึกษาที่ทางบ้านให้เงินมาใช้มากหน่อยอาจจะใช้บริการร้านอาหารหรูหราในเมืองเป็นครั้งคราวหรือในโอกาสฉลองวันเกิดเพื่อน(แฟน) หรือในโอกาสนัดเลี้ยงพบปะกันในรุ่นของนักศึกษาเริ่มต้นตอนปีแรกที่มาถึงใหม่ๆ ก็ต้องที่โรงแรมสุคนธา ต่อมานานๆ เข้ามีการสร้างโรงแรมโฆสิต มีห้องอาหารชื่อบุหงา ตั้งอยู่ชั้นใต้ดินของโรงแรม มีเพื่อนๆ นักศึกษาไปใช้บริการบ่อยครั้ง ต่อมาเมื่อมีการสร้างโรงแรมโนราขึ้นมา มีพวกเราบางส่วนก็ไปใช้บริการเป็นครั้งคราว แต่ผมจำชื้อห้องอาหารในโรงแรมไม่ได้ ร้านอาหารอีกร้านหนึ่งที่พวกเราไปรับประทานกันบ่อยได้แก่ร้านโตนงาช้าง ถ้าจำไม่ผิดอยู่หลังธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่
อย่างไรก็ตามคาเฟทีเรียยังเป็นร้านอาหารหลักของชาว ม.อ.ตลอดมา โดยเฉพาะมื้อกลางวันและมื้อเย็น ที่น่าชื่นชมคือ แม้จะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ กลับไม่มีสุนัขหรือแมวมาอยู่ป้วนเปี้ยนให้เห็นเหมือนกับโรงอาหารในที่อื่นๆ ทั้งนี้ผมให้เครดิตเรื่องนี้กับผู้ดูแลคาเฟทีเรียในการจัดเก็บเศษอาหารอย่างเรียบร้อยไม่มีการทิ้งเอาไว้ให้เป็นปัญหาจนสุนัขหรือแมวเข้าไปคุ้ยค้นได้ สำหรับสุนัขที่เฉียดเข้ามาใกล้คาเฟทีเรียนั้นจะเป็นสุนัขที่หลงมาจากที่อื่นแล้วนักศึกษาชอบใจเลยพาเข้าไปนอนในหอพักด้วย เวลารับประทานอาหารจะตามนักศึกษามาแถวคาเฟทีเรียแล้วนักศึกษาจะเอาเศษอาหารมาให้รับประทานข้างนอก ตอนกลางปี 2517 มีสุนัขสีดำอกขาวพันธุ์ทางตัวหนึ่งสวยมากหลงมาจากไหนไม่ทราบ ผมเห็นเข้าเลยพยายามตีสนิทด้วยการเรียกชื่อสุนัขตัวนี้ว่าแบล็กบ้าง วิกกี้บ้าง เจ้าหมาตัวนี้ก็ไม่สนใจ พยายามนึกชื่อสุนัขแล้วเรียก ก็ยังเฉยๆ มีเพื่อนนักศึกษาคนอื่นมาช่วยเรียกชื่ออีกหลายชื่อ จนกระทั่งถูกเรียกว่า “โบโบ้” เจ้าสุนัขตัวนี้กระดิกหางแล้วเข้ามาหา เจ้าโบโบ้เลยกลายเป็นสุนัขที่ติดตามพวกเราไปทั่ว แล้วก็เลยเข้าไปในห้องพักในหอพักปีก A ชั้นสอง ซึ่งนักศึกษากลุ่มหนึ่งมักจะจับกลุ่มดูดกัญชารับประทานขนมหวานประมาณบ่ายสองโมงแทบจะทุกวัน พอถึงเวลาประมาณบ่ายสองโมงเจ้าโบโบ้จะไปที่ห้องนี้ทุกวัน ผมเชื่อในสัจธรรมที่ว่า “สิ่งที่ถูกย่อมจะเข้าแทนที่สิ่งที่ผิด ความคิดที่ถูกต้องจะต้องเข้าแทนที่ความคิดที่เฉไฉนอกทาง” ถึงวันหนึ่งเพื่อนนักศึกษากลุ่มนี้เห็นว่าการเสพกัญชาใช้ชีวิตเสรีแบบไร้ขอบเขตไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง พวกเขาหักดิบเลิกการเสพกัญชาหันมาสนใจกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมาอยู่แถวหน้าของการเสียสละตนเองเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น กิจกรรมดูดกัญชากินขนมหวานถูกยกเลิกในทันที เพื่อนๆ เล่าว่าวันที่เลิกดูดกัญชานั้น จิ้งจกที่อยู่บนเพดานแล้วได้กลิ่นกัญชาเป็นประจำพอไม่มีกลิ่นกัญชาเลยหมดแรงตกลงมาบนพื้น เจ้าโบโบ้เดินโซเซมาตกลำรางระบายน้ำหน้าคาเฟทีเรีย
กาลเวลาผ่านไป อาหารสำหรับบริการนักศึกษาซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยคงกลายเป็นปัญหา เพราะมหาวิทยาลัยต้องแบกภาระเรื่องบุคลากรจำนวนมากในการดูแล ถ้าเป็นสมัยปัจจุบันก็ต้องอธิบายในเชิงที่ว่าองค์กรต้องมุ่งเน้นดำเนินการในด้านธุรกิจหลักก่อน ส่วนธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ก็กระจายไปให้ผู้อื่นดำเนินการ ในที่สุดจึงให้เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกแล้วเข้ามาขายอาหารเป็นร้านๆ แล้วต่อมาเมื่อมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นจึงมีการสร้างคาเฟทีเรียขึ้นมาอีกหนึ่งโรงติดกัน มีประตูทะลุถึงกันและกันได้ นอกจากนี้เวลากลางคืนยังมีรถเข็นเข้ามาขายก๋วยเตี๋ยวหน้าคาเฟทีเรียสำหรับผู้อยากรับประทานอาหารกลางคืนหรืออาหารรอบดึกด้วย บริเวณที่ขายส้มตำข้างหอชายปีก A เยื้องกับหอหญิงมีผู้เข้ามาขายอาหารมากขึ้นเช่นกัน ต่อมามีนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 1 คนหนึ่งในปี 2518 ได้เจรจาขออนุญาตมหาวิทยาลัยตั้งร้านขายอาหารเป็นทางการบริเวณนี้ น้องคนนี้เป็นคนปักษ์ใต้ผิวคล้ำความสูงปานกลาง ลำกายหนาแต่ไม่ถึงกับอ้วน ที่สุดเลยมีโรงขายอาหารหลังคามุงแฝก ใครๆ เห็นก็บอกว่าเหมือนโรงเลี้ยงช้างเกิดขึ้นเลยเรียกกันว่าโรงช้างติดปากกันมา เมื่อกลางปี 2551 ผมมีโอกาสมาเยือน ม.อ.ของเรา แล้วได้นอนพักค้างคืนที่หอ 5 เวลาเดินผ่านเข้าออกเห็นว่าโรงช้างยังมีอยู่ แต่รูปลักษณ์ถูกพัฒนาจนทันสมัยและกลายเป็นแหล่งอาหารใหญ่โตไปแล้ว
ตอนต่อไป ...ตอนที่ 17
ตอนอื่นๆ ดูที่ สารบัญ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ตอนที่ 15 งานศิลปะ วัฒนธรรมและบั...
ความเห็น
อืม!..... โรงช้างอย่างนี้นี่เอง
เขียนได้อรรถรส...จังเห็นเมือง ม.อ. เห็นหาดใหญ่เห็นเลยไปถึงแหลม สมิหลา...
ขอบคุณที่มีเรื่องเหล่านี้ให้อ่าน...
![]() |
...ต่อมามีนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 1 คนหนึ่งในปี 2518 ได้เจรจาขออนุญาตมหาวิทยาลัยตั้งร้านขายอาหารเป็นทางการบริเวณนี้ น้องคนนี้เป็นคนปักษ์ใต้ผิวคล้ำความสูงปานกลาง ลำกายหนาแต่ไม่ถึงกับอ้วน...
ผมสอบถาม ผศ.สมเกียรติ นาคกุล (รุ่น 9) เพื่อนรุ่นเดียวกันแล้ว เขาชื่อ อนันต์ เจริญมูลครับ
.... ที่สุดเลยมีโรงขายอาหารหลังคามุงแฝก ใครๆ เห็นก็บอกว่าเหมือนโรงเลี้ยงช้างเกิดขึ้นเลยเรียกกันว่าโรงช้างติดปากกันมา ....
ตรงนี้ยังต้องสะสางนิดนึง
เพราะโรง.. ที่ว่าเป็นลักษณะสร้างเสาด้วยไม้ซุงทั้งต้นสูงประมาณ 8-10 เมตร มีเหลือตกค้างอยู่ตั้งแต่เริ่มสร้างมหาวิทยาลัย และเป็นที่อาศัยของม้าเทศอีกตัวหนึ่งเช่นกันที่ตกค้าง คือปล่อยให้อยู่อิสระ
ตอนนี้อนุมานได้ว่า โรงช้าง มีอยู่ก่อน แต่คำเรียกคงประมาณ ปี 2518 หรือก่อนเล็กน้อย
ส่วนการขายอาหารเป็นเพิงเล็กเพิงน้อยเริ่มเกิดขึ้นตอนนั้นจริง
![]() |
ขออนุญาตเพิ่มเติมเรื่องร้านอาหาร...ร้านก๋วยเตี๋ยวราดหน้าซึ่งในสมัยนั้นราคาจานละ 3 บาท ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็ขึ้นราคาเป็น 5 บาท จะมีผักคะน้าแช่น้ำแข็งเย็นเจี๊ยบแถมให้...ตั้งอยู่บริเวณหัวถนนสาย3 เยื้องโรงหนังเฉลิมไทยและตลาดกิมหยง...ร้านนี้มีบทบาทต่อปากท้องของชาวหอ ม.อ.อยู่ระยะหนึ่งคือ เมื่อใกล้สอบนักศึกษาส่วนใหญ่จะเฝ้าหออ่านหนังสือเตรียมสอบทำให้การค้าร้านก๋วยเตี๋ยวไม่ดีเหมือนเดิม...."ไอ้อ้วน"ลูกชายเจ้าของร้านซึ่งรับบาทดูแลร้านเกิดปิ๊งไอเดียอย่างแรง..จึงเหมารถสองแถวม.อ.นำเอาก๋วยเตี๋ยวราดหน้าและผัดซีอิ๊วมาครั้งละประมาณ 300 ห่อมาที่หอตอนดึกแล้วเดินเคาะตามห้องขายห่อละ5บาท และเมือถึงตอนท้ายเริ่มขายไม่ออกเหลือไม่กี่ห่อ..เจ้าอ้วนก็เดินเร่ขายโดยลดราคาเหลือห่อละ 3 บาท หลายๆคนก็ได้ช่วงชิงโอกาสนี้กินของถูกรวมทั้งผมด้วย....ภายหลังคนเริ่มเบื่อกิจกรรมนี้จึงหายไปในที่สุด
![]() |
มาถึงรุ่นผมปี22 รุ่น 13 หลังพี่หั่น 1 ปี โรงช้างยังดีอยู่ ข้าวไข่เจียว 4 บาทครับ ร้านค้าเริ่มมีต่อจากโรงช้างไปอีกหลายร้าน ยังมีแหล่งจานร้อนเพิ่มหลังตึกฟิสิกส์ อีกแห่ง จำชื่อร้านได้ร้านเดียวชื่อร้านเทียมจันทร์ ^_^
ภาพโรงช้าง ก่อนสร้างเป็นโรงอาหาร ประมาณนี้ครับ แต่เดิมที่ที่อาศัยของม้าเทศ ยุคสำรวจและก่อสร้างมหาวิทยาลัย โดยเจ้าของไม่ได้นำกลับออกไป จะมีพี่แม็ค วศ.๔ และ หยอย วศ.๖ ที่หาญกล้า ขึ้นไปควบเล่นได้ คงมีแค่สองคนนี้นี่แหละครับ
ดัดแปลงภาพจาก วีออสลุยเดี่ยว
![]() |
ขออนุญาตเพิ่มเติมในส่วนของโรงช้าง...
บริเวณที่ตั้งโรงช้างเคยมีร้านข้าวแกงหลังคามุงจากซึ่งขายโดยภรรยาของรปภ.คนหนึ่ง...ถ้าจำไม่ผิดพวกเราเรียกแกว่า "ป้าเนื่อง" ร้านข้าวแกงนี้เป็นที่พึ่งยามยากของชาวหอที่เงินหมดก่อนสิ้นเดือน...พวกเราที่ยอบแยบตอนใกล้สิ้นเดือนก็จะมาเซ็นกินกันในสมุดปกแข็งเล่มหนึ่ง...และก็นำเงินมาชำระหนี้เมื่อมีเงิน...ปรากฎว่ามีเพื่อนผมบางคนตอนนี้ยังเป็นหนี้ "ป้าเนื่อง" อยู่ (ฮา......) อาหารร้านนี้แม้จะไม่มีให้เลือกมาก...แต่ก็มีรสชาติดีไม่น้อย..แถมในระยะหลังเริ่มมีการทำไก่ทอดรสดีราคาถูกออกมาขาย...เลยเป็นร้านทางเลือก(นอกจากคาเฟทีเรียที่อาหารซ้ำๆจนคนเบื่อ)...เมื่อผมกลับมาทำงานที่หาดใหญ่เคยเข้ามาแวะเวียนดูก็ไม่มีร่องรอยใดๆเหลืออยู่แล้ว
22 กุมภาพันธ์ 2552 16:00
#41433
ว้าว...ที่เรียกว่า "โรงช้าง" เพราะงี้นี่เอง
ขอบคุณอาจารย์มากครับ ^_^