ความเห็น: 4
ปัตตานี ถิ่นเกลือหวาน: เกลือหวานจริงๆ หรือ ??? (1)
"ปัตตานี ถิ่นเกลือหวาน" เป็นวลีที่ตนเองได้ยินมานานแล้ว ตั้งแต่มาอาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานีแรกๆ แต่มิได้สนใจใคร่รู้ไปมากกว่าที่ได้ยินมา
อันที่จริง ก็ไม่มีใครในปัตตานีที่สนใจเรื่องนี้เท่าไหร่นะ....จนมาถึงวันนี้
ปีนี้อำเภอเมืองปัตตานีได้สะกิดเรื่องราวที่เล่าขานมาเนิ่นนาน ว่าปัตตานีบ้านเรา มีของดีเป็นเกลือ เพราะเรามีนาเกลือมากในอดีต แม้ปัจจุบันลดลงไปเยอะ แต่ทุกวันนี้ก็ยังคงมีพื้นนาเกลืออยู่อีกหลายแสนไร่ ทำนาเกลือกันอยู่ แต่คนทำนารุ่นนี้กำลังจะเป็นรุ่นสุดท้าย หากราคาเกลือปัตตานียังคงตกต่ำแบบนี้....
ในอดีต เกลือปัตตานี ส่งขายทั่วภาคใต้ แข่งได้กับเกลือเพชรบุรี หรือแถบสมุทรสาคร สมุทรปราการ โดยที่เค้าว่าเกลือปัตตานีของเรา เป็นเกลือหวาน....
จากการที่ได้คุยกับทางปลัดอำเภอปัตตานี ที่นำตัวอย่างเกลือมาตรวจวิเคราะห์ เค้าว่า ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมานานแล้ว ว่าปัตตานีของเรามีน้ำทะเลที่เป็นแหล่งผลิตเกลือมาจากอ่าวปัตตานี ซึ่งมีแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรีถ่ายน้ำจืดลงสู่ทะเลในเวิ้งอ่าว ทำให้น้ำทะเลที่ใช้ทำนาเกลือบ้านเรา มันเค็มน้อยกว่าทางตอนบน เลยเป็นที่มาของความเค็มที่น้อยกว่า อนุมาณว่าจะหวานกว่า
เรื่องน้ำใครเค็มกว่า จืดกว่า เป็นเพียงคำบอกเล่า มิเคยมีใครได้วัดค่าความเค็ม หรือ ความหวานนี้จริงสักที ยืนยันได้จากนักวิจัยตัวแม่ คุณนราวดี (พี่เจี๊ยบ) แห่งสถาบันศึกษากัลยาฯ ที่บอกว่า น้ำทะเลเราจืดกว่า ส่วนใหญ่เป็นคำอธิบายของปู่ย่าตายาย และประวัติศาสตร์ในการอธิบายเรื่องเกลือหวาน ไม่เคยมีใครได้ใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาศึกษาแบบจริงจัง
อีกทั้ง แหล่งทำเกลือเพชรบุรี ก็มีลักษณะ เป็นเว้งอ่าวโค้งคล้ายอ่าวปัตตานี ถ้างั้น เกลือเพชรก็ต้องหวานเหมือนกันสิ....อันนี้คุณนราวดี ได้บอกไว้
มีโจทย์ให้ช่วยพิจารณาว่า...หากน้ำทะเลบ้านเรามีค่าความเค็มน้อยกว่าที่อื่นจริง เกลือเราจะเค็มน้อยกว่าหรือไม่ ในเมื่อการทำนาเกลือก็ต้องเอาน้ำทะเล มาระเหยให้น้ำออกไปและเกลือตกผลึก สุดท้ายจะได้เกลือเม็ดซึ่งคือ NaCl ที่ (เกือบ) บริสุทธิ์ ที่มีน้ำน้อยที่สุด...ปริมาณน้ำมีผลต่อความเค็มของเม็ดเกลือจริงหรือ ??
ช่วยตอบคำถามข้างบนไว้ในใจ ก่อนจะเลื่อนบรรทัดลงไปอ่านต่อครับ
.
.
.
.
.
จากผลการวิเคราะห์เกลือจังหวัดปัตตานี เปรียบเทียบ กับเกลือที่มาจากจังหวัดสมุทรฯ โดยไม่ได้ระบุว่ามาจากพื้นที่ใด ไม่ได้บอกช่วงที่เก็บเกี่ยว ประมาณว่า ซื้อมาจากตลาดของทั้ง 2 แห่ง พบว่ามีความเค็มต่างกัน มีปริมาณ NaCl ต่างกัน
เกลือปัตตานีมีค่า NaCl 92% ส่วนเกลือทางสมุทรฯ มี NaCl 89% (เป็นการวิเคราะห์เบื้องต้น โดยใช้เกลือที่ซื้อมาจากแหล่งในจังหวัดนั้นๆ ยังไม่ใช่ตัวแทนของทั้งจังหวัด)
ผลการวิเคราะห์นี้ ทำให้คำร่ำลือมาแต่โบราณ...สั่นคลอน เพราะเกลือปัตตานี ดันเค็มกว่าเกลือจากที่อื่น
ขอจบบันทึกนี้ไว้ก่อน ยังมีอีกตอนให้อ่านกัน ไม่อยากให้ยาวจนเกินไปครับ
คติประจำบันทึก: เราทำงาน ทำอาชีพ ทำหน้าที่อะไร ก็สมควรทำให้ดีที่สุด อย่าทำเพียงผ่านๆ หรือทำแบบธรรมดาๆ ในชีวิตมันต้องมีสักอย่างที่พิเศษบ้างแหละน่า ให้คนอื่นได้ทักได้ว่า...นี่มันไม่ใช่คนขับรถธรรมดาๆนะเนี้ย นี่มันไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ธรรมดาธรรมดานะเนี้ย นี่มันไม่ใช่อาจารย์ธรรมดาธรรมดาซะแล้ว นี่มันไม่ใช่แม่ธรรมดานะเนี้ย......นี่มันไม่ใช่นักเขียนบันทึกธรรมดาๆนะเนี้ย....
ส่วนคนธรรมดาอย่าไปทักเค้านะครับ เพราะท่านอาจใช้ชีวิตธรรมดา แต่การทำงานของท่านไม่ธรรมดาจริงๆ
เอิ้ก เอิ้ก
"ใจสั่งมา"
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ข้าวเหนียวปิ้งที่ถูกลืม
- ใหม่กว่า » วิธีช่วยจำชื่อคน...
ความเห็น
ได้คำตอบน่าสนใจครับ เกลือ NaCl ยิ่งบริสุทธิ์มากเท่าใดยิ่งหวานนะครับ เพราะปราศจาก impurities ที่สร้างความเค็มและขมก็เป็นได้ (ฮา) เดาเอาครับ
27 กรกฎาคม 2558 17:16
#103492
ก็ธรรมดาทุกอย่างนะครับ (ฮา) เกลือหวาน (sweet salt) ก็น่าสนใจนะครับ แบรนด์เสื้อผ้าดังเลยล่ะ