ความเห็น: 0
Effects ISO 26000 กับ CSR
CSR and ISO 26000 Effects!!!
มาตรฐานเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 Social Responsibility เป็น มาตรฐานการแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบของสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการตัดสิน ใจ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO) ได้เริ่มมีการพิจารณาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา และคาดว่าน่าจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2552
วัตถุประสงค์ของ ISO 26000 เพื่อ ให้บริษัท องค์กร หน่วยงาน และสถาบันทั่วโลก รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรได้เพิ่มความตระหนัก และสร้างความเข้าใจในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวจะเป็นข้อแนะนำ หลักการ และวิธีการของความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรพึงปฏิบัติโดยความสมัครใจ ทุกองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้โดยไม่ต้องมีการตรวจรับรอง
หลัก 7 ประการของ ISO 26000
- หลักการปฏิบัติตามกฎหมาย (Principle of Legal Compliance) องค์กรจะต้องมีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระดับชาติและระดับสากล ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ
- หลักการเคารพต่อแนวปฏิบัติระดับชาติหรือระดับสากล (Principle of Respect for Authoritative Inter-government Agreement or Internationally Recognized Instruments) รวมถึงสนธิสัญญาสากล คำสั่ง ประกาศ ข้อตกลง มติ และข้อชี้นำต่างๆ ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์กรสากลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนั้นๆ
- หลักการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Principle of Recognition of Stakeholders and Concerns) องค์กร ควรตระหนักถึงสิทธิและผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมขององค์กร เช่น นโยบาย ข้อเสนอ หรือการตัดสินใจต่างๆ ก็ตามที่จะส่งผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- หลักการแสดงความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ (Principle of Accountability) ในการดำเนินงานใดๆ ก็ตามขององค์กรต้องสามารถตรวจสอบได้จากภายนอก
- หลักการความโปร่งใส (Principle of Transparency) องค์กรควรเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างชัดแจ้ง
- หลักการความเคารพในสิทธิมนุษยชน (Principle of Respect of Fundamental Human Right) องค์กรควรดำเนินนโยบายและกิจกรรมที่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
- หลักการความเคารพในความหลากหลาย (Principle of Respect for Diversity) องค์กรควรจ้างพนักงาน โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว ความเชื่อ อายุ เพศ
ISO 26000 ได้กำหนดองค์ประกอบหลักของความรับผิดชอบไว้ 7 ประการ
- มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Organization Governance) คือ องค์การควรกำหนดหน้าที่ให้คณะกรรมการฝ่ายจัดการ ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถสอดส่องดูแลผลงานและการปฏิบัติงานองค์กรได้ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส พร้อมรับการตรวจสอบ และสามารถชี้แจงให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบถึงผลการปฏิบัติงานได้
- คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน (Human Right) ซึ่ง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยสิทธิดังกล่าวครอบคลุมถึงสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย
- ข้อปฏิบัติด้านแรงงาน (Labor Practices) องค์กรต้องตระหนักว่าแรงงานไม่ใช่สินค้า ดังนั้น แรงงานจึงไม่ควรถูกปฏิบัติเสมือนเป็นปัจจัยการผลิต
- การดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) องค์กร จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลักการป้องกันปัญหามลพิษการบริโภคอย่างยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในการดำเนินการผลิตและบริการ
- การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม (Fair Operating Practices) องค์กร ต่างๆ ควรแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมและเปิดกว้าง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการลดต้นทุนสินค้าและบริการ นวัตกรรมการพัฒนาสินค้าหรือกระบวนการใหม่ๆ รวมถึงจะช่วยขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจและมาตรฐานการครองชีพในระยะยาว
- ใส่ใจต่อผู้บริโภค (Consumer Issues) องค์กร จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลในการใช้สินค้าและบริการอย่าง เหมาะสม ทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานและสุขภาพของผู้บริโภค นอกจากนี้ เมื่อพบว่าสินค้าไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด องค์กรก็จะต้องมีกลไกในการเรียกคืนสินค้า พร้อมทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอีกด้วย
- การแบ่งปันสู่สังคมและชุมชน (Contribution to the Community and Society)
ในเบื้องต้นจะเห็นว่า เรื่อง CSR คงจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ISO 26000 ที่ อาจจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ ซึ่งเมื่อต้องนำมาปรับใช้ในองค์กรและมีผลในเชิงปฏิบัติจริงแล้ว คงต้องศึกษากันอย่างลึกซึ้ง และทำความเข้าใจกันในรายละเอียดยิ่งขึ้น
ในครั้งต่อไปผู้เขียนจะนำหัวข้อเกี่ยวกับ CSR ที่จำเป็นต้องรู้ หรือควรจะต้องรู้มาแบ่งปันกันอีก คอยติดตามหรือร่วมแสดงความคิดเห็น แชร์ความรู้ แลกเปลี่ยนระหว่างกันได้
ข้อมูลอ้างอิง:
- นิตยสารแบรนด์เอจฉบับเข้มข้นพิเศษ. (เมษายน 2552). Super CSR Series 4th
2009. “CSR Stage of Knowledge: Overview อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต”.
- บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ. (มีนาคม 2551). หนังสือ วิเคราะห์กฎหมายแรงงานกับ
การส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงาน “บทวิเคราะห์ แนวคิด ซีเอสอาร์ (CSR) ความ
รับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม. โรงพิมพ์ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน.
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « CSR ตามแนวทาง TQC ของศูนย์เครื่อ...
- ใหม่กว่า » สมาธิบำบัด
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้