อ่าน: 1023
ความเห็น: 0
โครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย (ESPReL)
ESPReL
โครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย (ESPReL)
ความเป็นมา
|
โครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทยเป็นโครงการที่เกิดจากการดำเนินงานตามพันธกิจของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เกิดมาตรฐานการดำเนินงานวิจัยในประเทศโดยการจัดทำและพัฒนามาตรฐานการวิจัยเฉพาะด้านในหลายๆ ด้าน เช่น มาตรฐานการวิจัยในคน มาตรฐานการวิจัยโดยใช้สัตว์ทดลอง และจริยธรรมในการดำเนินงานวิจัย สำหรับมาตรฐานห้องปฏิบัติการวิจัยนั้น วช.ให้ความสำคัญและมีนโยบายให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตผลงานที่มีคุณภาพขณะเดียวกับการทำให้เกิดความปลอดภัยกับนักวิจัยและสามารถรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานให้มีมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นและอาจใช้เป็นประโยชน์กับการบริหารการจัดสรรทุนวิจัยในอนาคตได้ด้วย
การดำเนินการโครงการนี้ เบื้องต้นได้มีการปรึกษาและสอบถามความเห็นของนักวิจัยจำนวนหนึ่งในหน่วยงานและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้ข้อคิดเห็นไปในแนวเดียวกันว่านักวิจัยไทยสามารถผลิตผลงานคุณภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถตีพิมพ์ในวารสารวิจัยที่มี impact factor สูง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการกำหนดข้อปฏิบัติหรือข้อบังคับด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ไม่มีกฏหมายหรือองค์กรเฉพาะที่ดูแลให้เกิดข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยให้กับนักวิจัยและผู้ปฏิบัติงาน ขาดกลไกการสร้างความตระหนักต่อความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ รอบตัว นอกจากนี้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตที่จะไปมีอาชีพวิจัยยังขาดตัวอย่างการปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมมือกับ วช. และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดประชุมหารือกับนักวิจัยจากหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการที่เข้าใจตรงกันและยอมรับได้จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้แนวทางในการดำเนินงานโดยกระบวนการวิจัยอย่างมีส่วนร่วม (ดังแผนภาพที่ 1) ด้วยการสร้างภาคีของหน่วยงานและห้องปฏิบัติการนำร่อง เพื่อร่วมมือกันรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลฐานความรู้ และจัดทำ “ ร่างแนวปฏิบัติห้องปฏิบัติการวิจัยที่ดี” มีการทดลองใช้ร่างแนวปฏิบัติฯ ทำการปรับแก้จนเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติได้ พร้อมทั้งผลักดันให้ได้เครื่องมือที่เป็นรูปธรรม คือ ห้องปฏิบัติการต้นแบบที่ดำเนินงานวิจัยโดยมีแนวปฏิบัติห้องปฏิบัติการวิจัยที่ดี และขับเคลื่อนให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการวิจัย

แผนภาพที่ 1 แนวคิดการพัฒนาห้องปฏิบัติการต้นแบบ
แนวคิดดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากห้องปฏิบัติการวิจัย ที่สนใจร่วมเป็นห้องปฏิบัติการนำร่อง 13 แห่ง ใน 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอโครงการต่อ วช. เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 และ วช. ได้เห็นชอบให้ศูนย์ความเป็นเลิศฯ เป็นที่ปรึกษาการดำเนินงานในระยะเวลา 1 ปี (31 พฤษภาคม 2554 - 31 พฤษภาคม 2555)
|
|
วัตถุประสงค์
|
เพื่อพัฒนาและเสนอแนวปฏิบัติในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
|
|
แผนดำเนินงาน
|
การดำเนินงานของโครงการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และได้ผลตามที่คาดหวัง คือ ต้องการยกระดับมาตรฐานของห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย จะมีการดำเนินงานเป็นแผน 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 สร้างภาคีห้องปฏิบัติการนำร่อง และพัฒนาแนวปฏิบัติฯ (ปีที่ 1)
ระยะที่ 2 ทดลองปฏิบัติในห้องปฏิบัติการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบ (ปีที่ 2)
ระยะที่ 3 สร้างกระบวนการขยายผลไปยังห้องปฏิบัติการวิจัยอื่นในประเทศ (ปีที่ 3-5)
|
|
ผลสำเร็จของโครงการ
|
มีห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย 5-10 แห่ง เป็นต้นแบบของห้องปฏิบัติการที่ดำเนินการตามแนวปฏิบัติฯ ด้านความปลอดภัยอย่างมีคุณภาพอิงหลักสากล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสามารถขยายผลการดำเนินงานไปยังห้องปฏิบัติการวิจัยของหน่วยงาน มหาวิทยาลัย ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศได้
|
|
อ้างอิง:http://esprel.labsafety.nrct.go.th/about.asp
สร้าง: 02 มกราคม 2560 08:04
แก้ไข: 02 มกราคม 2560 08:04
[
แจ้งไม่เหมาะสม ]
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้