ความเห็น: 0
การเงินของ SEC
เดือนนี้ SEC จ่ายโบนัสบุคลากรไปแล้ว (เฉพาะบุคลากรนะครับ ผู้บริหารระดับ ผอ. รอง ผอ. เราไม่จ่ายครับ) ก็มีคำถามว่าทำไม SEC สามารถทำได้
เพื่อให้มีความชัดเจน เราก็ต้องเข้าใจในประเด็นการเงิน หรือรายรับ-รายจ่าย ของ SEC ก่อนครับ
รายรับหรือเงินที่ SEC ได้รับในแต่ละปีมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ
1. เงินจากมหาวิทยาลัย ซึ่งสนับสนุนในหลายรายการคือ
1.1 เงินเดือนข้าราชการ
1.2 เงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย (รวม 1.1 และ 1.2 ประมาณ 12 ล้านบาท)
1.3 เงินค่าดำเนินการ ประมาณปีละ 1-2 ล้านบาท
1.4 ครุภัณฑ์
1.5 สนับสนุนอื่น ๆ
2. รายได้จากการให้บริการวิชาการ คือ
2.1 รายได้จากการวิเคราะห์ทดสอบ
2.2 รายได้จากการใช้เครื่องมือ
2.3 รายได้จากการซ่อม/สร้างเครื่องมือวิจัย
2.4 รายได้จากบริการการให้การอบรม
2.5 รายได้จากการสอบเทียบ
2.6 รายได้อื่น ๆ เช่น ขายน้ำกลั่น แก๊สไนโตรเจน
จากรายได้ที่มหาวิทยาลัยให้มาแต่ละปีนั้น (ประมาณ 14 ล้านบาท ไม่รวมครุภัณฑ์ซึ่งได้ไม่แน่นอน) จะเห็นได้ว่า ไม่ได้ให้ค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือฯ ไว้ด้วย ไม่รวมค่าสารเคมี เครื่องแก้ว ค่าแก๊ส และค่าดำเนินการของสำนักงานเลขานุการ เงินเดือนพนักงานเงินรายได้ และอื่น ๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะคากหมายว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ SEC จะต้องไปบริหารจัดการเอาเอง
โดยรายรับที่เป็นเงินรายได้ของ SEC นั้น SEC ต้องพึ่งตนเอง คือไม่มีรายได้แบบเหมาจ่ายต่อหัวนักศึกษาบัณฑิตศึกษามาให้ กล่าวคือหากไม่มีการวิเคราะห์ทดสอบเข้ามาก็ไม่มีรายได้ในส่วนนี้
ดังนั้นรายจ่ายที่ SEC ต้องรับผิดชอบเองก็คือ
1. เงินเดือนพนักงานเงินรายได้ ประมาณ 10 คน ทั้งปีก็ไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านบาท
2. ค่าแก๊สฮีเลียม ไนโตรเจน..... ไม่ต่ำกว่าปีละ 1.2 ล้านบาท
3. ค่าเครื่องแก้ว อุปกรณ์การวิเคราะห์ที่สิ้นเปลือง ประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี
4. ค่าสารเคมี ปีละ 1-2 ล้านบาท
5. ค่าซ่อมบำรุงรักษา ประมาณ 2-3 ล้านบาท/ปี
6. ค่าสาธารณูปโภค > 0.4 ล้านบาท/ปี
7. ค่าใช้จ่ายตามแผนเชิงกลยุทธ์ > 1 ล้านบาท/ปี
8. ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคลากรและโบนัส > 1.5 ล้านบาท/ปี
9. ครุภัณฑ์สำนักงาน และครุภัณฑ์วิจัยที่ไม่ได้รับจากเงินงบประมาณแต่จำเป็นต้องจัดซื้อ
ก็เป็นรายจ่ายประจำที่จะต้องหามาให้ได้ ซึ่งมีรายจ่ายที่ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท/ปี ซึ่งไม่มีแนวโน้มจะลดลงมีแต่จะเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อและการซ่อมแซมครุภัณฑ์ที่ชราภาพมากขึ้นตามลำดับ
ดังนั้น SEC จึงต้องวางแผนทางการเงินให้ดี เพราะไม่มีใคร support เราได้ในกรณีที่เงินเราขาดมือ ดังนั้นเราจึงติดตามผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิดทุกเดือน อย่างเช่น ในเดือนธันวาคมนี้ เราก็จะรู้ว่ารายรับเราลดลงอย่างแน่นอน
การบริหารการเงินของ SEC จึงต้องรัดกุม มีการจ้างพนักงานในจำนวนที่พอดี ที่พนักงานทุกคนจะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในฝ่ายบริการ(นักวิทยาศาสตร์) เราจะมีตัวเลขการให้บริการที่นักวิทย์แต่ละคนได้สร้างขึ้นมาให้ดูในทุก ๆ เดือน
ผลิตภาพ (Productivity) เป็นสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งสอดคล้องกับราคาการให้บริการ เช่นหากนักวิทยาศาสตร์ 1 คน สามารถให้บริการงาน XRD ได้เต็มที่ 4 ชิ้นงานต่อวัน ดังนั้นเราก็จะคำนวณต้นทุนการให้บริการจากเงินเดือนนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเงินเดือนฝ่ายสนับสนุนไปด้วย ต้องคำนวณค่าเสื่อมจากหลอด XRD ตามจำนวนชั่วโมงการใช้งาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นด้วย
ก็คงเป็นข้อมูลที่จะบอกได้ว่าการคิดค่าบริการของ SEC นั้นมีที่มาที่ไปครับ เรามีต้นทุนค่าแรงงานที่สูง เพราะใช้นักวิทยาศาสตร์คุณภาพ ไม่ได้ใช้บุคลากรที่ทำหน้าที่ใส่ตัวอย่างเท่านั้น แต่เราต้องมีการวิเคราะห์ผลที่ได้รับการ Train มาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ของเรายังต้องอธิบายหรือให้ความกระจ่างชัดเชิงวิชาการ (ถ้าทำได้) อีกด้วย ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น operator เท่านั้น
ผู้นำระดับสูง ก็มีหน้าที่ต้องจัดระบบการทำงาน/กระบวนการให้มีประสิทธิภาพ หาตลาดใหม่เพิ่ม หาช่องทางเพิ่มรายได้ หาทางลดค่าใช้จ่าย วางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อให้องค์กรอยู่อย่างยั่งยืน มองเห็นภัยคุกคามในอนาคต สื่อสารและบริหารงานบุคคล
จากการสำรวจ EMO-METER ตามคณะแพทย์ เราผมว่าประเด็นที่ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนก็ยังเป็นประเด็น "การสื่อสาร" อยู่ครับ
ผม..เอง (แมวสื่อสาร)
Other Posts By This Blogger
- Older « ธันวาพาฝัน(ร้าย)
- Newer » STI Thailand Award 2015
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้