ความเห็น: 0
Collapse: ความล่มสลายกับความอยู่รอด
การศึกษาสังคมที่ล่มสลายบ่งว่า อาจแยกได้เป็น 5 กลุ่มหลักคือ
1. การทำลายสิ่งแวดล้อม
2. การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
3. การมีศัตรูอยู่รอบด้าน
4. การพึ่งพาอาศัยและค้าขายกับผู้อื่น และ
5. วิธีแก้ปัญหา
การทำลายสิ่งแวดล้อมในอดีต แบ่งออกเป็น 8 ประเภทคือ
1. การทำลายป่า (ป่าในไทยถูกทำลายเกือบหมดแล้ว)
2. การทำลายดิน ( น้ำท่วมเกิดมากขึ้นในภาคใต้)
3. การล่าสัตว์ป่าจนหมด (ไทยไม่มีสัตว์ใหญ่ให้ล่าแล้ว แต่ยังสามารถเพาะเลี้ยงเองได้ดี)
4. การทำลายแหล่งน้ำ (แหล่งน้ำของไทยยังถูกทำลายอยู่อย่างต่อเนื่อง)
5. การจับปลาจนหมด (ปลาหมดทะเลไทยไปนานแล้ว ต้องไปหาแถวอินโดนีเซีย และพม่า บังคลาเทศมาแทนแล้ว)
6. การนำพืชและสัตว์เข้าไปในต่างถิ่น (เริ่มมีปัญหาให้เห็นบ้างแล้ว)
7. การเพิ่มจำนวนประชากรและประชากรแต่ละคนสร้างผลกระทบมากขึ้น
8. การทำลายที่อยู่อาศัย
การมีศัตรู เดิมทีมักจะเป็นการพ่ายแพ้ทางการทหาร แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นการพ่ายแพ้ทางเศรษฐกิจแทน เช่นการโดนโจมตีค่าเงินบาทกรณี"ต้มยำกุ้ง" จะเห็นได้ว่า ต่างประเทศจ้องจะหาผลประโยชน์จากประเทศที่อ่อนแอกว่าเสมอ
การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็มีแนวทางต่างกันไป สังคมไทยก็เผชิญกับปัญหาที่ร้ายแรงมากในขณะนี้ โดย "สังคมที่มีวิธีแก้ปัญหาเหมาะสมจะอยู่รอด ส่วนสังคมที่ทำไม่ได้ย่อมล่มสลายไปในที่สุด" ชนชาวไทยดูจะยังไม่รู้ตัวในภัยของประชานิยมที่เกิดขึ้น นโยบายเงินกู้ยืม 1 ล้านบาท 1 ตำบล ถูกลืมไปหมดแล้ว คนไทยยังอยากได้ปลาฟรี ๆ มากกว่าการเรียนรู้วิธีจับปลาที่มีประสิทธิภาพ อบต. อบจ. ยังใช้เงินอย่างไร้ประสิทธิภาพในการพัฒนา (ขอสร้างนโยบายประชานิยมไว้ก่อน) corruption ระบาดในทุกระดับและถูกตะแบงโดยนักวิชาการรุ่นใหม่ว่าเป็น commission เพื่อให้งานเดินได้เร็วขึ้น
ชาวไวกิ้งเดินเรือจากยุโรปตอนเหนือไปตั้งอาณานิคมบนเกาะกรีนแลนด์ แต่ก็ต้องล่มสลายเพราะดูแคลนชาวเอสกิโมซึ่งใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกว่า (การล่าปลาวาฬและใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของปลาวาฬ) โดยชาวไวกิ้งไม่ยอมปรับเปลี่ยนและต้องล่มสลายไป
อาณาจักรมายา เจริญก้าวหน้าในตอนใต้ของเม็กซิโก แข่งกันสร้างอนุสาวรีย์ ทำลายสิ่งแวดล้อม จนขาดแคลนอาหาร เกิดการต่อสู้กันในระหว่างชนชั้น จนต้องอพยพออกจากพื้นที่และล่มสลายในที่สุด
เกาะอีสเตอร์ ตัดต้นไม้ใหญ่จนหมดเกาะ จนไม่เหลือเพื่อทำเรือขุดในการจับปลา จับสัตว์บกกินต่อแต่ก็ไม่พอเพียง เกิดการรบรากันเอง กินเนื้อกันเอง อยู่ได้ 600 ปีก็ล่มสลายไป
สังคมที่อยู่รอด
ชาวเกาะไอซ์แลนด์ เริ่มทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับชาวไวกิ้ง แต่มองเห็นความเสียหายได้ทันและปรับแก้ เช่นเลิกเลี้ยงหมูและแพะซึ่งกินพืชคลุมดินเกือบหมด ตัดต้นไม้น้อยลง มีความเข้าใจในโลกรอบด้านปัจจุบันจึงมีความก้าวหน้าสูงมาก
เกาะเล็ก ๆ ชื่อ ทิโคเปีย จำกัดจำนวนประชากรที่ 1200 คน จำกัดการจับปลาอยู่ในขอบเขตไม่ให้ปลาสูญพันธ์ ทำเกษตรแบบผสมผสาน งดการเลี้ยงหมูซึ่งเป็นสัตว์ที่แย่งอาหารคนและทำลายสิ่งแวดล้อม ละเว้นการสร้างอนุสาวรีย์ที่ใหญ่โต
ญี่ปุ่น มีประชากรมากและทรัพยากรน้อยเช่นกัน แต่รู้ตัวทัน เปลี่ยนแหล่งอาหารจากการเพาะปลูกเป็นการหาปลาทะเล (กองเรือประมงญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่มาก) ลดการตัดต้นไม้ ชนชั้นผู้นำเลิกสร้างปราสาทและบ้านไม้อันใหญ่โตแข่งกัน ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเหลือเนื้อที่ป่าไม้สูงถึง 70% ของประเทศ
เฮติกับสาธารณรัฐโดมินิกันตั้งอยู่บนเกาะฮิสปันโยลาในทะเลคาริบเบียนเดียวกัน แต่ชาวโดมินิกันรักษาป่าไม้ไว้ได้จำนวนมาก และชาวเฮติทำลายป่าไม้จนเหลือเพียง 3% ของประเทศ จึงทำการเกษตรไม่ค่อยได้ผล เกิดปัญหาความอดอยากยากจนอย่างกว้างขวาง เฮติจึงเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในอเมริกากลาง ทั้งที่ในอดีตมีความก้าวหน้ากว่าสาธารณรัฐโดมินิกัน โดยวัฒนธรรมชาวโดมินิกันนั้นมีความขยันอดทน ทำงานหนักมากกว่าด้วย
จีน ในอนาคตหากยังพัฒนาด้วยความเร็วสูงเช่นปัจจุบันนี้ น่าจะมีปัญหาด้านมลภาวะสูงเพราะใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก
ออสเตรเลีย เจอปัญหาจากการนำสัตว์เลี้ยงต่างถิ่นเช่นกระต่าย หมาจิ้งจอกที่กินสัตว์พื้นเมือง และขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วทำลายทรัพยากรพืชคลุมดินอย่างเร็วมาก
ประเทศไทย เดินมาถึงทางแยกของการล่มสลายหรืออยู่รอดแล้ว ไม่มีทางสายกลางหรือจะขอให้พระสยามเทวาธิราชปกป้องคุ้มครองอีกต่อไปแล้ว การไม่ตระหนักถึงภัยในอนาคตเพราะการไม่ชอบเรียนรู้จากคนอื่น เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ผม..เอง (แมวรักประเทศไทย)
Other Posts By This Blogger
- Older « การสร้างรัฐและการพัฒนารัฐ
- Newer » การเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมของชีวิต
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้