ความเห็น: 0
การสร้างรัฐและการพัฒนารัฐ
หนังสือกะลาภิวัฒน์ที่ผมได้มาอ่านนี้คุ้มค่าจริง ๆ คุ้มค่าในการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นในหลายมุมมอง สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของประเทศไทย
มีคำถามที่ควรถามเป็นอย่างยิ่งว่า ทำไมประเทศไทยจึงพัฒนาได้ช้ากว่าประเทศเกาหลีใต้มาก ทั้งที่เมื่อ 50 ปีก่อนหน้านี้เราเหนือกว่ามาก
ประเทศไทยถูกยกมาเป็นตัวอย่างในหนังสือหลายเล่ม เพราะเหตุจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่บอกว่าพื้นฐานของไทยยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับการโจมตีจากต่างชาติซึ่งพยายามแสวงหาผลประโยชน์จากชาติที่อ่อนแอกว่าตลอดเวลา แต่มีนโยบายเปิดกว้างทางการเงิน
ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น แต่ละประเทศก็เล็งที่จะหาผลประโยชน์จากประเทศเพื่อนบ้านกันทั้งสิ้น เพียงขึ้นอยู่กั degree แห่งความจริงใจหรือศีลธรรมที่มากน้อยต่างกันเท่านั้น
แม้แต่อเมริกาเอง ก็มีผู้คาดการณ์ว่าคงจะล่มสลายในอนาคตข้างหน้าด้วยเช่นกัน เพราะจะมีประเทศที่แข็งแกร่งกว่าเกิดขึ้นแทนที่
จากเมื่อ 10,000 ปี มาแล้วที่การพัฒนาอารยธรรมเกิดขึ้นแถบเมโสโปเตเมีย (แถวประเทศอิรัก) และขยายตัวตามแนวนอนมาที่จีน เนื่องจากภูมิอากาศเป็นใจ ภูมิประเทศเอื้ออำนวย แต่การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และการใช้ทรัพยากรแบบขาดการยั้งคิด เช่นการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ทำให้เกิดการเสื่อมโทรมของธรรมชาติจนยากที่จะแก้ไข และอารยธรรมอื่นก็พัฒนาแซงหน้าไป
จีนนั้นเคยมีกองเรือที่เข้มแข็งและใหญ่กว่ายุโรปมาก่อนมากกว่า 100 ปี แต่การเมืองของจีนกลับเป็นปัญหาเอง ที่บอกว่าการสร้างกองเรือและการค้นคว้าสิ่งใหม่ ๆ เป็นความสิ้นเปลือง จึงทำให้การพัฒนาของจีนหยุดชะงักเป็นเวลาหลายร้อยปี
หากเรายอมรับความจริงกันบ้าง เราก็คงยอมรับว่า คนไทยเรานั้นมีความขยัน มุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมต่ำกว่าชาติอื่น การคิดวิเคราะห์ของเราก็น้อยเกินไป ช่วงที่ผมไปเรียนที่ฝรั่งเศส ผมเจอคนเกาหลีใต้โครตจะขยัน ทำการทดลองทุกวันจากเช้าถึงเย็น ไม่ค่อยมีการนัดสังสรรค์เหมือนคนไทยที่มีบ่อยเหลือเกิน คนเม็กซิโก เวเนซูเอล่าก็คล้ายคนไทย คือชอบสนุก คนจีนก็โครตขยันอ่านหนังสือและทำการบ้านมาก คนแอฟริกาก็เรื่อย ๆ คนอาหรับติดขี้เกียจแถมขี้โม้ ผมหวนกลับมาคิดอีกครั้งว่า วัฒนธรรมการดำรงชีวิตนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนามากจริง ๆ (ตอนเรียนอยู่ผมก็ขี้เกียจครับ ฮา)
มีหนังสือ Guide to the perfect latin american idiot ซึ่งขายดีมาก ต้นฉบับเป็นภาษาสเปน ที่พยายามจะบอกว่าปัญญาชนชาวลาตินที่โลกยกย่องนั้น ก็ไม่ได้เก่งจริงแถมติดปัญญาอ่อนอีกด้วย
ในคนรุ่นผมจะรู้จัก ฟิเดล คาสโตร ที่ประสบความสำเร็จในการปลดแอกคิวบา และที่ดังมากคือ เออร์เนสโต (เช) กุวารา ซึ่งพยายามเปลี่ยนลาตินอเมริกาให้เป็นสังคมนิยม แต่ผู้ที่เป็นวีรบุรุษแห่งการปฏิวัติของลาตินอเมริกาตัวจริงคือ ไซมอน โบลิวาร์ ซึ่งปลดแอกจากสเปน ให้เป็นประเทศเวเนซุเอลา โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู ปานามา และโบลิเวีย
หนังสือนี้บอกข้อมูลว่า ในอดีตคิวบากับอิตาลีมีศักยภาพของการพัฒนาเท่าเทียมกัน (2502) แต่หลังจากนั้นรายได้ต่อคนของชาวคิวบาก็ลดลงและต่ำกว่าอิตาลีมาก
ฮวน เปโรน เป็นวีรบุรุษของอาร์เจนตินา โดยอาร์เจนตินาเคยอยู่ในระดับเดียวกับแคนาดาและออสเตรเลีย แต่ฮวน เปโรน ก็ผลักดันการปกครองกึ่งระบบเผด็จการสำเร็จ รัฐบาลเข้ายึดกิจการใหญ่ ๆ ของเอกชน ผลักดันนโยบายเพิ่มการผลิตภายในประเทศแทนการนำเข้า ใช้แนวนโยบายประชานิยมแบบสุดโต่ง ซึ่งดูเหมือนว่าหลักการดี คล้าย ๆ ประเทศไทยในปัจจุบันนี้
แต่ระบบเผด็จการ (ของไทยเป็นเผด็จการทางรัฐสภา) นำไปสู่ความฉ้อฉลและการลุแก่อำนาจ ระบบเศรษฐกิจที่รัฐเป็นผู้ผลิตเองไม่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้การผลิตไร้ประสิทธิภาพและกิจการขาดทุนย่อยยับ (คล้าย ๆ โครงการรับจำนำข้าวครับ) แนวนโยบายประชานิยมแบบหว่านเงินไม่อั้น (เงินกู้ 2.2 ล้านๆบาท) ไม่กี่ปีอาร์เจนตินาก็ตกอยู่ในภาวะล้มละลาย
แม้ว่าคนลาตินอเมริกาชอบอ่านหนังสือ แต่ปราศจากการคิดเชิงวิพากษ์ จึงทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นถูกมองไม่เห็น
ผมอ่านแล้วได้คิดอะไรต่ออะไรอีกเยอะเลย ประเทศไทยเราก็ใกล้จะล้มละลายแล้วเหมือนกัน การส่งออกข้าวตกไปอยู่อันดับที่ 3 ของโลก ราคายางพาราหากตกลงไปอีกกว่านี้ก็ทำท่าจะแย่ ที่อยู่ได้ดีก็น่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่เป็นกอบเป็นกำ ศักยภาพในด้านการเกษตรยังพอช่วยในด้านการส่งออกผลไม้ อาหารทะเลแช่แข็งได้อยู่บ้าง แต่ศักยภาพทางเทคโนโลยีก็คงจะไปสู้ใครไม่ได้ และที่สำคัญคือ เรารู้ตัวหรือไม่ว่าค่าครองชีพของไทยเรานั้นสูงขึ้นเร็วมาก ภาคเอกชนรายกลางรายย่อยนั้นจะอยู่ไม่รอดกันอยู่แล้ว รายจ่ายชนกับรายรับโดยไม่มีเงินออม และต้องประหยัดกันมากขึ้น บุคลากรภาครัฐมีรายได้แซงเอกชนไปเรียบร้อยแล้ว
ผมมองว่าปัญหาของประเทศไทยนั้นมากพอควรครับ ที่ยังอยู่ได้ก็เพราะยังมีส่วนของบุญเก่าเหลืออยู่ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรยังพอมี แต่หากจะมองแนวโน้มในอนาคตต่อไป หากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหดหายลงไป อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ลดลง มลภาวะที่เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีราคาค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ประชาชนมีโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้นจากสภาวะแวดล้อมที่เลวร้าย ความเสี่ยงเหล่านี้รอคอยเราอยู่ข้างหน้าแล้ว
นี่คือสิ่งที่ผมคิดและอยากบันทึกไว้ครับ
ผม..เอง (แมวยังห่วงประเทศไทย)
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ตามรอย Revolutionary Wealth
- ใหม่กว่า » Collapse: ความล่มสลายกับความอยู่รอด
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้