ความเห็น: 1
การสื่อสารและทำความเข้าใจ
ผมตั้งหัวข้อบันทึกการสื่อสารและความเข้าใจไว้สักอาทิตย์หนึ่งแล้ว กะว่าจะต้องเขียนให้ได้ แต่วันนี้เข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์ ล.ลิงไต่หลังแกะที่เขียนจากนิวซีแลนด์ ได้ใจความที่ตรงกันพอดี ตรงใจมาก ก็เลยขอขยายต่อนะครับ
ปัญหาของการสื่อสารในองค์กรเป็นปัญหาที่ไม่เล็กนะครับ (เลี่ยงคำว่าปัญหาใหญ่ เดี๋ยวฟังแล้วน่ากลัว ความจริงเขาบอกว่าให้เรียกปัญหาว่าหัวข้อวิจัย แต่ผมว่าอย่าเพิ่งเลย เดี๋ยวจะงงมากไปอีก) สิ่งที่เราพูดออกไปกับคนหนึ่ง เมื่อถูกส่งถ่ายไปอีกทอดหนึ่งข้อความสาระและอารมณ์ก็เปลี่ยนไปแล้วครับ หรือแม้ได้รับฟังร่วมกันการรับรู้ของแต่ละคนก็ต่างกันอีกนะครับ สีหน้าแววตาของคนพูดสามารถสื่อถึงความมุ่งมั่นจริงใจได้ แต่การได้อ่านข่าวสารจะไม่ได้ข้อมูลอันนี้ ความศรัทธาในตัวผู้พูดก็สำคัญ บางครั้งการสื่อสารที่สำคัญจึงต้องเลือกตัวผู้สื่อด้วย เช่นการเอาผู้ที่เขาเคารพไปบอกกล่าวเป็นต้น ข้อความเดียวกันแต่มาจากต่างบุคคลกันมีความน่าเชื่อถือไม่เท่ากันครับ (ข้อความจากท่านอธิการบดี มีความน่าเชื่อถือมากกว่า.. ทั้งจริงและทั้งแซวครับ ..โดนเตะเมื่อไหร่แล้วค่อยเลิกแซว)
ความเข้าใจก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของคนรับอย่างมาก เช่น ตัวอย่างการตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ตัวเราไม่ได้เป็นคนกำหนด อาจมี 6 ทางเลือกคือ (อันนี้ลอกเขามาครับ ต้นตอมาจาก The 360° Leader ของ John C. Maxwell)
- โจมตีวิสัยทัศน์ โดยการ วิพากษ์วิจารณ์และบ่อนทำลายวิสัยทัศน์
- ไม่สนใจวิสัยทัศน์ โดยทำตามใจตนเอง
- เลิกเชื่อถือวิสัยทัศน์ โดยการลาออกจากองค์กร
- ปรับตัวเข้ากับวิสัยทัศน์ โดยหาทางเดินไปในทิศทางเดียวกับวิสัยทัศน์
- สนับสนุนวิสัยทัศน์ โดยการนำวิสัยทัศน์ของผู้นำมาทำให้เป็นความจริง
- เพิ่มคุณค่าให้แก่วิสัยทัศน์ โดยการเสริมแต่งวิสัยทัศน์ให้มีคุณค่ามากขึ้น (หายากครับ)
ผมเชื่อว่าหากนำเสนอแนวคิด (วิสัยทัศน์) ใหม่เข้าไปในองค์กร ก็คงเจอการตอบสนองทั้ง 6 ประการนี่แหล่ะครับ ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์/ความเชื่อเดิมที่แต่ละคนมีอยู่
ตรงนี้แหล่ะครับ ความเข้าใจที่ดีจะต้องพึ่งกระบวนการเปิดใจ โดยให้บุคคลในองค์กรมีความคิดเชิงบวกไว้บ้าง
วันนี้ไปกินมื้อเที่ยงที่ sizzler พบว่า asian salad ที่ตัวเองชอบไม่มี (คนเยอะ หมดไปแล้วหรือเปล่าก็ม่ายรุ) ก็คิดเชิงบวกว่าได้โอกาสของการชิมสลัดอื่น ๆ ที่ตัวเองยังไม่เคยชิมแล้ว.. ผลก็คือ.. อิ่มมัก..เหมียนกัลล์
เราจะคุยกันพร้อม ๆ กับเดินไปด้วยกัน จะได้มั๊ยครับ
ส่วนแนวคิดการเปลี่ยนการบริหารจากแบบ Command & Control เป็น Learn & Adapt ผมเห็นด้วยครับ แต่คิดว่าบางกรณีก็ต้องเก็บ Command & Control ไว้บ้างเพราะวัยวุฒิและประสบการณ์ของคนในองค์กรไม่เท่ากัน แต่เสริม Learn & Adapt ให้มากขึ้นทุกครั้งที่มีโอกาส และเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงานผมก็ยังเห็นว่าบางครั้งต้องเผด็จการเพื่อให้เรื่องดำเนินไปอย่างรวดเร็วบ้าง บางเรื่องก็ต้องใช้ประชาธิปไตย ก็คงเป็นเรื่องศิลปในการบริหารแหล่ะครับ
ที่สำคัญ ผมคิดว่าเราต้องพยายามสื่อสารในองค์กรให้เข้าใจตรงกันว่า ผู้นำองค์กรคิดอะไรอยู่และจะนำองค์กรไปในทิศทางใด โดยองค์กรและคนในองค์กรจะได้ประโยชน์อะไรกับการเดินทางไปด้วยกันในครั้งนี้..ครับ..
และนี่คือ..สิ่งที่ผมต้องทำให้สำเร็จเป็นอับดับแรกครับ (หวังพึ่ง share.psu เต็มที่ นะเนี่ย.. อย่าให้ share.psu ล่มบ่อยนะครับ เดี๋ยวสมาชิกเบื่อ จะหนีไปเสียหมด)
ผม..เอง
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « Life-long learning: องค์กรต้องเป...
- ใหม่กว่า » สิ่งที่น่ากลัว: การยึดติดกับความ...
02 ธันวาคม 2550 21:25
#3330