ความเห็น: 1
รู้จักกับ "เวลาออมแสง"
รู้จักกับ "เวลาออมแสง"
วันนี้ 25 ตุลาคม 2014 จะเป็นวันสุดท้ายในยุโรปที่จะใช้ "เวลาออมแสง" (Daylight saving time) สำหรับปี 2014 นี้
เวลาออมแสง หมายถึงการปรับเวลามาตรฐานของท้องถิ่นนั้น ๆ ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เพื่อเพิ่มเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากแสงสว่างมากขึ้น เนื่องจากในพื้นที่ที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรนั้น ในช่วงฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวนานมาก บางครั้งเพียงแค่เวลาตี 4 ดวงอาทิตย์ก็ขึ้นจากขอบฟ้าแล้ว ซึ่งยังไม่ใช่เวลาที่ผู้คนทั่วไปจะตื่นนอนและออกจากบ้านเลย จึงเกิดมีแนวความคิดว่า หากปรับเวลาให้เร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง ทำให้เวลาที่ได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์เลื่อนจากเดิม เช่น เดิมเวลากลางวันอยู่ในระหว่าง 04:00 ถึง 20:00 น. ก็เลื่อนมาเป็น 05:00 ถึง 21:00 น. ก็จะทำให้ช่วง 20:00 ถึง 21:00 น. ยังคงมีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์อยู่ เท่ากับลดการใช้พลังงานไปได้ 1 ชั่วโมงนั่นเอง ส่วนช่วงตี 4-5 เป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่พักผ่อน การใช้ไฟฟ้าจึงน้อยกว่าเวลาเย็นอยู่แล้ว
แนวคิดในการปรับเวลาออมแสงเริ่มมีมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้ว โดยเบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) นักวิทยาศาสตร์และหนึ่งในรัฐบุรุษผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้เสนอขึ้นเป็นคนแรก แต่กว่าจะมีการใช้กันจริงก็ต้องล่วงเลยมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเยอรมันเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้เวลาออมแสงเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1916 จากนั้นก็มีประเทศอื่น ๆ ในยุโรปหลายประเทศเริ่มใช้ตาม จนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 70 ประเทศที่ใช้เวลาออมแสง
การกำหนดวันเริ่มใช้เวลาออมแสงนั้นแตกต่างกันออกไปตามที่แต่ละประเทศจะกำหนด ในปัจจุบัน ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปต่างกำหนดให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน คือเริ่มใช้เวลาออมแสงตั้งแต่วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคม และจะสิ้นสุดลงในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาจะปรับเร็วกว่า คือเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์แรกของเดือนของเดือนมีนาคม และสิ้นสุดในวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน
สำหรับประเทศในซีกโลกใต้ซึ่งมีฤดูกาลตรงข้ามกับซีกโลกเหนือ ก็จะใช้เวลาออมแสงในช่วงปลายปีจนถึงต้นปีหน้า เช่นออสเตรเลีย ในรัฐที่ใช้เวลาออมแสง (คือรัฐทางตอนใต้ ได้แก่ออสเตรเลียใต้ นิวเซาท์เวลส์ วิคตอเรีย แทสมาเนีย และเมืองหลวงแคนเบอร์รา) จะเริ่มต้นใช้ในวันอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคม และสิ้นสุดในวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายน เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทยนั้นไม่เคยมีการใช้เวลาออมแสง เนื่องจากช่วงเวลากลางวันในฤดูต่าง ๆ ของประเทศไทยมีความแตกต่างกันไม่มากนักจนไม่มีความจำเป็นต้องปรับเวลาตามฤดูกาลแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเวลาออมแสงเช่นเดียวกัน ที่คุ้นเคยกันดีที่สุดก็คือการถ่ายทอดสดกีฬาจากต่างประเทศ อย่างเช่นในเวลาช่วงที่ใช้เวลาออมแสง ประเทศไทยจะมีเวลาเร็วกว่าอังกฤษอยู่ 6 ชั่วโมง ฟุตบอลอังกฤษที่แข่งเวลาบ่ายสามโมง ก็จะตรงกับเวลาสามทุ่มของไทย แต่เมื่ออยู่ในช่วงฤดูหนาวซึ่งอังกฤษกลับไปใช้เวลามาตรฐานกรีนิช เวลาของไทยจะเร็วกว่าอังกฤษเป็น 7 ชั่วโมง ฟุตบอลอังกฤษที่แข่งเวลาบ่ายสามโมงก็จะเลื่อนไปตรงกับเวลาสี่ทุ่มของไทย เป็นต้น
ขอบคุณเนื้อหาและภาพประกอบจาก
สาระเรื่อยเปื่อย
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ทำไมแป้นพิมพ์ถึงไม่เรียงตามลำดับ...
- ใหม่กว่า » กรอบเพลิน เชิงคณิตศาสตร์ ก่อนเข้...
26 ตุลาคม 2557 20:08
#100429
หมายถึงว่าหลังจากเดือนนี้ไป ได้ดูบอลเร็วขึ้นหน่อย ไม่ต้องสอนดึกแล้วใช่มั้ยครับ
เอิ้ก เอิ้ก
"ใจสั่งมา"