อ่าน: 2077
ความเห็น: 0
ความเห็น: 0
ขั้นตอนการจัดเก็บเอกสาร
จัดเก็บเข้าที่ ดูดีหาง่าย ถ้าหายก็รู้ ดูก็งามตา
การจัดเก็บเอกสารจะมีขั้นตอนการดำเนินงาน 6 ขั้นตอน ดังนี้
1. การตรวจ หมายถึง การพิจารณาเอกสารว่าเป็นเอกสารที่ให้จัดเก็บในตู้เก็บเอกสารหรือไม่
2. การบำรุงรักษา หมายถึง การซ่อมแซมบำรุงรักษาให้เอกสารอยู่ในสภาพดี เท่าที่จะเป็นได้ก่อนนำเข้าจัดเก็บ
หากเอกสารเปรอะเปื้อน ควรลบด้วยยางลบอ่อน
หากเอกสารเปียกน้ำ ควรผึ่งลมจนแห้งสนิท
หากเอกสารฉีกขาด ควรประสานเอกสารด้วยสก๊อตเทปชนิดดี
หากเอกสารพับหรือยับ ควรรีดให้เรียบ
หากเอกสารมีฝุ่นเกาะ ควรปัดด้วยผ้านุ่มอย่างเบามือ
3. การทำดัชนีหรือการลงรหัส หมายถึง การเขียนชื่อเอกสารและชื่อแฟ้มเอกสาร หรือการเขียนรหัสของเอกสาร ลงบนหัวเอกสารด้านขวามือ เพื่อเป็นตัวชี้แนะว่าจะนำไปเก็บในแฟ้มใด
ชื่อเอกสารที่เขียนเป็นดัชนีมักเลือกจากชื่อที่สำคัญที่สุด ซึ่งปรากฏในเอกสารนั้น และเป็นภาษาธรรมดาที่คนทั่วไปใช้เรียกกัน
4. การทำใบอ้างอิง หมายถึง เมื่อเอกสารชิ้นใดชิ้นหนึ่งสามารถจัดเก็บในแฟ้มเอกสารได้มากกว่า 1 แฟ้ม ผู้จัดเก็บอาจประหยัดเงินการถ่ายเอกสาร เพื่อเก็บไว้ในแฟ้มเอกสารทุกแฟ้ม โดยการทำใบอ้างอิงขึ้น ซึ่งใบอ้างอิงก็คือกระดาษเปล่า ขนาดธรรมดา 1 ใบ เขียนในใบอ้างอิงว่า
ชื่อเอกสาร...........................................
เก็บใบอ้างอิงที่แฟ้ม............................
ให้ไปดูเอกสารจริงที่แฟ้ม.....................
5. การนำเอกสารเข้าแฟ้ม หมายถึง การนำเอกสารเข้าแฟ้มที่ระบุไว้ในขั้นการทำดัชนีหรือการลงรหัสอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและรอบคอบ โดยถือหลักว่าเอกสาร “มาก่อนอยู่ล่าง มาหลังอยู่บน” เพราะเอกสารที่เพิ่งมาถึงมักเป็นเอกสารที่สำคัญ ถูกเรียกใช้อ้างอิงบ่อยกว่า จึงควรนำจัดเก็บในแฟ้มในที่หาพบได้ง่าย ใช้งานได้ง่าย
สำหรับเอกสารใด ๆ ที่ยังไม่ได้มีแฟ้มเฉพาะ ไม่ควรรีบเปิดแฟ้มเฉพาะ จนกว่าจะพิจารณาว่ามีเอกสารที่สามารถเก็บในแฟ้มนั้นได้จำนวนประมาณ 5 ชิ้นขึ้นไป โดยควรจะนำเอกสารซึ่งยังมีไม่ครบจำนวนใส่รวมไว้ในแฟ้มเบ็ดเตล็ดเป็นการชั่วคราว
ในกรณีที่แฟ้มใดมีเอกสารเข้ามากเป็นพิเศษจนหนาเกือบเท่าสันแฟ้ม ไม่ควรจัดเก็บเอกสารชิ้นใหม่ในแฟ้มเดิมอีกต่อไป เพราะจะทำให้แฟ้มหนาป่องเสียรูปทรงและไม่อาจคุ้มครองเอกสารได้เต็มที่ ตลอดจนไม่ควรนำแฟ้มสันหนามาเปลี่ยนใช้แทนแฟ้มเดิม เพราะจะมีน้ำหนักมากและการนำเอกสารออกใช้งานบ่อย ๆ จะไม่คล่องตัว แต่ควรจะเปิดแฟ้มใหม่ (แฟ้มปกแข็งหรือปกอ่อน) เป็นแฟ้มที่ 2 แฟ้มที่ 3 ไปเรื่อย ๆ
การนำเอกสารเข้าแฟ้ม ควรกระทำอย่างเป็นระเบียบแน่นหนา
6. การนำแฟ้มเข้าตู้เก็บเอกสาร หมายถึง การนำแฟ้มเข้าตู้เก็บเอกสารตามหมวดหมู่ หรือระบบที่กำหนดไว้อย่างรอบคอบเหมาะสม แฟ้มลำดับแรกจะใส่ในลิ้นชักที่ 1 ด้านนอก แฟ้มลำดับต่อมาก็ใส่ถัด ๆ ต่อมาจนเต็มลิ้นชักที่ 1 ด้านในสุด (ควรเว้นที่ว่างในลิ้นชักประมาณ 3 นิ้ว เพื่อการจัดเก็บค้นหาทำได้รวดเร็วคล่องตัว และแฟ้มเอกสารไม่เสียสภาพชำรุด) แฟ้มในลำดับต่อไปก็จะใส่ในลิ้นที่ชักที่ 2 ด้านนอก และแฟ้มลำดับต่อมาก็ใส่ถัด ๆ ต่อมาจนเต็มลิ้นชักที่ ๒ ด้านในสุด ลิ้นชักที่ 3 และ 4 ก็ปฏิบัติต่อไปในทำนองเดียวกัน ส่วนแฟ้มเบ็ดเตล็ดมักจะเก็บไว้ในลิ้นชักสุดท้าย
ถ้าเอกสารมีจัดเก็บหลายตู้เอกสาร ควรจัดวางตู้เอกสารเรียบลำดับตู้ที่ 1, 2 3
การจัดเก็บแฟ้มเอกสารในแต่ละลิ้นชักจะมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้นถ้าที่หน้าลิ้นชักแต่ละลิ้นชักเขียนหมวดหมู่ของแฟ้มเอกสารไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเขียนละเอียดไปจนถึงลำดับของแฟ้มที่จัดเรียงอยู่ ก็จะช่วยให้การจัดเก็บค้นหาเป็นระบบและระเบียบตลอดไป
ที่มา : เอกสารประกอบการบรรยาย วิชา “การเก็บเอกสารอย่างมีประสิทธิภาพ” ของ ศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทย
สร้าง: 07 พฤษภาคม 2557 14:25
แก้ไข: 07 พฤษภาคม 2557 14:36
[ แจ้งไม่เหมาะสม ]
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « หนังสือประชาสัมพันธ์
- ใหม่กว่า » การจัดเก็บเอกสารให้มีสภาพดี
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้