อ่าน: 2265
ความเห็น: 0
ความเห็น: 0
การเขียนย่อหน้า
หนังสือของทางราชการแต่ละเรื่องย่อมประกอบด้วยย่อหน้าหลายย่อหน้า ผู้เขียนจึงควรรู้แนวทางในการเขียนย่อหน้าที่ดีไว้บ้าง ตามหลักภาษา ย่อหน้าคือกลุ่มประโยคที่มีสาระหรือความคิดสำคัญเพียงประการเดียว และมีประโยคหรือข้อความสนับสนุนสาระสำคัญให้กระจ่างชัดเจนขึ้น ย่อหน้าเป็นเครื่องหมายวรรคตอนชนิดหนึ่งที่ช่วยทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน โดยผู้อ่านจะจับใจความได้ง่ายขึ้นเพราะทราบว่าแต่ละย่อหน้ามีความคิดสำคัญเพียงหนึ่ง และยังมีโอกาสพักสายตาด้วย ส่วนผู้เขียนจะเขียนได้ง่ายขึ้น โดยจะเสนอความคิดสำคัญเพียงอย่างเดียวในแต่ละย่อหน้า
ย่อหน้าแบ่งเป็น 4 ชนิด คือ ย่อหน้านำความคิด ย่อหน้าโยงความคิด ย่อหน้าแสดงความคิด และย่อหน้าสรุปความคิด
1. ย่อหน้านำความคิด เป็นย่อหน้าที่เขียนขึ้นเพื่อบอกจุดประสงค์ของการเขียน หรือสร้างความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนั้น หรืออาจจะบอกถึงลักษณะของเนื้อหาที่จะเขียน
2. ย่อหน้าแสดงความคิด เป็นย่อหน้าที่ผู้เขียนใช้แสดงความคิด ข้อมูลความต้องการของตน เป็นย่อหน้าที่มีบทบาทสำคัญและใช้มากในการเขียนทุกประเภท โดยเฉพาะการเขียนเอกสารราชการ ในย่อหน้าแสดงความคิดแต่ละย่อหน้าควรจะมีความคิดเด่นเพียงหนึ่งอย่าง และมีส่วนขยายความคิดนั้นให้เด่นชัดขึ้นมา
3. ย่อหน้าโยงความคิด เป็นย่อหน้าที่ใช้เชื่อมระหว่างย่อหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกันหรือเป็นคนละประเด็นกัน ย่อหน้าชนิดนี้จึงเป็นย่อหน้าสั้น ๆ
4. ย่อหน้าสรุปความคิด เป็นย่อหน้าที่ใช้สรุปเรื่องที่เขียน
การเขียนย่อหน้า นอกจากจะมีความคิดสำคัญเพียงประการเดียวแล้ว ยังต้องมีประโยคที่ช่วยเน้นความคิดสำคัญ และให้ความเข้าใจอย่างชัดเจนกับผู้อ่านประโยคและข้อความในย่อหน้าแต่ละย่อหน้าต้องต่อเนื่องสัมพันธ์กันโดยผู้เขียนจะต้องเรียบเรียงอย่างสละสลวยอีกด้วย นอกจากความสัมพันธ์ในย่อหน้าแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างย่อหน้าต่าง ๆ ในเรื่องก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ผู้เขียนจะต้องเรียงลำดับเรื่องราวหรือเรียงลำดับย่อหน้าให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกันอย่างเหมาะสม มีข้อคิดเกี่ยวกับการเขียนย่อหน้า คือความยาวของย่อหน้าแต่ละย่อหน้า ไม่จำเป็นจะต้องยาวเท่ากัน เพราะความยาวของย่อหน้านั้นขึ้นอยู่กับความคิดและจุดประสงค์ของผู้เขียน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนควรระลึกไว้เสมอว่า ย่อหน้าที่ยาวเกินไปจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากอ่าน จึงควรแบ่งเขียนย่อหน้าสั้น ๆ จะชวนอ่านมากกว่า
ที่มา : เอกสารการฝึกอบรมการเขียนหนังสือราชการ หลักสูตรการเขียนหนังสือราชการ สำนักงาน ก.พ.
สร้าง: 12 กันยายน 2555 15:10
แก้ไข: 12 กันยายน 2555 15:50
[ แจ้งไม่เหมาะสม ]
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « หลักในการเขียนหนังสือติดต่อราชกา...
- ใหม่กว่า » ร่วมพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวันมหิ...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้