ความเห็น: 0
ไฟโกรธ
ได้อ่านบทความเรื่อง “ ดับไฟโกรธ The Agony of Anger”ของ ดร. ไตรภพ จตุรพาณิชย์ จากหนังสือ ข้ามห้วงมหรรณพ
ขออนุญาตนำมาเล่าต่อเพราะคิดว่าทุกคนคงต้องเคยมีอารมณ์โกรธกันไม่มากก็น้อย หรือถ้าใครไม่เคยมีอารมณ์โกรธเลยนับว่าเป็นบุญ.....
อารมณ์มีอิทธิพลกับคนเรามากกว่าเหตุผลเสมอ เพราะมันมาจากสัญชาตญาณในจิตใต้สำนึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโกรธหรือโทสะซี่งเป็นหนึ่งใน 6 อารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ (โกรธ กลัว ประหลาดใจ เสียใจ รังเกียจ และเบิกบาน) ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติและวัฒนธรรม หลายคนรังเกียจชิงชังและรู้สึกผิดหวังหลังจากที่ได้แสดงอารมณ์โกรธออกไป แต่ทำไมเราถึงฝืนอารมณ์ความโกรธได้ยาก ผู้เขียนเค้าได้กล่าวถึงสาเหตุของความโกรธในมุมมองของจิตวิทยาได้หลายข้อค่ะสรุปเป็นข้อๆดังนี้
1. ความโกรธเกิดจากพันธุกรรมและชีวเคมี เพราะธรรมชาติได้ฝั่ง Chip อารมณ์นี้ไว้ใน DNA เพื่อการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิต
2. ความโกรธเกิดจากความคับข้องใจ เกิดจากการถูกขัดขวางไม่ให้ไปถึงเป้าหมายหรือไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ
3. ความโกรธเกิดจากการปกป้องตัวตน เพราะทุกคนต่างก็อยากเห็นตัวเองในแง่มุมที่ดีมีคุณค่า
4. การมองโลกในแง่ร้าย
5. การปล่อยใจให้เป็นไปโดยอัตโนมัติ – เค้ากล่าวไว้ว่าคนเราชอบประหยัดการใช้สมองด้วยการคิดแบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นระบบความคิดที่ตายตัว รวมถึงความคิดที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอคติและโทสะ
6. ปัจจัยอื่นๆอีกมากมายที่มากระทบ
นอกจากนั้นผู้เขียนได้กล่าวถึงเทคนิควิธีมากมายที่ช่วยลดความโกรธ มีดังนี้
1. มองให้เห็นคุณค่าของตนเอง จงสร้างคุณค่าให้ตนเองสามารถยอมรับและชื่นชมตนเองได้อย่างสนิทใจ เช่น พัฒนาความสามารถในด้านต่างๆ พยายามทำสิ่งต่างๆให้ลุล่วง รวมถึงการปลูกฝังคุณธรรมในตนเอง
2. เมตตาตนเอง เนื่องจากความเมตตาเป็นอารมณ์ตรงข้ามกับโทสะ เมื่อเราเจริญเมตตาให้มากเราก็สามารถดับไฟโทสะ
3. หยุดเพ่งโทษ-เป็นปกติของมนุษย์ที่ชอบส่งจิตของเราออกไปข้างนอกไปดูคนอื่นทีไม่ใช่ตัวเราเกิดเป็น “Negative effect” ควรคิดว่าไม่มีใครสมบรูณ์แบบ ทั้งตัวเราและผู้อื่นก็มีโอกาสทำผิดพลาดได้เช่นกัน หันกลับมาสำรวจตัวเองดูตัวเองและสำรวจอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองให้ดี
4.เหตุบังเอิญไม่มีในโลก-ข้อนี้ชอบมากเห็นด้วย ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกเหตุการณ์ที่พบเจอ ล้วนเกิดขึ้นด้วยเหตุและปัจจัย ถ้าพูดกันในทางพุทธศาสนาคือเจอกันด้วยกระแสกรรมที่ผูกกันไว้อย่างซับซ้อน มองเรื่องราวที่ขัดเคืองเป็นบททดสอบที่ต้องก้าวผ่านและตั้งใจอโหสิกรรมให้ทุกคน
5. ตั้งสติ-การฝึกสติคือการสังเกตรู้อาการทางกายและใจ รู้อารมณ์ของตัวเอง จะทำให้เรารู้เท่าทันความปรุงแต่งที่เกิดขึ้น เมื่อมีสติรู้จึงไม่ไหลไปตามอารมณ์ความคิดอัตโนมัติที่เคยชิน
ดังคำสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล “ไม่มีใครสามารถตัดความโกรธให้ขาดได้ มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง”
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ร่วมกิจกรรม"รวมพลังแห่งความภักดี"
- ใหม่กว่า » ครั้งแรกกับการบริจาคโลหิต
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้