ความเห็น: 5
ประเมิน SAR คณะอุตสาหกรรมเกษตร : 1 เตรียมตัวเป็นเลขาฯ คณะกรรมการประเมิน
ดิฉันได้รับความไว้วางใจจากมหาวิทยาลัยให้ทำหน้าที่เลขาฯ คณะกรรมการประเมิน (อีกสมัยหนึ่ง) ทั้ง ๆ ที่ภาระกิจงานประจำรัดตัว แต่ก็ยินดีทำหน้าที่นี้ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง
จากการที่ดิฉันเคยมีประสบการณ์ในการเป็นเลขาฯ คณะกรรมการประเมินมาแล้วหลายสมัย ทำให้สรุปได้ว่า คนที่จะมาทำหน้าที่เลขาฯ คณะกรรมการประเมิน นี้ได้ นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นตามที่ระบุไว้ในคู่มือการประเมินคุณภาพการศึกษาแล้ว ยังมีคุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ
1. จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในเนื้องานประกันคุณภาพพอสมควร
นั่นหมายความว่า จะต้องเป็น หรือ เคยเป็น ผู้ที่รับผิดชอบ หรือ มีส่วนร่วมในกิจกรรมประกันคุณภาพของหน่วยงาน เพราะจะทำให้เราเข้าใจบริบทหรือขอบข่ายงานที่เราจะต้องทำได้ดีพอสมควร
แต่ผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ ก็ไม่ต้องกังวลนะคะ ให้เรารีบเข้าไปศึกษาข้อมูลจาก website ของหน่วยงานที่เราประเมินฯ โดยเฉพาะในส่วนของข้อมูลประกันคุณภาพของเขา และศึกษาจากคู่มือ เอกสาร ที่ทางสำนักประกันฯ แจกให้ ก็จะทำให้เราเข้าใจได้ดีทีเดียว
2. จะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยไมตรี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความอดทน อดกลั้น
เพราะในการทำหน้าที่เลขาฯ นั้น จะต้องทำหน้าที่ประสานงานกับหลาย ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกรรมการประเมิน คณะ/หน่วยงานที่เราจะไปประเมิน และจากสำนักประกันคุณภาพ บางครั้งในการติดต่อประสานงานในบางเรื่อง อาจจะไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ อย่าอารมณ์เสีย หรือหงุดหงิดเด็ดขาด คิดอยู่เสมอว่า คงไม่มีใครหรอกที่อยากให้งานตัวเองมีปัญหา ค่อย ๆ หาทางแก้ไขปัญหาด้วยสติ ทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปได้ด้วยดี
3. แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
คุณสมบัติข้อนี้สำคัญมาก เพราะในบางครั้งเวลาเราไปประเมินหน่วยงาน อาจจะเจอปัญหา หรือสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นฝนตก ไฟดับ คอมพิวเตอร์ไม่ทำงานทำให้เปิดข้อมูลไม่ได้ เวลาประเมินฯ ไม่เป็นไปตามตารางที่กำหนดไว้ ผู้ให้ข้อมูลไม่มาตามนัด เป็นต้น
ในสถานการณ์เหล่านี้ เลขาฯ ที่ดี ไม่ควรจะต้องรอให้ปัญหาเกิดก่อน แล้วถึงจะแก้ แต่ควรจะคิดสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า แล้วเตรียมหาแนวทางแก้ไขปัญหาไว้เลย เช่น ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการประเมิน เราควรจะมีเบอร์โทรศัพท์ผู้ประสานงานของคณะฯ/เจ้าหน้าที่หน่วยโสตฯของคณะ/เลขาคณบดีนั้น ๆ หรือแม้แต่เบอร์ของ QMR คณะนั้น ๆ เป็นต้น
4. สรุปประเด็นได้ จับใจความเก่ง พิมพ์ดีดคล่อง
เลขาฯที่ดีนั้น ถ้าสรุปประเด็นได้ จับใจความเก่ง แต่พิมพ์ดีดไม่คล่อง ก็จะทำให้เหมือนต้องกลับมาทำงานซ้ำอีกหน แต่ถ้าระหว่างที่คณะกรรมการพูดคุยกัน แล้วฝ่ายเลขาฯ ได้พิมพ์ข้อความไปพร้อม ๆ กัน พร้อมทั้งมีการสรุปประเด็น จับใจความได้ งานก็จะเสร็จตอนนั้นเลย
5. เตรียมทำการบ้านล่วงหน้า
หากฝ่ายเลขาฯ ได้มีการเตรียมทำการบ้านล่วงหน้า ให้คณะกรรมการประเมินฯ ว่าเขาจะต้องทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร แล้ว ก็จะให้การไปประเมินฯ ใช้เวลาได้เต็มศักยภาพ
ซึ่งในหัวข้อนี้ จะมีรายละเอียดที่ค่อนข้างเยอะ และคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์กับน้องใหม่ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาฯ เป็นครั้งแรก ไว้จะเขียนเล่าให้ฟังในบันทึกต่อไปนะคะ
6. รู้จักบริหารเวลา
ในหัวข้อนี้ ไม่ใช่การบริหารเวลาเฉพาะในงานเลขาฯคณะกรรมการประเมิน ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้นนะคะ เพราะคนที่เป็นฝ่ายเลขาฯ เขาต้องเสียสละเวลามารับผิดชอบงานตรงนี้ ในขณะที่งานในหน้าที่ ก็จะต้องทำตามปกติ ให้ทิ้งเบอร์โทรศัพท์มือถือ/เบอร์โทรศัพท์ ไว้ที่ทำงานด้วย เผื่อกรณีที่มีเรื่องเร่งด่วน ทางหน่วยงานจะได้ติดต่อเราได้ และถ้าได้มีโอกาสไปประเมินยังหน่วยงานที่สามารถรับสัญญาณ wireless ได้ ก็ขอให้หมั่นตรวจสอบ e-mail address หรือ เอกสารใน e-document หากมีเรื่องเร่งด่วน ก็สามารถดำเนินการได้ทันที
เห็นไหมค่ะว่า งานราษฎร์ ก็ยังทำได้ งานหลวงก็ไม่เสีย
ท่านใดที่เคยมีประสบการณ์ในการเป็นเลขานุการคณะกรรมการประเมิน SAR แล้วอยากจะร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพิ่มเติมประเด็น เรียนเชิญนะคะ
อย่างน้อยจะได้เป็นข้อมูลให้น้องใหม่ได้ไว้ใช้เตรียมตัวก่อนที่จะไปประเมินหน่วยงาน
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « เล่าสู่กันฟัง : share.psu.ac.th ...
- ใหม่กว่า » บอกเล่าเก้าสิบ : เพราะได้อ่านบัน...
ความเห็น
สวัสดีค่ะน้องอุโยะ
ดีใจค่ะที่บันทึกนี้มีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ยังไงถ้าไปประเมินมาแล้ว เจอเหตุการณ์อะไรที่น่าถ่ายทอด อย่าลืมนำมาเล่าสู่กันฟังนะคะ
13 ตุลาคม 2550 23:30
#121