ความเห็น: 3
อบรมหลักสูตร "ผู้จัดการงานสร้างสุของค์กร" (Happy Workplace Manager) รุ่นที่ 3 : ส่งการบ้านครั้งที่ 1
ดิฉันโชคดีที่ได้รับการตอบรับให้เข้ารับการอบรมหลักสูตร "ผู้จัดการงานสร้างสุของค์กร" (Happy Workplace Manager) รุ่นที่ 3 "ภายใต้โครงการพัฒนากลไกทางวิชาการเพื่อสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร (Happy Workplace Support) จัดโดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวกำหนดจัด 3 ครั้ง และแต่ละครั้งจะต้องเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 80% จึงจะมีสิทธิ์รับประกาศนียบัตรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร "ผู้จัดการงานสร้างสุของค์กร"จากโครงการ ซึ่งออกโดยมหาวิทยาลัยมหิดล
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ที่ทำงานด้านการสร้างความสุขในองค์กร (Happy Workplace) ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความสามารถในด้านการบริหารจัดการโครงการ/กิจกรรม การสร้างสุขในองค์กรของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถทบทวนประเมินผลงานของตนเอง และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการขับเคลื่อนงานสร้างสุขในองค์กร และสามารถยกระดับและขยายผลการดำเนินงานออกไปให้เกิดผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น
คุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรม
- เป็นหัวหน้างานหรือผู้รับผิดชอบงานหลัก ด้านการพัฒนาความสุขในองค์กร (Happy Workplace) โดยมีประสบการณ์ด้านการทำงานพัฒนาความสุขในองค์กรมาแล้วระดับหนึ่ง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือผ่านการอบรมหลักสูตรหลักสูตร "นักสร้างสุของค์กร" เนื่องจากหลักสูตรนี้ เน้นการยกระดับการบริหารจัดการให้ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ผู้เข้าอบรม จึงควรมีความรู้และทักษะ ประสบการณ์เบื้องต้นมาก่อน
- เข้าร่วมการฝึกอบรมได้ครบทั้งสามครั้ง เนื่องจากเป็นหลักสูตรต่อเนื่องที่จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
จากที่บอกไว้ข้างต้นว่า ผู้เข้ารับการอบรม จะผ่านหลักสูตร จนถึงขั้นได้รับประกาศนียบัตร ผู้ผ่านการฝึกอบรมได้นั้น จะต้องเข้ารับการอบรมครบ 3 ครั้ง และในแต่ละครั้งเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 80% นอกจากนั้น จะต้องจัดส่งรายงานการติดตามผลการนำไปใช้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการฝึกอบรม
ซึ่งรายงานการติดตามผลการนำไปใช้ หลังจากฝึกอบรมในครั้งที่ 1 เสร็จไปแล้ว คือ
งานกลุ่ม
1. การเขียนโครงการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร (Happy Workplace) ของหน่วยงานองค์กรหรือโครงการที่ท่านสังกัด พร้อมรายงานผลการประเมินต้นน้ำ โดยขอให้แต่ละท่าน จัดทำโครงการเชิงรุกในการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร ในองค์กรหรือโครงการที่ท่านรับผิดชอบอยู่ ซึ่งอาจเป็นการเขียนโครงการขึ้นใหม่ หรือทบทวนปรับปรุงจากโครงการเดิมที่มีอยู่ แล้วนำโครงการดังกล่าวมาทำการประเมินต้นน้ำ (ในกรณีที่ท่านมาจากองค์กร/โครงการเดียวกัน สามารถจัดทำและส่งรายงานผลในข้อ 2 นี้ร่วมกัน เป็นรายองค์กร/โครงการได้)
2. รายงานกิจกรรมสร้างสุของค์กร ตามแบบฟอร์ม HWF1 และ HWF2 อย่างน้อย 1 กิจกรรม
งานเดี่ยว
3. รายงานสรุปผลการนำความรู้ไปใช้ หรือที่วางแผนจะนำไปใช้อย่างแน่นอน (เลือกจากเนื้อหาความรู้ต่างๆ ในสามวันที่ท่านได้รับ เช่น สุขเสวนา กิจกรรมสัมพันธ์ เครื่องมือ ต่างๆ (5 apps) ความยาวประมาณ 1-3 หน้ากระดาษ)
สำหรับการบ้านในข้อ 1 และ ข้อ 2 ซึ่งเป็นรายงานกลุ่ม ดิฉันได้ร่วมกันจัดทำ กับคุณเมตตา และได้จัดส่งให้กับผู้ประสานงานโครงการเรียบร้อยแล้ว
เหลืองานเดี่ยว ทีนี้ก็ต้องมาดูว่า จากเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ ใน 3 วัน ที่ดิฉันได้เรียนรู้ในการอบรมครั้งที่ 1 นี้ ดิฉันนำความรู้อะไรไปใช้ หรือวางแผนไปใช้อย่างไรบ้าง
ก่อนอื่น ก็ต้องบอกว่า 3 วันที่ได้เรียนรู้นั้น เนื้อหาเยอะมาก วิทยากรต่างถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้กับเราอย่างอัดแน่นมาก ซึ่งบางเนื้อหา ถ้าจะเรียนให้ลึกซึ้งจริง ๆ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน แต่วิทยากรสามารถถ่ายทอดความรู้ให้เราเข้าใจได้ในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง
มาดูกันนะคะว่า 3 วันนี้ ดิฉันได้เรียนรู้อะไรบ้าง
วันแรก
- ทบทวนแนวคิดและวิธีการสร้างองค์กรแห่งความสุข
- การวัดความสุขของพนักงานด้วยเครื่องมือ Happinometer
- การวัดความสุขขององค์กรด้วยเครื่องมือ Happy Workplace Index
- การเขียนแผนงาน/โครงการสร้างสุขในองค์กรที่ดี
วันที่ 2
- การออกแบบกิจกรรมสร้างสุของค์กรด้วยเครื่องมือ Happy 8 Menu
- แนวคิดการติดตามประเมินผลโครงการ
- การประเมินต้นน้ำ : เครื่องมือช่วยในการพัฒนาโครงการเชิงรุก
- ภาคปฎิบัติ : ฝึกทักษะการประเมินต้นน้ำ
- สุขเสวนา รู้จัก รู้ใจ
วันที่ 3
- การออกแบบกิจกรรมสร้างสุของค์กร
- ภาคปฎิบัติ : ฝึกการออกแบบกิจกรรมสร้างสุขในองค์กร
- แลกเปลี่ยนเรียนรู้การออกแบบกิจกรรมสร้างสุขในองค์กร
นอกจากนี้ในแต่ละวัน ก็จะมีกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เพื่อละลายพฤติกรรม สลับกันไป และมีการแบ่งกลุ่มฝึกปฎิบัติให้เรียนรู้ร่วมกัน ตามโจทย์ที่กำหนดให้
สำหรับรายละเอียดในแต่ละหัวข้อ จะทยอยเขียนเล่าให้ฟังนะคะ แต่บันทึกนี้ ขอทำการบ้านส่งอาจารย์ก่อนนะคะ เดี๋ยวไม่จบหลักสูตร เสียชื่อ แม่ยามหมด
จากโจทย์ที่ให้ไว้ว่า “เนื้อหาความรู้ต่าง ๆ ใน 3 วัน ที่ดิฉันได้เรียนรู้ในการอบรมครั้งที่ 1 นี้ ดิฉันนำความรู้อะไรไปใช้ หรือวางแผนไปใช้อย่างไรบ้าง”
เครื่องมือแรกที่เห็นชัด ๆ และกลับมาทำทันที นั่นคือ เครื่องมือ HAPPINOMETER
สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ในการเข้าร่วมโครงการ “นวัตกรรมจัดการสร้างสุข บูรณาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะแห่งประเทศไทย” ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขของการโครงการดังกล่าว นั่นคือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยนักจัดการความสุข จะต้องรับผิดชอบดำเนินการสำรวจความสุข โดยการเก็บข้อมูลบุคลากรด้วย “แบบสำรวจความสุขด้วยตนเอง HAPPINOMETER”
ซึ่งการได้มีโอกาสมาเรียนรู้เครื่องมือดังกล่าว ทำให้ได้เข้าใจชัดถึงวัตถุประสงค์ และประโยชน์ของเครื่องมือดังกล่าว และสามารถอธิบายให้กับหน่วยงานในมหาวิทยาลัยฯ ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยงานนำร่องมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ได้ตระหนักว่า เหตุใดเราถึงจะต้องให้บุคลากรดำเนินการสำรวจความสุขด้วยตนเอง วัตถุประสงค์มิใช่เพียงเพื่อทำตามเงื่อนไขที่เราไปร่วมลงนามในโครงการร่วมกับมหิดล เท่านั้น แต่สิ่งที่ทางหน่วยงานจะได้รับกลับมาโดยแทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นั่นคือ บุคคล หรือผู้บริหารองค์กร สามารถนำผลที่ได้มาวางแผนและดำเนินการบริหารจัดการความสุขของตนเอง หรือคนในองค์กรในทุกระดับได้อย่างถูกจุดและถูกใจ
ความรู้อีกอย่างที่ได้รับ และมีแผนที่จะนำความรู้ดังกล่าวกลับมาใช้อย่างแน่นอน นั่นคือ การได้เรียนรู้หัวข้อ ใน 2 ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือ
หัวข้อ การประเมิน : เครื่องมือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในองค์กรสุขภาวะ และ การประเมินต้นน้ำ : เครื่องมือเพื่อการพัฒนาโครงการเชิงรุก ซึ่งวิทยากรที่ถ่ายทอดความรู้ คือ รศ.ดร.ประภาพรรณ อุ่นอบ จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล
วิทยากรได้เน้นย้ำให้เราเข้าใจถึงความหมายและความสำคัญของการประเมิน และเรียนรู้การใช้เทคนิค Star Model ในการตรวจสอบว่า โครงการที่มีคุณภาพนั้น จะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง เพื่อเป็นการวัดว่า โครงการดังกล่าวนั้น มีคุณค่าและคุ้มค่าเพียงพอที่จะอนุมัติให้ดำเนินการหรือไม่
ซึ่งเทคนิคดังกล่าวประกอบด้วยการตรวจสอบใน มิติต่าง ๆ 5 มิติ ได้แก่
มิติที่ 1 ความเข้มข้นของโครงการ
มิติที่ 2 ความยึดมั่นในสิ่งที่จะต้องทำ
มิติที่ 3 ความสอดคล้องของโครงการ
มิติที่ 4 ความเกี่ยวข้องของชุมชน
มิติที่ 5 ประสิทธิผลของโครงการ
- และการได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติ ประเมินต้นน้ำ โดยใช้เทคนิค Star Model ยิ่งทำให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่า หากเราได้เพิ่มกระบวนการนี้ เข้าเป็นส่วนหนึ่งก่อนที่จะทำโครงการ หรือพิจารณาโครงการใด ๆ ก็ตาม ผลที่ได้รับมา ย่อมทำให้เกิดความคุ้มค่า ทั้งในส่วนของตัวโครงการเองก็ดี ต่อผู้เข้าอบรมเองก็ดี ที่สำคัญ ต่อผู้ให้ทุน เนื่องจากจะเป็นสิ่งการันตีได้ว่า โครงการหรือกิจกรรมใด ๆ ที่ผ่านการประเมินต้นน้ำ โดยใช้เทคนิค Star Model ย่อมเป็นโครงการที่มีคุณภาพ และมีคุณค่า เพราะเมื่อไหร่ก็ตามหากผู้เกี่ยวข้องในการออกแบบกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารโครงการ/ผู้ให้ทุน/ผู้ประเมิน/ทีมงานโครงการ ใส่ใจกระบวนการดังกล่าวตั้งแต่ต้น นอกจากจะเป็นตัวแสดงว่า เรามีการบริหารการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ท้ายสุดคนที่จะได้ประโยชน์สูงสุด คือบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการนั่นเอง
ในฐานะที่ดิฉันมีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมพัฒนาบุคลากร ในหลายบทบาท
บทบาทแรกคือ ในฐานะผู้ออกแบบหลักสูตรต่าง ๆ ในการพัฒนาบุคลากร สายบริหารของมหาวิทยาลัย
บทบาทที่ 2 ในฐานะเป็นผู้ให้คำปรึกษากับหน่วยงานน้องใหม่ ที่รับผิดชอบงานพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ
บทบาทที่ 3 ในฐานะเป็นผู้ประสานงานโครงการ Happy workplace ของสำนักงานอธิการบดี และในฐานะผู้ประสานงานโครงการ Happy University ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากจะมีหนาที่คอยให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานในการจัดทำโครงการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้ว ดิฉันยังจะต้องมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของโครงการดังกล่าว ว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักตามแผนงาน Happy workplace หรือไม่ และงบประมาณที่ใช้ในแต่ละโครงการว่าคุ้มค่า คุ้มทุนหรือไม่
ดังนั้น การได้มีโอกาสเรียนรู้เทคนิค Star Model ก็จะยิ่งทำให้ดิฉันนำความรู้ดังกล่าวนำกลับมาใช้ได้โดยตรงทันทีในบทบาทแรก และสำหรับบทบาทที่ 2 และ 3 ดิฉันก็จะนำความรู้ดังกล่าวมาให้คำแนะนำแก่หน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น และมุมมองในการตรวจสอบโครงการก็จะมีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นตามมิติต่าง ๆ ของ Star Model
นอกจากนี้ ดิฉันก็จะถ่ายทอดความรู้ในเรื่องดังกล่าว ให้กับทีมงาน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ว่า โครงการพัฒนาบุคลากร ที่จัดโดยทีมงานจากกองการเจ้าหน้าที่ เป็นโครงการที่คุ้มทุน และคุ้มค่าแน่นอน
ขอบคุณที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ค่ะ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ท่องยุโรป (อิตาลี – สวิตเซอร์แลน...
- ใหม่กว่า » อบรมหลักสูตร "ผู้จัดการงานสร้างส...
09 พฤษภาคม 2557 18:58
#98118
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขา สุข หรือไม่สุข
แบบประเมิน ถึง 50 % ของทั้ง มหา'ลัย ป่าว แม่ยาม