ความเห็น: 7
ภาวะการหางานทำของบัณฑิต - จากกระดาษ สู่ดิจิตอล
ถึงเดือนกันยายนอีกแล้ว เดือนนี้มีความสำคัญกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อย่างหนึ่งคือจะมีงานรับพระราชทานปริญญาบัตร สำหรับบัณฑิตและมหาบัณฑิตที่จบการศึกษากันเป็นประจำทุกปี สำหรับปี 2551 จัดให้มีขึ้นในวันที่ 21-22 กันยายน
ในส่วนของกองแผนงาน เดิมจะมีงานใหญ่อยู่ 1 งานพร้อมกับวันซ้อมใหญ่การรับพระราชทานปริญญาบัตร นั่นคือ การสำรวจภาวะการหางานทำของบัณฑิต ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวที่จะได้จำนวนบัณฑิต มากขนาดนี้ (พลาดไม่ได้ครับ ถ้าพลาดวันนี้ไป ถือว่าล้มเหลวในการเก็บข้อมูล) จากการเก็บข้อมูลในวันซ้อมใหญ่นี้ ทำให้กองแผนงานเก็บข้อมูลได้เกือบร้อยเปอร์เซนต์ของบัณฑิตและมหาบัณฑิต ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
แต่เดิมเก็บข้อมูลกันด้วยแบบสอบถาม ใครที่ทำวิจัยคงทราบดี ว่าการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามยุ่งยากเพียงใด โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างระดับ 5,000-6,000 ตัวอย่าง (สำหรับปี 2551 มีจำนวนบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทุกระดับ ทั้งสิ้นประมาณ 6,900 คน) การดำเนินการเก็บข้อมูล ที่ผ่านมาสรุปได้ดังนี้
1. เมื่อทราบวันรับพระราชทานปริญญาบัตร ทราบวันซ้อมใหญ่ ทราบจำนวนบัณฑิตและมหาบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ก็ดำเนินการจัดเตรียมแบบสอบถาม ซึ่งมี 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 แบบสอบถามที่ใช้ร่วมกันทุกมหาวิทยาลัยตามรูปแบบของ สกอ.
ส่วนที่ 2 แบบสอบถามความคิดเห็นของบัณทิตเกี่ยวกับการดำเนินการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดังนั้น แบบสอบถาม 1 ชุด ต้องใช้กระดาษประมาณ 6-8 แผ่น
2. จากจำนวนบัณฑิต 6,900 คน ต้องใช้ประดาษทั้งหมดประมาณ 55,200 แผ่น เลยทีเดียว (8 แผ่นต่อชุดไม่รวมเผื่อขาดด้วยนะครับ) กระดาษมากขนาดนี้ต้องใช้เวลา และคนอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อจัดเตรียมแบบสอบถาม ทั้งการโรเนียว เย็บชุดแบบสอบถาม และการจัดซองแบบสอบถามแยกตามห้องต่างๆ ที่บัณฑิตนั่ง อีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ นั่นคือ ดินสอหรือปากกาที่ใช้ในการตอบแบบสอบถาม (ใช้ประมาณครึ่งหนึ่งของแบบสอบถาม)
3. เมื่อถึงวันซ้อมใหญ่ ต้องใช้แรงงานคนอีกจำนวน 10-15 คน ในการแจกแบบสอบถามทั้งช่วงเช้า และช่วงบ่าย แจก.. แล้วรอ.. เมื่อบัณฑิตทำเสร็จแล้ว เก็บกลับคืนเลยครับ วันนี้คนทำงานจะเหงื่อตก หมดแรงกันไปตามๆ กัน เพราะต้องเดินเยอะมาก
4. เมื่อเก็บข้อมูลมาเรียบร้อยแล้ว วันต่อมาจึงจัดแยกคณะ ระดับ และแบ่งให้บุคลากรไปลงรหัส ใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะลงรหัสเสร็จครับ เมื่อลงรหัสบางคณะเสร็จก็ดำเนินการคีย์ข้อมูล ไปด้วยกัน เพื่อจะได้ทำงานวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปรายงานต่อไป ขั้นตอนนึ้ ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน
5. ได้รายงานมาแล้ว ก็ดำเนินการสรุปเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย และส่งข้อมูลให้กับ สกอ. ต่อไป
จะเห็นว่า การเก็บข้อมูลภาวะการหางานของบัณฑิต เราต้องเสียงบประมาณ เวลา และกำลังคน เพื่อปฏิบัติภาระกิจนี้ ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน ปัจจุบันการดำเนินการได้ปรับเปลี่ยนไป เราไม่ต้องแจกแบบสอบถามอีกแล้ว ปีนี้เป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดให้บัณฑิตบันทึกข้อมูลภาวะการหางานทำของบัณฑิต ผ่านทางเว็บ www.job.psu.ac.th ซึ่งโครงการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกองแผนงาน ศูนย์คอมพิวเตอร์และงานทะเบียนกลาง
แนวทางการดำเนินการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนี้
1. หลังจากที่ทะเบียนกลางจัดทำข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาเสร็จสิ้น ศูนย์คอมพิวเตอร์จะดำเนินการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษา โดยใช้รหัสบัตรประชาชน และวันเดือนปีเกิด ของบัณฑิตในการเข้าสู่ระบบการบันทึกข้อมูล
2. เมื่อทราบกำหนดการวันพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว งานทะเบียนกลาง จะจัดทำประกาศวันพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมทั้งออกหนังสือแจ้งบัณฑิตให้มารายงานตัวเพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร โดยกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ บัณทิตจะต้องเข้าไปบันทึกข้อมูลภาวะการหางานทำของบัณฑิตผ่านเว็บของมหาวิทยาลัยก่อน
แล้วต้องพิมพ์ใบรับรองการบันทึกข้อมูล เพื่อใช้ประกอบในการรายงานตัวบัณฑิตที่จุดรับรายงานตัวของทุกคณะ/ทุกวิทยาเขต โดยในใบรายงานตัวของบัณฑิตทุกคนจะมีบาร์โค้ดปรากฏ เมื่อบัณฑิตเข้าไปกรอกข้อมูลได้สมบูรณ์ ครบถ้วน
3. ระบบจะปิดหลังจากบัณฑิตทุกคนรายงานตัวเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเสร็จสิ้น จึงมีการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และจัดทำรายงาน เพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยและส่งข้อมูลใน สกอ. ต่อไป
การมีระบบใหม่ ทำให้ลดงบประมาณโดยเฉพาะกระดาษ และดินสอ ลดเวลาการทำงาน ลดกำลังคน หากคิดถึงประโยชน์ที่ได้ นับว่ามีสูงกว่าผลเสีย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังอยู่ขั้นตอนการบันทึกข้อมูลของบัณฑิต เป็นเพียงการเริ่มต้นซึ่งยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ ต้องรอกันต่อไป .. แต่ที่ขาดไป คงไม่ได้เห็นสภาพการทำงานแบบลงแขกกันอีกแล้วครับ .. สรรพสิ่งไม่หยุดนิ่งเปลี่ยนแปลง... จริงๆ ครับ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « นักศึกษา กับ นิสิต แตกต่างกันอย่...
- ใหม่กว่า » 5ส ต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลง
ความเห็น
- ตามมาให้กำลังในคนทำงานจ๊ะ
- พี่เห็นด้วยกับการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการทำงาน เนื่องจากเราถูกลดอัตรากำลังคน
- ปีนี้เป็นปีแรกที่ใช้ระบบดิจิตอลในการเก็บข้อมูล ถือว่าเป็นมิติใหม่ และเป็น KPI ของมหาวิทยาลัยที่ให้ทุกคนทำงานโดยลดการใช้กระดาษ (ลดภาวะโลกร้อนทางอ้อม)
- ถึงแม้ข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือมีอุปสรรคบ้างก็ค่อยปรับปรุงไปนะ
การสำรวจภาวะการมีงานทำของบัณฑิต ผ่านทางเว็ป เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในคำรับรองการปฏิบัติราชการปี 2551
โดยเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดที่ 18 ระดับความสำเร็จของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอุดมศึกษาด้าน
- นักศึกษา
- บุคลากร
- การเงินอุดมศึกษา
- ภาวะการมีงานทำของบัณฑิต
ซึ่งฐานข้อมูลภาวะการมีงานทำของบัณฑิต สกอ. เป็นผู้พัฒนาระบบนี้ขึ้น และนำมาใช้กับทุกสถาบันอุดมศึกษา
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเพื่อมีระบบเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่าน
ระบบเครือข่ายกับสกอ. เกณฑ์การประเมินตัวชี้วัดนี้ประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ
- คุณภาพของข้อมูลที่มีความสมบูรณ์และตรงตามรูปแบบมาตรฐานกลาง
- ผลสำเร็จของการส่งข้อมูลภายในระยะเวลาที่กำหนด (30 กย. 51)
- ผลสำเร็จของการเผยแพร่รายงานข้อมูลที่มีความถูกต้อง
และผลจากการกรอกข้อมูลภาวะการมีงานทำของบัณฑิต จะนำไปตอบคำถามอีก 2 ตัวชี้วัด คือ
- ร้อยละของบัณฑิตระดับปริญญาตรีที่ได้งานทำหรือประกอบอาชีพอิสระภายใน 1 ปี
- ร้อยละของบัณฑิตระดับปริญญาตรีที่ได้งานทำตรงสาขาที่สำเร็จ
เรื่องจำนวนผู้ตอบผู้ตอบแบบสอบถามคงไม่ต้องลุ้นว่าจะได้ครบหรือไม่ เพราะมาตรการรัดกุมดีแล้ว เพราะ
ถ้าไม่กรอกข้อมูล ก็ไม่สามารถขึ้นทะเบียนบัณฑิตได้ แต่สิ่งที่ลุ้น คือ
- จำนวนการมีงานทำของบัณฑิต และงานที่ทำตรงกับสาขาหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่คุมไม่ได้
บัณฑิตไม่มีงานทำ ไม่ได้หมายถึง คุณภาพของมหาวิทยาลัยไม่ดี เพราะการจ้างงานมีหลาย
ปัจจัยล้านแปด ทั้งสภาพเศรษฐกิจ ประเภทของธุรกิจ หรือตัวนักศึกษาเอง อีกทั้งเราสำรวจ
ในช่วงเวลาเพียง 6 เดือนหลังจากจบการศึกษา - ความสมบูรณ์ และความยากง่ายของระบบในการเข้าไปกรอกข้อมูลของบัณฑิต
งานเก่าหมดไป งานใหม่เข้ามาแทน ยังไงก็คงได้ลงแขกกันในเรื่องอื่น เพราะเรายังอยู่กันอีกนาน
อยากเห็นแบบสอบถามค่ะ ทางคณะจะได้ไม่ต้องถามซ้ำ และเป็นไปได้ไหมที่แต่ละคณะจะเพิ่มคำถามของตัวเองต่อกันไปเลยนักศึกษาหรือคณะจะได้ไม่ต้องทำแบบสอบถามอีก (เปลืองกระดาษและกำลังคนเหมือนเดิม) อยากเห็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับคณะค่ะ ไม่ใช่นักศึกษามารับปริญญาที มหาวิทยาลัยถามครั้ง ไปถึงคณะก็กรอกข้อมูลอีก (เกี่ยวกับคณะ) พอไปถึงภาควิชาก็กรอกข้อมูลอีก (เกี่ยวกับหลักสูตร) เรามีคนเก่งคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว เอาสิ่งที่เราอยากรู้ไม่ว่าทั้งระดับมหาวิทยาลัย ระดับคณะ และระดับภาควิชา ผูกติดกับตัวนักศึกษาได้เลยไหมคะ นักศึกษาแต่ละคนที่เข้าระบบ ก็จะได้ตอบคำถามไปทีเดียว และแยกวิเคราะห์ข้อมูลได้ถึงระดับภาควิชาเลย คิดว่าไม่น่ายาก และทำตอนนี้ก็น่าจะยังทัน
คงต้องตอบคุณ มอนลี่ คุณ นงเยาว์ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ครับ แบบสอบถามมี 2 ส่วน
- ส่วนแรกเป็นแบบสอบถามตามที่ สกอ. ต้องการ ส่วนนี้บิดพริ้วไม่ได้ครับ เพราะ สกอ. เองก็ต้องรับรองกับ กพร. ทุกมหาวิทยาลัยต้องทำเหมือนกัน ส่วนนี้จะถามเกี่ยวกับการได้งานทำ การตกงาน การศึกษาต่อ อาชีพ เงินเดือน ซึ่งเข้าใจว่าครอบคลุมตามที่ กพร.ต้องการ
- ส่วนที่สอง เมื่อเรามองในภาพมหาวิทยาลัย ภาพที่ได้จะเป็นการบริการด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัยในภาพรวม และความพึงพอใจของบัณฑิตที่มีต่อมหาวิทยาลัยครับ
- เป็นการยากที่จะเอาคำถามจากทุกคณะมารวมด้วย เนื่องจากความต้องการของทุกคณะไม่เหมือนกัน และหากจะทำกันจริงๆ คงต้องใช้เวลาอีกมากครับ
คุณ mandala ยังนำเสนอองค์ความรู้อีกหลายกระบุง ทำให้ผู้ติดตามเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น ต้องขอบคุณแล้วครับ วันไหนลงแขกมาบอกกันบ้างครับ จะช่วยอีกแรง ^_^
พี่ อัมพร ยังตามติดเทคโนโลยีกันไม่เปลี่ยนแปลง ดูท่าจะเห็นระบบงานดิจิตอลอีกหลายระบบครับ
- ขอบคุณ น้องบุญส่ง ค่ะ ที่ให้ความชัดเจน
- สำหรับในส่วนของคณะฯ ในวันซ้อมรับปริญญา คณะฯ จะเตรียมความพร้อมในด้านเครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับให้บัณฑิตที่ยังไม่กรอก หรือ กรอกข้อมูลแล้ว แต่ยังไม่ Print สามารถมาบริการที่คณะฯ ได้
- สำหรับข้อมูลที่คณะฯ ขอเพิ่มเติม คงจะเป็นข้อมูลที่ลงลึกในแต่ละสาขาวิชา แต่จะพยายามให้บัณฑิต กรอกข้อมูลน้อยที่สุดค่ะ
- ขอบคุณ น้องเอ (mbunsong) น้องอาร์ (mandala) ในการนำเสนองานสำคัญเรื่องนึงของ ม.อ. คือ การได้งานทำของบัณฑิต ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของ output คือบัณฑิต โดยผู้กำหนดตัวชี้วัดมองว่า หากบัณฑิตที่ผลิตได้ ออกสู่ตลาดแรงงานหรือสังคม แล้วสามารถมีงานทำ เป็นความสำเร็จของม./ส.ที่ทำหน้าที่ผลิต และจะสำเร็จบรรลุ outcome ได้เมื่อบัณฑิตทุกท่านได้ทำงานตรงกับสาขาที่เรียน
- สำหรับความเห็นของท่านอจ.นงเยาว์ และน้องมอนลี่ อาจเป็นไปได้ ถ้าความต้องการของคณะไม่ต่างกันมาก แต่ถ้าแต่ละคณะมีความต้องการถามไปคนละเรื่อง คงต้องใช้เวลามากในการดำเนินการค่ะ ข้อมูลที่บัณฑิตกรอกแล้วในปีนี้ ทางคณะลองศึกษาข้อคำถามต่างๆ ดูนะคะ ถ้าคิดว่าข้อมูลที่บัณฑิตกรอกแล้ว คณะใดสนใจจะนำไปวิเคราะห์เสนอ ลงรายละเอียดเป็นสาขาวิชา สามารถติดต่อขอcopyได้ค่ะ
- สุดท้ายสำหรับบัณฑิตทุกท่าน ถ้าท่านกรอกข้อมูลไปแล้ว และท่านได้งานทำหลังวันที่ท่านป้อนข้อมูลแล้ว ขอความกรุณาเข้าไป update ข้อมูลให้ด้วยนะคะ เพื่อประโยชน์ของ ม.อ. เรา ขอบคุณบัณฑิตทุกท่าน ฝากบอกต่อถึงบัณฑิตทุกท่านด้วยนะคะ ขอบคุณมากๆๆค่ะ
29 สิงหาคม 2551 08:22
#34888