ความเห็น: 2
ปุจฉา-วิสัชณา ว่าด้วย "ทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับนักวิจัย"
ปุจฉา-วิสัชณา ว่าด้วย "ทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับนักวิจัย" |
1. หากเราต้องการตีพิมพ์ผลงานและยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรด้วย สามารถทำได้หรือไม่?
ตอบ ได้ แต่เราต้องดำเนินการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ให้เสร็จก่อน ถึงจะส่งผลงานไปตีพิมพ์ได้
2. เราต้องรอให้ได้รับหมายเลขทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ก่อนหรือไม่ ถึงจะได้รับความคุ้มครอง?
ตอบ ไม่ต้อง (เพราะกว่าจะได้รับหมายเลขทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ใช้เวลานานมาก) แต่ควรรอให้ได้รับเลขที่คำขอที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้ก่อนจึงจะได้รับความคุ้มครอง
3. กว่าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะออกเลขที่คำขอให้ใช้เวลานานแค่ไหน?
ตอบ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ IPOP ส่งเรื่องไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา
4. นานแค่ไหนตั้งแต่นักวิจัยส่งร่างคำขอสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร มายังเจ้าหน้าที่ IPOP แล้ว เจ้าหน้าที่ IPOP ถึงจะยื่นเรื่องไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา?
ตอบ ระยะเวลานานแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับความช้าหรือเร็วของผู้เชี่ยวชาญที่ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น (ซึ่งตามข้อตกลงผู้เชี่ยวชาญจะต้องทำการตรวจสอบเบื้องต้นให้เสร็จภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับเรื่องที่เจ้าหน้าที่ IPOP ส่งไปให้) และตัวนักวิจัยเองซึ่งต้องแก้ไขร่างคำขอสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร นั้น (ตาม diagram ข้างล่างนี้) http://www.psu-bic.psu.ac.th/content/images/stories/document/IP%20for%20Researcher%20.doc
5. ทำอย่างไรไม่ให้หน่วยงานเอกชนที่รับจ้างผลิต Model ต้นแบบงานวิจัยของเรา นำผลงานเราไปเปิดเผยให้บุคคลหรือองค์กรที่ 3 รู้?
ตอบ เราต้องให้หน่วยงานเอกชนที่รับจ้างผลิต Model ต้นแบบงานวิจัยของเราลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูล (Non-Disclosure Agreement) ระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง
6. แล้วจะสามารถหาบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูล (Non-Disclosure Agreement :NDA) ระหว่างผู้ว่าจ้างและ ผู้รับจ้าง ได้ที่ไหน?
ตอบ สามารถเข้าไป Load ได้ที่ website ของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (https://www.psu-bic.psu.ac.th)
7. แล้วถ้ามีผู้เข้าขอชมผลงาน/สิ่งประดิษฐ์ของเราล่ะ มีบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูล (NDA) ที่จะให้บุคคลผู้เข้าชมผลงาน/สิ่งประดิษฐ์ ลงนามด้วยรึเปล่า?
ตอบ มีค่ะ โดยนอกจากจะมี NDA ระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างแล้ว ยังมี NDA ของผู้ขอข้อมูลการประดิษฐ์ / ผู้มาเยื่ยมชมผลงานการประดิษฐ์ กับศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ NDA ผู้เข้าร่วมอบรม / ผู้เข้าร่วมเสวนา กับศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วย ซึ่งนักวิจัยสามารถนำไปปรับร่างให้เข้ากับหน่วยงานของตนเองได้
8. หากนักวิจัยเผยแพร่ผลงานวิจัยของตนเองไปแล้ว ยังสามารถยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาได้อีกหรือไม่?
ตอบ โดยทั่วไปแล้วไม่สามารถยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาได้อีก ยกเว้นหากเป็นสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร หากเป็นการเผยแพร่ในงานที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัด สามารถไปยื่นจดทะเบียนย้อนหลังได้แต่ต้องไม่เกิน 12 เดือน นับจากวันแสดงผลงานครั้งแรก โดยวันที่งานวิจัย/สิ่งประดิษฐ์นั้นได้รับความคุ้มครองจะย้อนไปคุ้มครองตั้งแต่วันที่แสดงผลงานครั้งแรกนั้นด้วย
9. แล้วมีวิธีใดบ้างที่จะทำให้สามารถยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาได้อีก ภายหลังจากนักวิจัยเผยแพร่ผลงานวิจัยของตนเองไปแล้ว?
ตอบ มีวิธีเดียวคือ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีของเราให้มากขึ้นอีก
10. ในการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร นักวิจัยต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
ตอบ 1) ถ้าเป็นนักวิจัย อาจารย์ หรือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ตามประกาศคณะกรรมการสิทธิบัตร เรื่อง กำหนดรายชื่อหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ฉบับลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 แต่ทั้งนี้นักวิจัย อาจารย์ หรือนักศึกษาผู้ประดิษฐ์ผลงาน/นวัตกรรมนั้นๆ จะต้องโอนสิทธิความเป็นเจ้าของในผลงาน/นวัตกรรมนั้นๆ ให้เป็นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก่อน ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 ในหมวดที่ 2 ส่วนที่1 มาตรา 11 ซึ่งมีใจความว่า “สิทธิขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ซึ่งลูกจ้างได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยการทำงานตามสัญญาจ้าง หรือโดยสัญญาจ้างที่มีวัตถุประสงค์ให้ทำการประดิษฐ์ย่อมตกได้แก่นายจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างจะระบุไว้เป็นอย่างอื่น ความในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ลูกจ้างที่ทำการประดิษฐ์สิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยการใช้วิธีการสถิติหรือรายงานซึ่งลูกจ้างสามารถใช้หรือล่วงรู้ได้เพราะการเป็นลูกจ้างตามสัญญานั้น แม้ว่าสัญญาจ้างจะมิได้เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์”
2) ถ้าเป็นบุคลหรือหน่วยงานอื่นจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร พ.ศ.2547 ซึ่งสามารถอ่านได้จาก website ของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (https://www.psu-bic.psu.ac.th)
11. แล้วถ้าหากผลงาน/นวัตกรรม นั้นๆ สามารถนำออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ล่ะ นักวิจัย อาจารย์ หรือนักศึกษาผู้ประดิษฐ์ผลงาน/นวัตกรรมนั้นๆ จะได้รับค่าตอบแทนบ้างรึเปล่า?
ตอบ ได้ค่ะ ตามประกาศมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่อง อัตราการจัดสรรผลประโยชน์อันเกิดจากการประดิษฐ์ พ.ศ.2547 ได้มีการจัดสรรผลประโยชน์อันเกิดจากการประดิษฐ์เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นธรรมให้แก่บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอัตราดังนี้
1) ผู้ประดิษฐ์ ได้รับร้อยละ 80 ของรายได้สุทธิ
2) ภาควิชาหรือหน่วยวิจัยที่ผู้ประดิษฐ์สังกัด ได้รับร้อยละ 10 ของรายได้สุทธิ
3) คณะที่ผู้ประดิษฐ์สังกัด ได้รับร้อยละ 6 ของรายได้สุทธิ
4) มหาวิทยาลัยได้รับร้อยละ 2 ของรายได้สุทธิ
5) หน่วยทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับร้อยละ 2 ของรายได้สุทธิ
โดย คำว่า “รายได้สุทธิ” ในประกาศนี้หมายถึง รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของเจ้าของทุน (ถ้ามี) รวมถึงส่วนแบ่งของเจ้าของทุนในการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกันในกรณีสิทธิบัตรร่วม และค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามที่กำหนดในข้อ 10 ในระเบียบมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่าด้วยการดำเนินการด้านสิทธิบัตรหรือ อนุสิทธิบัตรอันเกิดจากการประดิษฐ์ พ.ศ.2547 ซึ่งประกอบด้วย
1) ค่าใช้จ่ายเพื่อการจดทะเบียนและขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นใดอันเกี่ยวกับการขอหรือการรักษาสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร
2) ค่าใช้จ่ายที่ผู้ประดิษฐ์ใช้จ่ายไปโดยทุนส่วนตัวเพื่อการวิจัยและพัฒนาโดยมีหลักฐานการจ่าย
3) ค่าใช้จ่ายการบริหารเพื่อการจัดหาผลประโยชน์จากสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร
4) ค่าใช้จ่ายใดๆ ในการคุ้มครองหรือรักษาสิทธิในงานที่มิได้จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรและในการเจรจาต่อรองหรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนจากการใช้หรือหาประโยชน์จากงานที่มิได้จดทะเบียนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร โดยมีหลักฐานการจ่าย
12. นักวิจัยหลายคนไม่ค่อยทราบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา จะสามารถหาข้อมูลได้ที่ไหนบ้าง?
ตอบ เข้าไปอ่านที่หน้า website ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา (http://www.ipthailand.org) หรือ website ของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (https://www.psu-bic.psu.ac.th) หรือwebsite ของต่อยอดดอทคอม (http://www.toryod.com) ก็ได้ค่ะ นอกจากนี้ที่หน้า website ของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังมีข่าวประชาสัมพันธ์การอบรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานทรัพย์สินทางปัญญาที่ศูนย์บ่มเพาะฯ เป็นผู้จัดอยู่เป็นประจำด้วยค่ะ
บันทึกอื่นๆ
- ใหม่กว่า » ขั้นตอนการรับบริการในการยื่นคำขอ...
ความเห็น
สวัสดีค่ะ Natchaya999 คนเดิมนะคะ ตอนนี้เปลี่ยนแนวแล้วค่ะ ท่านใดสนใจเคล็ดลับการเลี้ยงแมว กระต่าย แฮมเตอร์ และอื่นๆ สามารถเข้ามาเยี่ยมชมสาระน่ารู้และเคล็ดลับการเลี้ยงได้ที่
http://share.psu.ac.th/profile/natchayamon.t
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมเยอะๆ นะคะ
25 กันยายน 2552 21:32
#48771
Natchaya น่ารักจัง เขียนดี อ่านแล้วเคลียร์ขึ้นเยอะเลยครับ
หาอ่านมาสามสี่ชั่วโมงแล้ว มาเจออันนี้เข้า รู้เรื่องเลย ขอบคุณนะครับ