ความเห็น: 0
โครงการพัฒนางาน กับการพัฒนาตนเอง
หน้าที่พัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาทุกคน
หน้าที่จัดระบบหรือพัฒนางานเป็นหน้าที่ของหัวหน้างาน ทุกระดับ
หน้าที่พัฒนาองค์กรเป็นหน้าที่ของทุกคนในองค์กร
ที่กล่าวข้างต้นน่าจะถูกทุกข้อ
การพัฒนางานแท้จริงคือความต้องการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพงาน เริ่มแรกเราต้องวินิจฉัยว่างานนี้ระบบนี้ติดขัดที่ตรงไหน สภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร แล้วลงมือเขียนอธิบายความคิดจากในหัวของตัวเองลงสู่กระดาษ...เป็นเค้าโครงร่างโครงการพัฒนางานออกมาให้คนอ่าน คนร่วมทำเข้าใจนั่นเอง
โครงการพัฒนางานสำนักงานอธิการบดีถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547มีผลทำให้เป็นแรงผลักให้ทุกงานมีการปรับตัวไม่หยุดอยู่กับที่ ยิ่งได้รับการบำรุงใส่ปุ๋ยเร่งให้งอกงามจากองค์กร การพัฒนาไปสู่คุณภาพที่ดีกว่าก็ยิ่งจะกลายเป็นธรรมชาติขององค์กรนั้นๆแม้ว่าการพัฒนางานจะมีต้นกำเนิดมาจากการแยกกันคิดช่วยกันพัฒนาจากปัญหาที่หน้างาน อย่างไรก็ตามก็ต้องมีทิศทาง ทิศทางนั้นอาจมาจากผู้นำในองค์กร มาจากนโยบาย จากแนวทางที่องค์กรอยากเห็นและอยากให้เป็น ทั้งนี้ในการเขียนเป็นโครงการต้องเชื่อมโยงให้เห็นเป็นลำดับ
การเริ่มต้นทำโครงการพัฒนางานต้องเริ่มที่
1. มีใจจะพัฒนา เป็นอันดับแรกก่อนเลย
2.ตรวจสอบงานของตัวเองว่าอ่อนหรือจุดที่จะพัฒนาให้เข้มแข็งกว่านี้ได้อยู่ตรงไหน ตรงนี้อาจทำยากนักเพราะเรามักมีความชาชินกับงานของเราเอง การมองปัญหาก็จะมองอย่างเข้าใจ จึงหาเหตุลึกๆไม่พบ หรือพบก็พัฒนา หรือรักษาไม่ได้ เนื่องจากเราพยายามจะอธิบายให้เหตุผลแบบเข้าใจตัวเองไปเสีย ทุกข้อ ทุกประเด็นปัญหาสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขก็ไม่ได้แก้ไข สุดท้ายคือไม่ได้พัฒนา
3.ตั้งเป้าหมายความสำเร็จไว้เป็นช่วงๆ หากเป็นโครงการใหญ่ๆ ที่ตั้งใจรื้อแก้ระบบออกแบบใหม่ ก็ควรกำหนดเป้าหมายความสำเร็จไว้เป็นช่วงๆ บางโครงการอาจใช้เวลาไม่นาน ลงมือทำก็แก้ได้ทันทีเช่นการนำระบบสารสนเทศมาช่วยในการทำงาน แก้เรื่องความรวดเร็ว ลดขั้นตอนได้ทันที แต่จุดอ่อนก็คือ คนหน้างานส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนโปรแกรมเป็น ทำให้มีต้นทุนในการจ้างโปรแกรมเมอร์ คิดเขียนโปรแกรมพัฒนาโปรแกรม
4.ระบุตัววัดความสำเร็จให้ชัดเจนเพื่อเมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะได้วัดผลง่ายว่า...ประสิทธิผลของโครงการเป็นไปอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคระหว่างทางอย่างไรเป็นแนวให้คนอื่นเรียนรู้ว่าโครงการที่คิดพัฒนานี้ควรปรับปรุง...ขั้นตอนกระบวนการอย่างไรหาก มีการนำไปใช้ในอีกหน่วยงานโดยไม่ต้องคิดจากฐาน 0
5.การเขียนรายงานผลก็สำคัญคนที่เกี่ยวข้องกับรายงานผลคือกรรมการ(ผู้บริหาร)จะมองเห็นความคืบหน้าของการพัฒนาองค์กรในภาพรวมผ่านการรายงานผล เชื่อมโยงกัน กับการจ่ายค่าตอบแทนโครงการตามผลงาน ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรายงานผลคือผู้ที่ได้รับฟังการนำเสนอโครงการพัฒนางาน ซึ่งในแต่ละปีจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันถึง แรงบันดาลใจที่คิดทำโครงการพัฒนางานโครงการ ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการอยู่ตรงไหนและที่สำคัญคือปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะและสิ่งที่ภาคภูมิใจจากการทำโครงการคืออะไร อยู่ตรงไหน ในขั้นตอนการทำ..
6.ต้องมีทิศทาง ทิศทางอาจมาจากผู้นำหน่วยงานนโยบาย จากแนวทางที่องค์กรอยากเห็นและอยากให้เป็น ทั้งนี้ในการเขียนเป็นโครงการต้องเชื่อมโยงให้เห็นเป็นลำดับจนถึงวันนี้ไม่ทราบว่า...ท่าน ผอ. ท่านหัวหน้างานได้ให้นโยบาย หรือทิศทางการจัดทำโครงการพัฒนางานสู่ทีมงานแล้วหรือยัง
ทั้งนี้การมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจัดทำโครงการพัฒนางานก็สามารถนับเป็นหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรได้ในทุกขั้นตอนเช่นกัน
ขั้นที่ 1 พัฒนาการวิเคราะห์ปัญหาที่หน้างาน
ขั้นที่ 2 พัฒนาการเขียนโครงการ
ขั้นที่ 3 พัฒนาความมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ ในการทำโครงการ
ขั้นที่ 4 พัฒนาภาวะผู้นำในตนเอง
ขั้นที่ 5 พัฒนาการแก้ไขปัญหาในการจัดทำโครงการและการตัดสินใจ
ขั้นที่ 6 พัฒนาการประสานงาน ทำงานเป็นทีมกับผู้เกี่ยวข้อง
ขั้นที่ 7 พัฒนาทักษะการนำเสนอ พัฒนาการเขียนรายงานผลโครงการและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เล่าสู่กันฟัง
เห็นประโยชน์หลายๆ ขั้นหลายชั้นอย้างนี้แล้วเชิญชวนให้ทุกท่านทำโครงการพัฒนางานกันนะคะ ท่านสามารถอ่านรายละเอียดโครงการพัฒนางาน 2554 ที่นี่ค่ะ
โครงการพัฒนางานสำนักงานอธิการบดีประจำปีงบประมาณ 2554 นี้
มติที่ประชุมกรรมการให้กำหนดส่งกันในวันที่ 22 พ.ย. 53
จากนั้นกรรมการพิจารณาโครงการและแจ้งผลให้ทราบ 17 ธ.ค. 53
หนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการคาดว่าจะส่งได้ในวันจันทร์ที่ 8 พ.ย.53 นี้
วันนี้นั่งเขียนโครงการพัฒนางานเพื่อเตรียมส่งเป็นโครงการพัฒนางาน ปี 2554 ของงานพัฒนาฯซึ่งปีนี้มีงานตามสั่ง(สั่งนักสั่งหนา)จัดทำคู่มือลาศึกษา ดิฉันเขียนโครงการ ทีมงานถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ ออกมาเป็นคู่มือ ดิฉันตรวจทาน..เสนอแนะปรับเข้ารูปแบบการเป็นคู่มือ
มีความสุขกับการทำงานนะคะ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « เขียนไว้ในวัน...แดดออก
- ใหม่กว่า » บันทึกแนะนำ แนะนำอะไร
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้