ความเห็น: 1
เรื่องของดิน กับหน้าที่ของเรา
อาจหายหน้าหายตาไปนาน ไม่ได้เข้ามาทักทายชานชาลา ซะนาน แต่เมื่อถึงเวลาที่ว่าง ก็ไม่ลืมที่จะเก็บเอาเรื่องราวดีๆ มาบอกเล่าผ่าน Blog ให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ
ว่าด้วยเรื่องของ “ดิน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ตาดำๆอย่างเราด้วย และที่ขาดไม่ได้คือสิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้ผลิตในห่วงโซ่อาหาร ดินถือเป็นปัจจัยพื้นที่ที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของพืช ซึ่ง “ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกและการเจริญเติบโตของพืชก็จำเพาะเจาะจงกับชนิดของพืชและคุณสมบัติของดิน “ แล้วดินที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมล่ะ เราควรจะดำเนินการอย่างไร ถ้าคำตอบของนักวิชาการอย่างเราๆ ตอบชาวบ้านว่า “ก็ดินไม่ดี ก็อย่าไปปลูกอะไรเลย ปลูกไปมันก็ไม่ขึ้น” แล้วจะมีนักวิชาการไปเพื่ออะไร???
สภาพพื้นดินของเกษตรกรที่มีสภาพเป็นดินดาน แน่นแข็ง น้ำไหลซึมผ่านได้ยาก จะทำให้พืชมีการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า ต้นแคระแกรน ใบเหลือง รากไม่สามารถออกไปหากินได้ไกล ๆ และทำให้พืชอ่อนแอต่อโรคและแมลงได้ง่าย และในการที่น้ำท่วมขังนาน ๆ อาจจะก่อให้เกิดปัญหารากของพืชขาดอากาศหายใจ และนำมาซึ่งสาเหตุที่ทำให้เชื้อราโรคพืชเข้ามาทำลาย ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องรากเน่าโคนเน่าอันเป็นสาเหตุที่ทำให้พืชผักไม้ผลของพี่น้องเกษตรกรเสียหายหรือตายได้
ในกรณีที่ดินของเราแน่นแข็งในเบื้องต้นอาจจะต้องแก้ไขด้วยการปรับปรุงสภาพดินให้มีโครงสร้างของดินที่ดีเสียก่อนโดยการเติมอินทรียวัตถุเพิ่มลงไปในดินให้เพียงพอเสียก่อน เช่น การใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกที่ได้จากธรรมชาติ คือมูลสัตว์ที่ได้จากการเลี้ยงเป็ด ไก่ ห่าน ช้าง ม้า วัว ควาย ที่มีอยู่ในหมู่บ้านของเรา หรือปุ๋ยพืชสดที่ได้จากพืชรายได้ของเราก้ได้
ที่พรรณามาทั้งหมดเพื่อจะพาไปดู ส่วนหนึ่งของพื้นที่สถานีวิจัยคลองหอยโข่ง คณะทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งประสบปัญหาหน้าดินตื้น และมีชั้นดินดานแข็ง ทำให้ปลูกพืชไปก็มีการเจริญเติบโตไม่ดี ในเมื่อเรารู้ปัญหากันแล้วว่า ปัญหาของดินตรงนี้คือ หน้าดินตื้น เราก็ควรจะต้องเพิ่มหน้าดินให้หนาขึ้นถึงจะถูกต้องใช่หรือไม่ วิธีการทางธรรมชาติในการเพิ่มหน้าดินและปรับโครงสร้างดิน ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ การเพิ่มอินทรียวัตถุลงไปในดิน พี่ปฐมพงศื วงษ์เลี้ยง พี่ใหญ่ของเราได้ดำเนินการปลูกพืชระกูลถั่ว ได้แก่ ปอเทือง คลุมพื้นที่แล้วไถกลบไปแล้วหนึ่งรอบ ก็ทำให้หน้าดินมีโครงสร้างดินที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากปอเทืองมีส่วนที่เป็นเยื่อใยลำต้นน้อย เราจึงลงพื้นที่กันอีกรอบเพื่อปลูกข้าวโพด ซึ่งนอกจากจะเก็บเกี่ยวผลผลิตฝักได้แล้ว ส่วนที่เป็นต้นยังให้อินทรียวัตถุชั้นดีแก่ดินได้ด้วย แล้วความคืบหน้าหลังการดำเนินการจะเป็นอย่างไร จะนำมาฝากกันคราวหน้านะคะ
28 กุมภาพันธ์ 2559 15:56
#104778
รออ่าน รอCOPY นำไปขยายผลต่อ
..มาจากดิน..