ความเห็น: 0
การป้องกันและรักษา(หน้ากรีด)ยางพาราเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนชุก ตอนที่ 4
ต่อๆๆ !!! ต่อจาก ตอนที่ 1, ตอนที่ 2 และตอนที่ 3 ที่ผ่านมานะคะ เป็นไงล่ะ รู้จักหลายโรคที่เข้าทำลายยางพาราในช่วงหน้าฝนกันบ้างรึยัง ยังนะ ยังไม่หมดเท่านั้น ยังมีอีกหางว่าว ไปดูต่อกันเลยค่ะ
*****************************************
โรคราสีชมพู (Pink disease)
เข้าทำลายต้นยางพาราที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป หรือเมื่อต้นยางเริ่มสร้างทรงพุ่ม โดยเฉพาะตรงบริเวณคาคบทำให้ต้นยางแคระแกร็น ไม่สามารถเปิดกรีดได้เมื่อถึงกำหนด ถ้าเชื้อเข้าทำลายคาคบอย่างรุนแรง อาจทำให้ต้นยางพารายืนต้นตาย
สาเหตุของโรคราสีชมพู
เกิดจากเชื้อรา Corticium salmonicolor Berk. & Br.
ลักษณะอาการของโรคราสีชมพู
เริ่มแรกเปลือกบริเวณคาคบ กิ่งก้าน และลำต้น จะปริแตกมีน้ำยางไหลติดอยู่ตามเปลือก เมื่ออากาศชื้นจะเห็นเส้นใยสีขาวที่ผิวเปลือกยาง แผลจะขยายเป็นบริเวณกว้างออกไป เมื่อเชื้อเจริญเต็มที่จะมองเห็นเป็นสีชมพู ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อเจริญเข้าไปในเปลือกและลุกลามไปยังลำต้น ทำให้เปลือกแตกและกะเทาะออก น้ำยางไหลออกมาจับตามกิ่งก้านและลำต้นเป็นทาง เมื่อน้ำยางแห้งจะมีราดำเข้าจับเห็นเป็นทางสีดำ ใต้บริเวณแผลจะมีการแตกกิ่งใหม่ขึ้นเหมาะสม เชื้อราจะพักตัว สีชมพูที่เคยปรากฏจะซีดลงจนเป็นสีขาว เมื่อถึงฤดูฝนปีถัดไป จะเริ่มเจริญลุกลามต่อไป
การแพร่ระบาดของโรคราสีชมพู
โรคนี้ระบาดรุนแรงในสภาพอากาศชุ่มชื้น มีปริมาณน้ำฝนสูง เมื่ออากาศแห้ง เชื้อราจะพักตัวและเจริญลุกลามต่อในฤดูฝนปีถัดไป เชื้อราระบาดโดยลม และฝน
พืชอาศัยของเชื้อราโรคราสีชมพู
กาแฟ โกโก้ ชา มะม่วง ขนุน ทุเรียน เงาะ
การป้องกันกำจัดของโรคราสีชมพู
- ดูแลรักษาสวนยางพาราให้โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อับชื้น
- ไม่ควรปลูกพืชอาศัยเป็นพืชร่วมยางหรือพืชแซมยางพารา
- ต้นยางพาราอายุน้อย ถ้าเป็นโรครุนแรงจนถึงกิ่งแห้งตาย และมีกิ่งใหม่งอกใต้รอยแผล ควรตัดแต่งกิ่งแห้งตายทิ้ง โดยตัดให้ต่ำกว่ารอยแผลประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วทาสารเคมีเคลือบบาดแผล
- ต้นยางพาราที่ยังไม่เปิดกรีด เมื่อเป็นโรคแนะนำให้ใช้สารเคมีบอร์โดมิกซ์เจอร์ (Bordeaux mixture) ที่มีอัตราส่วนผสมจุนสีหนัก 120 กรัม ปูนขาวหนัก 240 กรัม (ถ้าเป็นปูนเผาใหม่ใช้ประมาณ 150 กรัม) ผสมน้ำ 10 ลิตรโดยผสมใหม่ๆ ทาบริเวณที่เป็นโรค ไม่แนะนำให้ใช้กับต้นยางพาราที่เปิดกรีดแล้ว เนื่องจากสารทองแดงซึ่งเป็นส่วนผสมของบอร์โดมิกซ์เจอร์ จะไหลลงไปผสมกับน้ำยางที่กรีดได้ ทำให้คุณภาพนำยางเสื่อมลง
- เมื่อตรวจพบที่เป็นโรคให้ขูดเปลือกบริเวณรอยแผลออกก่อนแล้วทาสารเคมี เช่น
- เบโนมิล (benomyl) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น เอพรอน 50% WP โดยใช้ในอัตรา 50-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ขูดเปลือกบริเวณรอยแผลออก
- ไตรดีมอร์ฟ (tridemorph)ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น คาลิกซิน 70% EC โดยใช้ในอัตรา 60-120 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วทาสารเคมี
************************************************
โรคใบจุดนูน (Colletotrichum leaf spot)
โรคนี้เข้าทำลายใบอ่อนของต้นยางได้ทุกระยะการเจริญเติบโตและเกิดได้ตลอดทั้งปี แต่จะรุนแรงในสภาพอากาศขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดใบร่วง และการตายจากยอดในยางพันธุ์อ่อนแอ
สาเหตุโรคใบจุดนูน
เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Soce.
ลักษณะอาการโรคใบจุดนูน
ใบยางอ่อนที่ถูกเชื้อราเข้าทำลาย ปลายใบจะบิดงอ เหี่ยวเน่าดำ และหลุดร่วงในระยะใบเพลลาด ใบบางส่วนอาจบิดงอ และพบจุดแผลสีน้ำตาล ขอบแผลสีเหลือง ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เมื่อใบยางมีอายุมากขึ้น จุดเหล่านี้จะนูน เนื้อเยื่อตรงกลาง แผลอาจทะลุเป็นรู ถ้าระบาดรุนแรงอาจพบแผลบนกิ่งอ่อนหรือยอดอ่อน และทำให้เกิดอาการตายจากยอดได้
การแพร่ระบาดของโรคใบจุดนูน
ระบาดรุนแรงกับยางที่แตกใบอ่อน ในช่วงที่มีฝนตกชุก ความชื้นสูง เชื้อแพร่ระบาดโดยน้ำฝน ลม และแมลง
พืชอาศัยของเชื้อราโรคใบจุดนูน
อาโวกาโด โกโก้ กาแฟ ชา ส้ม กล้วย มะละกอ
การป้องกันกำจัด
ต้นยางที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ใช้สารเคมีพ่นบนใบยางเมื่อเริ่มพบการระบาด
- ไซเนบ(zineb) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น ไซเนบ 80% WP โดยใช้ในอัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นบนใบยางอ่อนทุก 5 วัน ประมาณ 5-6 ครั้ง
- คลอโรธาโลนิล(chlorothalonil) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น ดาโคนิล 75% WP โดยใช้ในอัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นบนใบยางอ่อนทุก 5 วัน ประมาณ 5-6 ครั้ง
- เบโนมิล(benomy) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น เบเลท 50% WP โดยใช้ในอัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นบนใบยางอ่อนทุก 5 วัน ประมาณ 5-6 ครั้ง
- โพรพิเนบ(propineb) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น แอนทราโคล 75% WP โดยใช้ในอัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นบนใบยางอ่อนทุก 5 วัน ประมาณ 5-6 ครั้ง
************************************************************************************************
โรคใบร่วงและฝักเน่า(Phytophthora leaf fall)
ทำความเสียหายแก่ต้นยางทั้งยางเล็กและยางใหญ่ โดยเข้าทำลายได้ทั้งฝักยาง ใบและก้านใบ และเป็นแหล่งเชื้อที่สามารถแพร่ระบาดเข้าทำลายหน้ากรีด เกิดอาการโรคเส้นดำได้
สาเหตุของโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปโทร่า
เกิดจากเชื้อรา Phytophthora botryose Chee. P. palmivora (Butl.) Butl. P. nicotianae Van Breda de Haan var. parasttica (Dastur) Waterhouse
ลักษณะอาการของโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปโทร่า
สังเกตอาการได้เด่นชัดที่ก้านใบ โดยปรากฏรอยแผลซ้ำสีน้ำตาลเข้มถึงดำตามความยาวของก้านใบ แผลบริเวณที่เป็นทางเข้าของเชื้อมีหยดน้ำยางเล็กๆ เกาะติดอยู่ เมื่อนำใบยางเป็นโรคมาสะบัดไปมาเบาๆ ใบย่อยจะหลุดทันที ซึ่งต่างจากใบยางที่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ เมื่อนำมาสะบัดไปมาใบย่อยจะไม่ร่วง บางครั้งแผ่นใบอาจเป็นแผลสีน้ำตาลเข้มถึงดำมีลักษณะช้ำน้ำ ขนาดของแผลไม่แน่นอน นอกจากนี้เชื้อสามารถเข้าทำลายฝักยางได้ทุกระยะ ทำให้ฝักเน่า ถ้าความชื้นในอากาศสูงจะพบเชื้อราสีขาว เจริญปกคลุมฝัก ฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำค้างอยู่บนต้น ไม่แตกและร่วงหล่นตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งเชื้อโรคในปีถัดมา
การแพร่ระบาดของโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปโทร่า
เชื้อราแพร่ระบาดโดยลมและฝน ความรุนแรงของการเกิดโรคขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน และจำนวนวันฝนตก เชื้อนี้ต้องการน้ำเพื่อการขยายพันธุ์ จึงระบาดได้ดีในสภาพอากาศเย็น ฝนตกชุก มีความชื้นสูงต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4 วัน โดยที่มีแสงแดดน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน
พืชอาศัยของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคใบร่วงไฟทอปโทร่า
ทุเรียน ส้ม พริกไทย ปาล์ม โกโก้
การป้องกันกำจัดโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปโทร่า
- ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อราเป็นพืชแซมยาง
- กำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยางพาราให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในสวนยาง
- หากระบาดกับต้นยางที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี
- เมทาแลกซิล(metalaxyl) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น เอพรอน 35% SD โดยใช้ในอัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นพุ่มใบเมื่อเริ่มพบการระบาด ทุก 7 วัน
- ฟอสเอทธิล อลูมินั่ม(fosetyl-Al) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น อาลีเอท 80% WP โดยใช้ในอัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นพุ่มใบเมื่อเริ่มพบการระบาด ทุก 7 วัน
ต้นยางใหญ่ที่เป็นโรคอย่างรุนแรงจนใบร่วงหมดต้น ให้หยุดกรีดยาง และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้