ความเห็น: 0
ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน
ปาล์มน้ำมัน นอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นพืชพลังงาน และเป็นอาหารของมนุษย์แล้ว ปาล์มน้ำมันยังมีความสำคัญต่อการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกสร้างสวนปาล์มจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผผลผลิต สามารถที่จะใช้สัตว์เคี้ยวเอื้องในการช่วยเตรียมดิน กำจัดวัชพืชโดยการปล่อยแทะเล็ม ใช้เป็นแรงงานในการบรรทุกผลผลิตออกจากสวน หรือแม้กระทั่งมูลที่สัตว์ขับถ่ายออกมา เกษตรกรก็สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยสำหรับสวนปาล์มน้ำมันได้อีก เป็นการลดต้นทุนการผลิต ทั้งค่าเตรียมดิน กำจัดวัชพืช และค่าปุ๋ยเคมี นอกจากนั้นทางใบปาลืมน้ำมันที่เกิดจากการตัดแต่งทะลายปาล์มน้ำมันสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ เมื่อผลผลิตปาล์มน้ำมันถูกส่งเข้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ แบบโบราณ และแบบมาตรฐาน โดยกระบวนการผลิตแบบโบราณ (หีบแห้ง) จะรับซื้อเฉพาะผลปาล์มสดเท่านั้น การหีบน้ำมันจะหีบทั้งผล น้ำมันที่สกัดได้เป็นน้ำมันผสมระหว่างน้ำมันปาล์มจากเปลือก และน้ำมันเมล็ดในปาล์ม คุณภาพของน้ำมันดิบที่ได้จะต่ำ กระบวนการผลิตน้ำมันดิบอีกประเภทหนึ่ง กระบวนการผลิตแบบมาตรฐาน (หีบเปียก) โดยจะสกัดน้ำมันปาล์มจากทะลายปาล์มสด ในกระบวนการผลิตดังกล่าวจะต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก และมีเศษวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตทั้งในรูปของทะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์มน้ำมัน กะลาปาล์ม ตะกอนและน้ำเสีย ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับกระบวนการหีบสกัดน้ำมันปาล์มจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในประเทศไทยนั้นมีผลพลอยได้ที่เกิดจากกระบวนการผลิต ได้แก่ ทะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์มน้ำมัน กะลา เถ้า และกากตะกอนน้ำมันปาล์ม ซึ่งผลพลอยได้เหล่านี้ถ้าไม่มีการจัดการที่ดีจะกลายเป็นภาระของโรงงานที่จะต้องกำจัดทิ้ง อย่างไรก็ตามผลพลอยได้เหล่านี้ในปัจจุบันได้ถูกนำไปใช้ประโชน์ในด้านต่างๆ เช่น
- ทะลายปาล์มเปล่าใช้เพาะเห็ด ใช้คลุมโคนต้นปาล์มน้ำมันเพื่อรักษาความชื้นในดิน ทำเป็นปุ๋ย ไม้อัด หรือทำเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อต้มน้ำของโรงงาน
- เส้นใยปาล์มน้ำมัน ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อต้มน้ำของโรงงาน
- กะลา ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อต้มน้ำของโรงงานและถ่านกัมมันต์
- กากตะกอนน้ำมันปาล์มใช้ทำปุ๋ย และใช้เป็นอาหารสัตว์
เอกสารอ้างอิง:
วันวิศาข์ งามผ่องใส, ไชยวรรณ วัฒนจันทร์, วุฒิชัย สีเผือก และอภิชาติ หล่อเพชร. 2554. ผลการใช้ทางใบปาล์มน้ำมันร่วมกับกากตะกอนน้ำมันปาล์มในอาหารผสมสำเร็จต่อการกินได้ การย่อยได้ และมรรถนะภาพการผลิตแพะขุน. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ภาควิชาสัตวศาสตร์ สาขาการจัดการทรัพยากรการเกษตรเขตร้อน และศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทสยาเขตหาดใหญ่ จ. สงขลา.
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ผลเสียจากการเติมสารปลอมปนลงในน้ำยาง
- ใหม่กว่า » การป้องกันและรักษา(หน้ากรีด)ยางพ...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้