ความเห็น: 1
แมลงศัตรูข้าวโพดที่สำคัญ
- เพลี้ยไฟ ได้แก่
เพลี้ยไฟข้าวโพด (Frankliniellawilliamsi Hood)
เพลี้ยไฟดอกไม้ฮาวาย (Thripshawaiiensis Morgan)
เพลี้ยไฟถั่ว (Caliothrips spp.)
ชีววิทยาและวัฏจักรชีวิตของเพลี้ยไฟ
การเปลี่ยนแปลงรูปร่างในการเจริญเติบโตของเพลี้ยไฟอยู่ระหว่าง simple และ complete โดยมี 5 ระยะคือ ตัวเต็มวัย ไข่ ตัวอ่อน และดักแด้ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยสามารถเข้าทำลายข้าวโพดได้ทุกระยะการปลูก เพลี้ยไฟจะวางไข่บริเวณเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่มและไข่จะฟักใน 2-5 วัน ตัวอ่อนใช้เวลาเจริญ 5-7วันจากนั้นจะเข้าดักแด้ในดิน ตามเศษซากพืช หรือส่วนพืชซึ่งมีที่กำบัง ระยะเวลาจากไข่จนเป็นตัวเต็มวัยราว 12 วัน
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟข้าวโพด และเพลี้ยไฟถั่ว ระบาดในระยะต้นอ่อนและเมื่อฝนแล้ง ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณ ใบ ทำให้ต้นแคระแกร็น ขอบใบเป็นสีน้ำตาลเพลี้ย-ไฟดอกไม้ฮาวาย ระบาดระยะข้าวโพดออกฝัก โดยเฉพาะที่ไหมทำให้ฝักไม่ติดเมล็ด หรือทำลายฝักเสียหายเพียงเล็กน้อยแต่อาจเป็นทางเข้าของเชื้อ Fusarium spp. ทำให้ฝักเน่า
การจัดการเพลี้ยไฟ
ฉีดพ่นด้วยคาร์บาริลคาร์โบซัลแฟน มาลาไธออน คลอไพริฟอสหรืออิมิดาโคลพริดโดยหลังข้าวโพดออกฝักหรือใกล้ระยะเก็บเกี่ยวให้พ่นเฉพาะที่ฝัก
2. เพลี้ยอ่อน
เพลี้ยอ่อนข้าวโพด (Rhopalosiphummaidis Fitch)
เพลี้ยอ่อนอ้อย (Melanaphissacchari Zehntner)
ชีววิทยาและวัฏจักรชีวิตของเพลี้ยอ่อน
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายกัน ในประเทศไทยจะพบทั้งที่มีและไม่มีปีกซึ่งเป็นตัวเมียทั้งสิ้น เพลี้ยอ่อนทั้งสองชนิดออกลูกเป็นตัว อัตราการเจริญเติบโต การขยายพันธุ์ และช่วงอายุขึ้นกับอุณหภูมิ ชนิดและอายุของพืช ระยะตัวอ่อนมี 4 วัย ที่อุณหภูมิ 25-30◦ซ ใช้เวลาในการเจริญ 7-5 วัน ที่อุณหภูมิ30◦ซ ตัวเต็มวัยมีอายุได้นานราว 11 วัน
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยอ่อน
เพลี้ยอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอดอ่อน ก้านดอก ดอก และฝักข้าวโพด ทำให้ใบและยอดเหี่ยว ใบมีจุด หรือแถบสีเหลือง-แห้ง หากก้านดอกและเกสรถูกทำลายจะทำให้ไม่ออกฝักและเมล็ด เพลี้ยอ่อนยังปล่อยของเสียที่มีรสหวานทำให้เกิดราดำ และเป็นเหยื่อล่อให้ตัวเต็มวัยของหนอนกินฝักมาวางไข่มากขึ้น
การจัดการเพลี้ยอ่อน
โดยปกติในแปลงปลูกจะมีตัวห้ำและตัวเบียนคอยช่วยลดปริมาณเพลี้ยอ่อนอยู่แล้ว แต่หากมีการระบาดของเพลี้ยอ่อนในระยะก่อนออกดอกให้พ่นสารฆ่าแมลงเฉพาะจุดเมื่อพบความหนาแน่นของเพลี้ยอ่อนมากกว่า 25% ของพื้นที่ใบทั้งต้นระยะออกดอกพ่นสารฆ่าแมลงเฉพาะจุดเมื่อพบความหนาแน่นของเพลี้ยอ่อนมากกว่า 25% ของช่อดอกสารฆ่าแมลงที่แนะนำคือคาร์บาริล มาลาไธออน หรือคลอไพริฟอสหลังจากข้าวโพดติดฝักแล้วควรหลีกเลี่ยงการพ่นสารฆ่าแมลงเมื่อพบด้วงเต่าและแมลงหางหนีบซึ่งเป็นตัวห้ำของเพลี้ยอ่อน
3. ด้วงกุหลาบ (Adoretuscompressus Weber)
ชีววิทยาและวัฏจักรชีวิตของด้วงกุหลาบ
ตัวเต็มวัยมีอายุ 7-57 วัน ออกผสมพันธุ์และกัดกินใบพืชตั้งแต่พลบค่ำไปตลอดคืนแต่จะพบมากช่วง 20.00-24.00 น. ตัวเต็มวัยชอบเล่นแสงไฟ ตอนกลางวันมักหลบอยู่ในดิน กองเศษซากพืช หรือตามซอกกาบใบ ตัวเมียวางไข่ตามกองซากพืช กองมูลวัวและมูลไก่ ตัวหนอนกินดินและอินทรีย์วัตถุเป็นอาหาร ระยะหนอนประมาณ 70 วัน
ลักษณะการทำลายของด้วงกุหลาบ
ตัวเต็มวัยชอบกัดกินใบข้าวโพดระยะต้นอ่อนอายุไม่เกิน 25 วัน โดยจะกัดกินเฉพาะใบล่างๆเนื่องจากด้วงกุหลาบบินไม่ว่องไวและไม่ชอบบินสูง ในกรณีที่มีการระบาดอาจทำให้ผลผลิตลดลง
การจัดการด้วงกุหลาบ
โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัด สามารถใช้มือเก็บไปทำลายแต่หากใบถูกทำลายมากกว่า 25% ของพื้นที่ใบทั้งต้นให้ใช้คาร์บาริลฉีดพ่นและควรพ่นในช่วงเย็น
4. หนอนเจาะต้นข้าวโพด (Ostriniafurnacalis Guenee)
ชีววิทยาและวัฏจักรชีวิตของหนอนเจาะต้นข้าวโพด
ผีเสื้อวางไข่เป็นกลุ่ม 10-80 ฟอง โดยมักจะวางไข่บนต้นข้าวโพดที่มีอายุ 1-1.5 เดือน หรือระยะที่ยอดใบยังม้วนอยู่ไปจนถึงระยะออกดอก ระยะหนอน 15-21 วัน หนอนจะเข้าดักแด้ในรูที่มันเจาะกิน ตัวเต็มวัยอายุประมาณ 11 วัน
ลักษณะการทำลายของหนอนเจาะต้นข้าวโพด
หนอนจะกัดกินใบอ่อนที่ม้วนอยู่ หรือเจาะกินในช่อดอกทำให้ดอกไม่คลี่หรืออาจกัดกินเกสรตัวผู้ หรือเจาะเข้าที่ลำต้นทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกทำลายทำให้ยอดเหี่ยว ผลผลิตลดลงหนอนอาจเจาะฝักทำให้ฝักเน่า โดยลักษณะการกัดกินทำให้เกิดรูย้อนขึ้นทางด้านบน รูมีขนาดเล็กสีคล้ำมีมูลหนอนบริเวณปากรู
การจัดการหนอนเจาะต้นข้าวโพด
ในธรรมชาติหนอนเจาะต้นข้าวโพด มีศัตรูธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น แตนเบียนไข่ แมลงหางหนีบ ควรใช้สารฆ่าแมลงเมื่อมีสำรวจพบแมลงดังนี้ ระยะก่อนออกดอกหากพบกลุ่มไข่ 3-4 กลุ่มต่อข้าวโพด 100 ต้น หรือพบยอดข้าวโพดถูกทำลายมากกว่า 30 ต้นจากข้าวโพด 100 ต้นระยะออกดอกเมื่อพบหนอน 50 ตัวหรือรู 50 รูต่อข้าวโพด 100 ต้น สารฆ่าแมลงที่ใช้คือเดลทาเมทริน ไซเพอร์เมทริน นอกจากนี้หลังการเก็บเกี่ยวแล้วควรทำลายเศษซากพืชไม่ให้หนอนมีอาหารและที่อาศัย
5. หนอนเจาะสมอฝ้าย (Helicoverpaarmigera Hubner)
ชีววิทยาและวัฏจักรชีวิตของหนอนเจาะสมอฝ้าย
แม่ผีเสื้อวางไข่ได้หลายร้อยฟองโดยวางกระจายทั่วทุกส่วนของพืช หนอนมี 4 วัยใช้เวลาในการเจริญ 3-4 สัปดาห์ จากนั้นจะเข้าดักแด้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ในดินลึกหลายเซนติเมตร วัฏจักรชีวิตนานกว่าหนึ่งเดือนเล็กน้อย ตัวเต็มวัยสามารถบินได้ว่องไวในเวลากลางคืน
ลักษณะการทำลายของหนอนเจาะสมอฝ้าย
หนอนอาจกัดกินส่วนใบ ต้น ทำให้เจริญได้ช้า แต่จะชอบกินส่วนขยายพันธุ์เช่น ตา ดอก โดยเจาะเข้าทำลาย เห็นเป็นรูกลมขนาดใหญ่ ทำให้ไม่มีผล หากระบาดขณะข้าวโพดออกฝักระยะแรกจะกัดกินบริเวณปลายฝัก เป็นทางให้เชื้อราและแบคทีเรียทำลายซ้ำทำให้ฝักเน่าเสียหาย
การจัดการของหนอนเจาะสมอฝ้าย
หลังเก็บผลผลิตแล้วให้ทำลายซากพืช ไถพรวนดินเพื่อทำลายดักแด้ ควรพ่นสารฆ่าแมลงครั้งแรกเมื่อข้าวโพดสร้างไหมไม่ว่าจะพบตัวผีเสื้อหรือไม่ และหากพบผีเสื้อ5-10 ตัวต่อกับดัก(แสงไฟ)ต่อคืนต้องพ่นต่อไปเพราะหากปล่อยให้หนอนเข้าทำลายในฝักได้แล้วจะยากต่อการกำจัดสารฆ่าแมลงที่แนะนำคือเชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensisหรือสารเคมีเช่นไบเฟนทรินคาร์บาริล คลอไพริฟอส
6. หนอนกระทู้หอม (Spodopteraexigua Hubner)
ชีววิทยาและวัฏจักรชีวิตของหนอนกระทู้หอม
แม่ผีเสื้อออกวางไข่ระหว่าง 16.00-20.00 น. ไข่วางเป็นกลุ่มบนหรือใต้ใบมีประมาณ 20-80 ฟองต่อกลุ่ม ไข่สีขาวมีขนปกคลุมกลุ่มไข่ ไข่ฟักภายใน 72 ชั่วโมง หนอนมีสีเขียวมีแถบสีขาวด้านข้างลำตัว เข้าดักแด้ในดินใต้ต้น
ลักษณะการทำลายของหนอนกระทู้หอม
หลังฟักออกจากไข่หนอนจะอยู่เป็นกลุ่มกัดกินใบข้าวโพด หากยังเป็นต้นอ่อนหนอนจะกินได้ทุกส่วน เมื่อหนอนโตขึ้นจะหากินเดี่ยวๆกัดกินใบ ฝัก หรือไหมข้าวโพด การทำลายคล้ายหนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนจะระบาดรุนแรงในสภาพอากาศแห้งแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน
การจัดการหนอนกระทู้หอม
กำจัดวัชพืชรอบแปลงซึ่งอาจเป็นแหล่งอาหารสำรองของหนอน หมั่นตรวจตราเก็บกลุ่มไข่และหนอนทำลายเมื่อพบหนอน 2-3 ตัวต่อต้นให้ฉีดพ่นด้วยเชื้อไวรัสS. exiqua NPVเชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensisหรือสารฆ่าแมลงคือคาร์บาริลเบตาไซฟลูทรินฟลูเฟนนอกซูรอนพ่นซ้ำตามความจำเป็นในระยะต้นกล้าจนข้าวโพดอายุ 25 วัน หลังจากนั้นจะมีแตนเบียน Apanteles sp. ช่วยควบคุมหนอนจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลง
7. หนอนกระทู้ข้าวโพด (Mythimnaseparata Walker)
ชีววิทยาและวัฏจักรชีวิตของหนอนกระทู้ควายพระอินทร์
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนชอบเล่นไฟ กลางวันหลบซ่อนอยู่ตามซอกดิน ซอกหิน แม่ผีเสื้อวางไข่บริเวณใต้ใบ หรือตามยอดพืช เมื่อออกจากไข่ใหม่ๆจะกัดกินผิวใบบริเวณใกล้เคียง เมื่อขาดแคลนอาหารจะรวมกลุ่มเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันและกัดกินพืชต่างๆที่อยู่ตามรายทาง ระยะหนอน 25-30 วันหลังจากนั้นจะเข้าดักแด้ในดิน
ลักษณะการทำลายของหนอนกระทู้ควายพระอินทร์
หนอนจะกัดกินใบ ยอดอ่อนไปจนถึงช่อเกสรดอกตัวผู้ที่ยังมีใบหุ้มอยู่ ข้าวโพดที่ยังเล็กอยู่เมื่อถูกกัดกินจะไม่มีใบเหลืออยู่ หากเข้าทำลายเมื่อต้นโตแล้วใบจะถูกกัดเป็นรู มีการเคลื่อนย้ายเป็นกลุ่ม สามารถทำลายได้กว้างขวางพบระบาดมากหลังน้ำท่วมหรือฝนตกหนักหลังผ่านช่วงแล้งที่ยาวนานแล้วตามด้วยฝนตกหนัก การทำลายจะเสียหายรุนแรง
การจัดการของหนอนกระทู้ควายพระอินทร์
โดยทั่วไปหนอนกระทู้ข้าวโพดจะไม่มีผลกระทบต่อข้าวโพดมากนัก นอกจากจะเข้าทำลายระยะต้นอ่อน หรือระยะที่ข้าวโพดเริ่มออกฝักโดยทำลายวัชพืชเพื่อไม่ให้เป็นพืชอาศัยของหนอนกระทู้คอรวงใช้เหยื่อพิษทำด้วยสารหนูเขียว หรือสารหนูตะกั่วผสมน้ำตาลและรำ แล้วนำไปหว่านในนาหรือบนคันนาหากพบหนอน 3-4 ตัวต่อต้นให้ฉีดพ่นด้วยคาร์บาริล มาลาไธซูมิไธออน ปกติไม่ค่อยระบาด แต่มักจะระบาดหลังน้ำท่วม
8. เพลี้ยกระโดดดำ (Callitetixversicolor F.)
ชีววิทยาและวัฏจักรชีวิตของเพลี้ยกระโดดดำ
วางไข่เป็นกลุ่มบนหรือใต้ผิวใบข้าวโพดมีสารเป็นเยื่อหรือใยสีขาวปิดทับ ตัวอ่อนมีหัวโตหางยาว
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยกระโดดดำ
ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าวโพดทำให้ใบเป็นจุดด่างสีเหลือง น้ำตาล การดูดกินไม่มากถึงขนาดทำให้พืชตายหรือแคระแกร็น
การจัดการของเพลี้ยกระโดดดำ
การกำจัดวัชพืชรอบๆแปลงอยู่เสมอก็เป็นการเพียงพอที่จะป้องกันการระบาดของแมลงชนิดนี้ แต่หากพบแมลง 3-4 ตัวต่อต้นให้ฉีดพ่นด้วยคาร์บาริลเฉพาะบริเวณที่พบแมลง
9. มอดดิน (Calomycterussp.)
ชีววิทยาและวัฏจักรชีวิตของมอดดิน
เป็นด้วงงวงขนาดเล็กอาศัยอยู่ในดิน พบทั่วไปในไร่ข้าวโพด มีสีดำปนน้ำตาล และเทา มี ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่ในดินบริเวณที่มีต้นพืช ไข่จะฟักเป็นตัวหนอนภายใน 5-7 วัน หนอนเข้าดักแด้เมื่ออายุเฉลี่ยประมาณ 45 วัน ตัวเต็มวัยมีอายุอยู่ได้นานถึง 8 เดือน ในเวลากลางวันจะพบอยู่ทั่ว ๆ ไปในแปลงหรือหลบอยู่ใต้ดินบริเวณโคนต้น โดยเฉพาะตามกองดินของข้าวโพดที่เริ่มงอก และจะเริ่มออกหากินในเวลาพลบค่ำ พร้อมกับจับคู่ผสมพันธุ์
ลักษณะการทำลายของมอดดิน
ตัวเต็มวัยมอดดินจะทำลายต้นกล้าข้าวโพด ต้นที่ถูกกัดทำลายจะแตกแขนงชะงักการเจริญเติบโต ทำให้ข้าวโพดแก่ไม่พร้อมกัน ฝักลีบเล็กหรือไม่ติดฝัก มักระบาดรุนแรงในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน
การจัดการของมอดดิน
การป้องกันและกำจัดมอดดินวิธีที่ดีที่สุดคือ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัด เนื่องจากมอดดินจะระบาดทำลายข้าวโพดตั้งแต่ระยะเริ่มงอกประมาณ 10 วันเท่านั้น ก ารใช้สารเคมีประเภทเช่น คาร์โบซัลเฟนอิมิดาโคลพริดคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกจะป้องกันการทำลายของมอดดินได้ดี เมื่อข้าวโพดงอกแล้วหากพบการระบาดทำลายของมอดดินโดยเมื่อใบข้าวโพดถูกทำลายมากกว่า 25 %ของพื้นที่ใบทั้งต้นให้ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์โบซัลเฟน
10. ตั๊กแตนปาทังก้า (Patangasuccincta L.)
ชีววิทยาและวัฏจักรชีวิตของตั๊กแตนปาทังก้า
ตัวเมียวางไข่เป็นฝักหรือถุงในดินที่อ่อนร่วนซุย ตัวอ่อนฟักออกจากไข่แล้วจะกัดกินพืชบริเวณใกล้เคียงจนหมด แล้วเคลื่อนย้ายสู่แปลงใกล้เคียง ตัวเต็มวัยบินได้ดี
ลักษณะการทำลายของตั๊กแตนปาทังก้า
ตั๊กแตนปาทังก้ากัดกินต้นอ่อนไปจนถึงระยะเริ่มออกฝัก เหลือแต่ต้นและก้านใบ ฝักเหลือแต่ซัง
การจัดการของตั๊กแตนปาทังก้า
ทำเหยื่อพิษโดยใช้ซังข้าวโพด หรือมันสำปะหลังสดสับเป็นชิ้นผสมสารฆ่าแมลงคาร์บาริล วางเหยื่อพิษตอนกลางวันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายนเพื่อกำจัดตัวเต็มวัยที่ออกจากการพักตัว
ข้อมูลโดย: รองศาสตราจารย์ ดร. จิราพร เพชรรัตน์ ภาควิชาการจัดการศัตรูพืช คณะทรัพยากรธรรมชาติ
เรียบเรียงและเผยแพร่โดย: กลุ่มงานบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา โทร. 074-286059-60, โทรสาร 074-558803
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « สุดยอด 'ข้าวโพดแฟนซีสีม่วง111' พ...
- ใหม่กว่า » ผลเสียจากการเติมสารปลอมปนลงในน้ำยาง
21 สิงหาคม 2557 12:24
#99559
้ีั้ดแ้ดเ่้ะัรี