ความเห็น: 2
รู้จักคนดี..คนเก่ง..นามบุญกอบ วิริยพงศ์สุธี
ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนนิดนึงค่ะ เนื่องจากเป็นงานที่ได้ทำไว้นานแล้วแต่เนื่องด้วยมีงานฉุกเฉินเข้ามาประกอบกับ share เราปิดปรับปรุงไปพักใหญ่ (จะบอกว่าตัวเองไม่ผิด....ซะงั้น)
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2554 เวลาประมาณบ่ายต้นๆ (ประมาณบ่ายโมงครึ่งน่าจะได้) หลังจากรับประทานอาหารกลางวันจนหนังท้องตึง แต่วันนี้หนังตาไม่หย่อน เพราะมีภารกิจสำคัญรอทุกคนอยู่ ตามเวลาที่ได้นัดหมายกันเอาไว้ เราก็เห็นหนุ่มไม่ใหญ่ใจดี หน้าตายิ้มแย้มนามว่า นายบุญกอบ วิริยพงศ์สุธี เดินสำรวมเข้ามายังห้องประชุม 140 พร้อมด้วยทีมงานสัมภาษณ์ ซึ่งประกอบด้วยพี่ใหญ่ - พี่มอนลี่ (คุณมะลิ นิลสุวรรณ), เปตอง (คุณสุนัทณี แสงแจ่ม), kittima (คุณกิตติมา ชาติชาคร) และ Marky เองค่ะ
เริ่มต้นการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการมากๆ โดยพี่มอนลี่ ชี้แจงที่มาที่ไปของการสัมภาษณ์ว่าเป็นมติจากที่ประชุมคณะการทำงานจัดการความรู้ ที่ต้องการให้สัมภาษณ์ผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นบุคลากรสายสนับสนุน ผู้มีผลงานดีเด่น เพื่อเก็บแนวคิด วิธีการปฏิบัติที่ดีในการทำงานไปถ่ายทอดให้กับบุคคลอื่นๆ ได้รับทราบและสามารถเก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ได้
อยากรู้จักหนุ่มร่างท้วม นิสัยดีกันแล้วใช่มั๊ย......
นายบุญกอบ วิริยพงศ์สุธี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เข้าทำงานเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์ สังกัดภาควิชาวาริชศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยคนแรกของคณะทรัพยากรธรรมชาติ
เข้ามาทำงานที่คณะฯ ได้อย่างไร…
สืบเนื่องจากการศึกษาในระดับปริญญาโทที่ได้เข้าไปสมัครที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร แต่เนื่องจากได้เลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาวาริชศาสตร์ อาจารย์จากคณะอุสาหกรรมเกษตรจึงแนะนำให้รู้จักกับ รศ. ดร. กิจการ ศุภมาตย์ และเมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท ก็สมัครเข้าทำงานในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งตนได้ทำงานอยู่ในปัจจุบัน
การทำงาน การสร้างผลงานมีแนวทางอย่างไร…
ถือเป็นโชคดีที่ได้ทำงานกับหัวหน้าที่ให้โอกาส และสามารถสื่อสารกันได้ทุกเรื่อง รับฟังข้อมูลที่อยากสื่อออกไป ทำให้การทำงานไม่มีอุปสรรค และเป็นคนที่จะทุ่มเทให้กับงาน โดยเฉพาะงานวิจัยซึ่งเป็นงานที่ต้องให้ทั้งแรง และเวลา เพราะบางครั้งจำเป็นต้องมีการติดตามการทดลอง ประกอบกับต้องมีการวางแผนงานที่ดี และระลึกไว้เสมอว่างานที่เราทำคือสิ่งที่เรารัก ต้องทำให้ประสบความสำเร็จให้ได้ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คิดว่าสามารถผลักดันให้งานประสบความสำเร็จคือ การจัดลำดับงานตามความสำคัญและความเร่งด่วนของงาน
การทำงานมีการติดต่อกับนักศึกษาหรือไม่…
เนื่องจากงานที่ทำมีลักษณะงานที่ค่อนข้างจะมีความหลากหลาย ทั้งการทำงานวิจัย งานช่วยสอน การเตรียมปฏิบัติการ และการให้คำปรึกษากับนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่มีการติดต่อกับนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษามากกว่านักศึกษาปริญญาตรี จึงอาศัยโอกาสนี้เป็นที่สอนงานและแนวคิดในการทำงานให้กับน้องๆ ทั้งนี้เพราะหากตนไม่อยู่จะได้มีผู้ทำหน้าที่สานต่องาน โดยไม่กระทบกับงานและไม่มีผลต่อองค์กร
มีแนวคิดในการเลือกหัวข้อวิจัยอย่างไร…
เป็นสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดจากอาจารย์ที่ปรึกษา (รศ. ดร. กิจการ ศุภมาตย์) ด้วยความระลึกยิ่งและเป็นแบบอย่างในการทำงาน ที่สอนให้รู้จักการวิเคราะห์สถานการณ์ และความจำเป็น รวมถึงการมองความจำเป็นของการนำมาใช้งานและความนิยมของสังคมในปัจจุบันและอนาคต หัวข้องานวิจัยจึงเลือกที่เจาะจงกับสถานการณ์ปัจจุบันและมีผลกับการนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต
ผลงานวิจัยที่ดำเนินการมาแล้วภูมิใจในเรื่องใดมากที่สุด…
เนื่องจากตนให้ความทุ่มเทและตั้งใจในการทำงานวิจัยทุกเรื่อง ดังนั้นผลงานทุกชิ้นที่ทำจึงเป็นงานที่ตนภูมิใจเท่าเทียมกัน
มีงานวิจัยชิ้นไหนที่คิดว่ายากหรือใช้เวลาในการทำนานหรือมีอุปสรรคในการดำเนินงาน…
เนื่องจากก่อนการดำเนินโครงการ จะมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงและวางแผนการดำเนินงานไว้ล่วงหน้า จึงทำให้การดำเนินงานสามารถประสบความสำเร็จได้โดยมีอุปสรรคไม่มากนัก หากจะคิดว่าเป็นอุปสรรคคงน่าจะเป็นเรื่องของสัตว์ทดลอง เพราะงานวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำเป็นงานที่ต้องดำเนินการกับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เข้าไปควบคุมความแปรปรวนได้ยาก
มีการบริหารเวลาในการทำงานอย่างไร…
งานที่ทำเป็นงานวิจัยที่ต้องติดตามผล ซึ่งในช่วงแรกที่ทำงานยังวางแผนและจัดระบบการทำงานได้ไม่ดีนัก บางครั้งจึงใช้ชีวิตในที่ทำงานมากกว่าคนอื่น แต่ต่อมารู้จักวางแผนเวลาและจัดระบบงานมากขึ้นจึงมีการปรับการทำงานให้เป็นปกติ
เมื่อเกิดปัญหาในการทำงานทำอย่างไร…
ปรึกษากับผู้รู้ โดยเร็วที่สุดเมื่อเกิดปัญญาใดๆ ขึ้น ส่วนด้านอื่นๆ ทั้งด้านเอกสาร และการติดต่องานต่างๆ หากมีปัญหาหรือไม่รู้ก็จะถาม โดยยึดหลักที่ว่า “ถ้าไม่รู้ก็ไม่อายที่จะถาม”
มีปัญหาในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานกลางที่คณะฯ หรือไม่…
ในด้านของการติดต่อประสานงานถือว่าไม่มีปัญหา ทั้งนี้เนื่องจากหากเกิดปัญหาใดๆขึ้นมา จะเลือกการเข้ามาพบและพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหา
การยื่นขอสนับสนุนโครงการวิจัยดำเนินการอย่างไร…
เลือกหัวข้องานวิจัยที่เจาะจงกับสถานการณ์ปัจจุบัน และส่งไปยังแหล่งทุนสนับสนุน เมื่อไม่ได้รับการอนุมัติ และส่งกลับมาให้แก้ไขก็ดำเนินการแก้ไขตามที่ผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อคิดเห็นมา และส่งขอสนับสนุนงบประมาณใหม่ในโอกาสต่อไป
การเสนอผลงาน…
มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในส่วนของต่างประเทศจะใช้วิธีการสืบค้นหาข้อมูล การประชุมวิชาการต่างๆ ในด้านที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้คือต้องมีการวางแผนที่ดีว่าผลงานจะออกมาในช่วงไหน เพื่อจะได้สืบค้นแหล่งเสนอผลงานไว้ล่วงหน้า และสมัครเข้าร่วมได้ทันช่วงเวลาที่กำหนด
แนวคิดในการเข้าร่วมกิจกรรม...
การเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือต้องหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในและนอกคณะ เป็นผู้จัด ให้มากที่สุด เพื่อเป็นการสนับสนุน ให้กำลังใจ และสานสัมพันธ์อันดี ซึ่งทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่สอดแทรกอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ที่เข้าร่วม ในทางกลับกันถ้าหากเราเป็นผู้จัดแล้วไม่มีใครเข้าร่วม กิจกรรมนั้นก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ
การทำงานเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมาทำอย่างไร...
การทำงานร่วมกันย่อมมีบ้างที่ความเห็นไม่เหมือนกันหรือขัดแย้งกัน แต่อยากให้ทำงานร่วมกันโดยมองงานเป็นหลัก เมื่อเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้วต่างคนต่างแยกกันทำงาน ผลเสียก็จะเกิดกับงานที่ทำ โดยส่วนตัวจะไม่โกรธใคร โดยบอกว่า “ไม่รู้จะโกรธไปทำไม” เพราะหากความโกรธเกิดขึ้นจะมีแต่ผลเสียตามมา ทั้งต่อผู้ร่วมงาน ต่องาน และต่อองค์กร
แนวคิดในการพัฒนาองค์กร (ศูนย์วิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ)…
ต้องเริ่มจากการสร้างรากฐานที่มั่นคงก่อน กล่าวคือ ต้องจัดการระบบ กลไกการดำเนินงานของงานที่มีอยู่แล้วให้มั่นคง ก่อนที่จะมีการสร้างงานใหม่ที่เป็นงานพัฒนาเพื่อการพัฒนาองค์กรต่อไป
รู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับคัดเลือกเป็นบุคลากรผู้มีผลงานดีเด่น…
รู้สึกดีและคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่คณะหยิบยื่นให้ และขอขอบคุณผู้สนับสนุนเบื้องหน้าและเบื้องหลังทุกท่านด้วย โดยส่วนตัวนั้นงานที่ทำอยู่ก็ทุ่มเทให้กับมันอย่างเต็มที่ รางวัลที่ได้รับก็ถือเป็นกำลังใจและแรงผลักดันในการทำงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป โดยสิ่งไหนที่ทำและคิดว่าดีอยู่แล้วก็จะพยายามรักษาเอาไว้ ส่วนสิ่งที่สามารถพัฒนาปรับปรุงได้ก็จะพัฒนาเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและพัฒนาต่อไป
ประทับใจอะไรในองค์กร...
ความรักใคร่ สามัคคี และความกลมเลียวกันในหมู่คณะ มีการรู้จักกันอย่างจริงใจ
หลักการครองตน:
- พึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ
- ประหยัด และออม
- รักษาระเบียบวินัย และเคารพกฎหมาย
- ปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา
- มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
หลักการครองคน:
- มีมนุษย์สัมพันธ์ สร้างความเป็นกันเองกับผู้ร่วมงาน
- ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน ยกย่องชมเชย ให้รางวัลตามโอกาส ยอมรับและฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงาน
- ร่างเริงแจ่มใส มีทัศนคติที่ดีกับบุคคลทั่วไป
- เคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
- รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา สร้างความสุขในการทำงาน
- ใช้หลักคุณธรรมกับทุกคนด้วยความเสมอภาค
หลักการครองงาน:
- รับผิดชอบในหน้าที่
- นำความรู้ที่มีไปใช้ในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี เพื่อแก้ปัญหาหากมีอุปสรรค
- ปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนางานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
- มีความกระตือรือร้น ต้องการที่จะปฏิบัติงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
- คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม
อยากฝากอะไรถึงคนอื่นและน้องๆรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงาน...
ให้แต่ละคนทำงานในหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดอย่างเต็มความสามารถ และหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วยตนเองก่อน ส่วนเรื่องใดที่ไม่รู้ให้ค้นคว้าและสอบถามผู้รู้ ที่สำคัญต้องสร้างมนุษยสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นๆ ในองค์กร
อยากฝากอะไรถึงน้องๆ นักเรียนที่กำลังมองหาสถานที่ศึกษาต่อ...
ให้ถามตัวเองดูก่อนว่ามีความสนใจในด้านไหน ในส่วนของภาควิชาวาริชศาสตร์นั้น หากมีน้องๆ ที่สนใจ บอกได้เลยว่าภาควิชาวาริชศาสตร์เป็นภาควิชาที่น่าสนใจ ทั้งในด้านของวิชาการที่มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และการดูแลกันและกันของรุ่นพี่รุ่นน้องที่เป็นสายใยเส้นใหญ่ที่ไม่เคยทอดทิ้งกัน โดยดูแลตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาจนไปถึงตอนทำงาน เนื่องจากมีเครือข่ายศิษย์เก่าที่เข้มแข็ง และการใช้ชีวิตในขณะที่ศึกษาอยู่นั้นจะเป็นพื้นฐานที่ดีที่ภาควิชาฯ ได้หล่อหลอมให้กับนิสิตทุกคนให้สามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « การบริหารจัดการเงินรายได้คณะทรัพ...
- ใหม่กว่า » มามะ...มาทำสาวกล้วยไม้กัน
29 มิถุนายน 2554 23:23
#66309
ขอแสดงความยินดีกับน้องบุญกอบด้วยค่ะ
ชอบแนวคิดนี้ค่ะ
"ปรึกษากับผู้รู้ โดยเร็วที่สุดเมื่อเกิดปัญญาใดๆ ขึ้น ส่วนด้านอื่นๆ ทั้งด้านเอกสาร และการติดต่องานต่างๆ หากมีปัญหาหรือไม่รู้ก็จะถาม โดยยึดหลักที่ว่า “ถ้าไม่รู้ ก็ไม่อายที่จะถาม”