ความเห็น: 0
สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยจัดการประชุมเคมีนานาชาติครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ International Conference on 14th Asian Chemical Congress 2011 หรือ 14ACC ในระหว่างวันที่ 5-8 กันยายน 2554 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ความก้าวหน้าทางการวิจัยที่มีความทันสมัย และประสบการณ์ทางด้านเคมี รวมทั้งให้นักวิจัยไทยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพสู่สายตาของโลก
การประชุม Asian Chemical Congress (ACC) เป็นการประชุมวิชาการทางเคมีระดับนานาชาติที่จัดทุกๆ 2 ปี ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 26 แล้ว และสำหรับการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้น สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยได้รับเกียรติจาก Federation of Asian Chemical Societies (FACS) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นครั้งแรก ในการนี้ทางสมาคมฯจึงได้ร่วมกับภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์จาก 7 สถาบันการศึกษาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ซึ่งได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
นอกจากนี้แล้ว ปี ค.ศ. 2011 ได้รับประกาศจาก International Union of Pure and Applied Chemistry (IUPAC) และ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) ให้เป็นปีเคมีสากล International Year of Chemistry (IYC2011) เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จและคุณประโยชน์ของวิทยาศาสตร์สาขาเคมีที่มีต่อมนุษยชาติ การประชุม 14ACC ที่จะเกิดขึ้นนี้จะเป็นการประชุมทางเคมีระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของปีเคมีสากลที่ต้องการจะส่งเสริมความสนใจในสาขาวิชาเคมีของสาธารณะโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ กิจกรรมภายใต้ปีเคมีสากลมุ่งหมายที่จะให้เกิดความตระหนักถึงการศึกษาทางเคมีในฐานะศาสตร์ที่สร้างสรรค์และมีความจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร น้ำ สุขภาพ พลังงาน การคมนาคม และด้านอื่นๆ
สมาคมเคมีได้พิจารณากำหนดหัวข้อ “Contemporary Chemistry for Sustainability and Economic Efficiency” เป็น Theme หลักของการประชุม 14ACC โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ งานวิจัยที่มีความทันสมัย ประสบการณ์และทัศนคติระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งผู้สนใจ ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักเคมีไทยทั้งจากภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชนได้แสดงศักยภาพด้วยการนำเสนอผลการค้นคว้าวิจัยของตนในเวทีระดับโลก รวมทั้งได้รับฟังการบรรยายและ
แนวคิดจากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจากนานาชาติ และนักวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลทางเคมี ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาทางเคมี นำไปสู่นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยใหม่เพื่อการพัฒนาประเทศไทยและสังคมโลก
การประชุม 14ACC ได้รับพระกรุณาธิคุณจากศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จทรงเป็นประธานเปิดการประชุมและทรงบรรยายพิเศษ มีนักวิทยาศาสตร์สาขาเคมีที่ได้รับการยอมรับในทางวิชาการ ได้แก่ Dr. Yuan-Tseh Lee ผู้ได้รับรางวัลโนเบลประจำปี 1986 และ Dr. Ada E. Yonath ผู้ได้รับรางวัลโนเบลประจำปี 2009 ร่วมเป็นวิทยากร อีกทั้งมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 100 คนเข้าร่วมบรรยายด้วย สำหรับหัวข้อการประชุมนั้นประกอบไปด้วย
- Analytical and Environmental Chemistry
- Industrial Chemistry and Innovation
- Materials and Polymer Chemistry
- Physical and Theoretical Chemistry
- Organic Chemistry and Green Chemistry
- Natural Products, Chemical Biology and Medicinal Chemistry
- Chemical Education
- Inorganic Chemistry and Nanochemistry
และ Symposium/workshop อีกกว่า 10 หัวข้อ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยเชื่อมั่นว่าการประชุม 14ACC ที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 กันยายน 2554 นี้จะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ที่จะผลักดันให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนต่อไปในอนาคต

การประชุม 14ACC ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 กันยายน 2554 เป็นการประชุมวิชาการนานาชาติทางเคมีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคโดยจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ความก้าวหน้าทางการวิจัยที่มีความทันสมัย และประสบการณ์ทางด้านเคมี รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักเคมีไทยได้แสดงศักยภาพของตนในเวทีระดับโลก โดยผู้สนใจสามารถส่งผลงานวิจัยเพื่อรับการคัดเลือกเข้าร่วมแสดงในการประชุม 14ACC ได้ที่เว็บไซต์ www.14acc.org ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ขอเชิญบุคลากรและนักศึกษาเข้าร่วม...
- ใหม่กว่า » สถานวิจัยความเป็นเลิศระบบนำส่งยา...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้