ความเห็น: 6
น้ำท่วมหาดใหญ่ 53 อย่าให้แค่ผ่านไป ต้องจดเอาไว้จำ
น้ำท่วมหาดใหญ่ 53 รุนแรง รวดเร็ว กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ผู้บันทึก ไม่ใช่คนหาดใหญ่ แต่มาอยู่หาดใหญ่ตั้งแต่ต้นปี 2519 มาปีแรกก็เกิดน้ำท่วมในเดือน พ.ย. ในเมืองหาดใหญ่ท่วมสูงประมาณ 50 ซม. ในช่วงดึก เป็นน้ำฝนที่ตกหนักแต่ช่วงไม่นานนักจึงท่วมระดับดังกล่าว มีเพื่อนเข้าไปดูภาพยนตร์เล่าว่า ออกจากดูภาพยนตร์แล้วมาเจอน้ำท่วม
12 ปีต่อมา ในเดือน พ.ย. เช่นกัน ปี 2531 น้ำท่วมเมืองหาดใหญ่สูงประมาณ 1 เมตร คราวนี้เป็นน้ำป่ามาจากทางสะเดา ซึ่งเกิดความเสียหายมากกว่าปี 2519 เนื่องจากน้ำเพิ่มขึ้นเท่าตัว
ในเดือน พ.ย. 2543 เป็นอีกปีที่น้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ คราวนี้เป็นน้ำฝนตกจากบริเวณเทือกเขาคอหงส์ นาหม่อม ไหลเข้าท่วมหาดใหญ่ น้ำสูงประมาณ 2 เมตร ซึ่งเป้นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ ในปีนั้น ผู้บริหารเทศบาลหาดใหญ่ไปตรวจปริมาณน้ำที่มาจากสะเดา ซึ่งไม่มีน้ำป่าหลากเข้ามา แต่ฝนตกหนักตั้งแต่ตอนหัวค่ำ จำได้ว่า ได้พาลูกไปทานอาหารเย็นที่ไดอาน่า ประมาณทุ่มกว่า ขับรถกลับ ม.อ. มีน้ำเอ่อถนน 30 เมตรแล้ว แล้วท่วมหาดใหญ่สูง 2 เมตร เวลาประมาณเที่ยงคืน สร้างความเสียหายให้ชาวหาดใหญ่อย่างมาก โดยเฉพาะรถยนต์ เพราะไม่มีใครคิดว่า มีน้ำท่วมมากขนาดนั้น
จะเห็นว่า น้ำท่วมหาดใหญ่ สามครั้งที่ผ่านมา เกิดในเดือน พ.ย. เหมือนกัน เกิดในรอบ 12 ปี แต่ละครั้งน้ำท่วมสูงขึ้นเท่าตัว ความจริง ทางราชการก็ได้ทำการขุดคู คลอง ระบายน้ำไว้แล้วมากมายหลายที่ เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ทัน
แต่ปี 2553 เหตุการณ์น้ำท่วมมาเร็วกว่า 3 รอบที่ผ่านมา โดยยังไม่ถึงรอบ 12 ปี น้ำที่มาผสมกันทั้งน้ำฝนในช่วงกลางวันที่ 1 พ.ย. จนถึงเย็น หลังจากนั้นช่วงดึกเป็นน้ำป่าจากสะเดาที่มาเร็วและแรง จนส่วนใหญ่ทำอะไรไม่ทัน น้ำมามาก เร็ว แรง และนาน ในวันที่ 2 พ.ย. 53 อีกทั้งวัน ในเมืองหาดใหญ่ น้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร สูงกว่าปี 2543 หลายท่านเกือบเอาตัวใม่รอด โดยเฉพาะบ้านชั้นเดียว บางบ้านต้องอยู่บนหลังคา โชคดีนิดเดียวที่ฝนหยุดตกตอนเที่ยงคืนวันที่ 1 พ.ย. 53 แต่น้ำป่ามาแรง การช่วยเหลือทำได้ยากมาก ๆ เพราะไม่สามารถฝ่าน้ำที่ไหลแรงและมากได้ น้ำไม่ไหล ไฟฟ้าดับ อยู่หลายวัน ทั้ง ๆ ที่ทุกคน ทุกหน่วยงานช่วยกันดูแลอย่างเต็มที่
ที่บันทึกเพื่อแสดงให้เห็นว่า สภาพน้ำท่วมรุนแรงขึ้นตามลำดับ ถี่ขึ้น และคงเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งไม่ทราบว่า เร็ว ช้าแค่ไหน ทางที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ได้ดีที่สุด คือการช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะในยามน้ำไหลหลากรุนแรง คงยากที่ใครจะเข้าไปช่วย จึงน่าจะใช้โอกาสนี้ ที่ยังจำสภาพต่าง ๆ ได้ จดบันทึก ว่า ต้องเตรียมตัวอย่างไร ที่พอจะช่วยดูแลตนเองได้ในช่วง 4-5 วัน
- เตรียมอาหารที่ปรุงง่ายเก็บได้นานหน่อย
- น้ำดื่มที่เพียงพอในช่วง 4-5 วัน
- เตรียมขนย้ายเตาแก๊สไปไว้ในที่ที่จะพ้นน้ำ ได้ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับปรุงอาหาร ทานอาหาร ชามคนละใบ ช้อนคนละคัน
- เตรียมยาสามัญ ยาประจำตัว
- เตรียมส้วมเฉพาะกิจ ถุง ถัง เพื่อใช้บรรเทาทุกข์ได้
- โทรศัพท์มือถือ ไฟฉาย ถ่านไปฉาย เทียนไข ไม้ขีด/ไฟแช็ค วิทยุที่ใช้ถ่าน
- ฯลฯ แต่ละท่านก็ลองคิดและบันทึกไว้
ใครที่มีบ้านชั้นเดียว คงต้องผูกมิตรกับเพื่อนบ้านที่มีหลาย ๆ ชั้น เผื่อได้ขออาศัยในยามคับขัน
คงต้องให้ทุกคนเตรียมของตัวเอง ให้ทำเหมือนต้องไปเข้าค่าย ปีละครั้ง ในเดือน ตค. ทุกปี เตรียมถุงยังชีพเฉพาะตน คงต้องเตรียมซ้อมไว้ในใจ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จะทำอย่างไรจะสามารถพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด
ช่วยกันจดเอาไว้จำ นำมาอ่าน ทำปีละครั้ง น่าจะช่วยบรรเทาทุกข์ได้ไปถึงลูกหลานข้างหน้าด้วย เห็นมีผู้พยากรณ์ว่า พื้นที่แถบเอเซียตะวันออกด้านมหาสมุทรแปซิฟิค สภาพอากาศจะชื้นมากขึ้น แปรปรวนและรุนแรงขึ้น
ขอให้ทุกท่านเตรียมตัวสำหรับอนาคต สำหรับตนเอง จดบันทึกก่อนจะลืมเลือนไป
การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อไว้ป้องกันตนเองในอนาคต ชวนกันเตรียมตัวเข้าค่ายปีละครั้ง คงดีกว่าการผจญภัยที่ไม่ได้เตรียมการ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « สร้างความฝันหลังน้ำท่วมหาดใหญ่ 5...
- ใหม่กว่า » ความสำคัญของการเกษตรต่อมนุษยชาติ...
ความเห็น
![]() |
ขอบคุณมากครับอาจารย์ ผมว่าเรื่องราวน้ำท่วมของหาดใหญ่ ควรนำมาบันทึกและบอกต่อกันให้มากครับ เพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอีก
ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาให้หมดสิ้นไปได้ เราก็ต้องป้องกันและเรียนรู้ที่จะอยู่กับสภาพเช่นนี้โดยปลอดภัยให้ได้
ผมเคยได้อ่านเรื่องราวชนเผ่ามอแกน ที่บอกว่าเมื่อเกิดสึนามิ มีการสูญเสียน้อย เนื่องจากมีการเตือนกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษว่า หากน้ำทะเลลดกระทันจะเกิดภัยพิบัติให้หนี ผิดกับกลุ่มที่ไม่รู้ซึ่งเดินลงไปดูในทะเลกันเต็มไปหมด หลายคตนต้องเสียชีวิตลง
ปัญหาการเตือนภัยในหาดใหญ่ก็ควรแก้ไขนะครับ ผมว่าลำพังแค่ปักธงเตือนภัยแถวริมคลอง อาจจะยังไม่พอ อยากให้สัญญาณเตือนภัยอยู่ในระดับสูงพอที่ชาวหาดใหญ่ส่วนใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน
การสอนให้ชาวหาดใหญ่เตรียมความพร้อมเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เหมือนเป็นแผนฉุกเฉิน ว่าหากจะเกิดน้ำท่วม จะเอารถไปจอดที่ไหน ต้องเตรียมอะไรบ้าง (แบบที่อาจารย์แนะนำมา ) สอนให้รู้ว่าไฟจะดับนะ โทรศัพท์อาจจะติดต่อไม่ได้ เป้นต้น
ผมอยากจะขอนำบทความที่อาจารย์เขียนบางส่วนไปลงที่เว็บบอร์ด www.songkhlagroup.com ได้ไม๊ครับ
ขอบคุณน้องอิน ที่เข้ามาอ่าน และย้ำเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือตนเอง
และคุณ pisit ที่ช่วยเพิ่มเติมในการระวังภัยที่เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ และยินดีครับหากจะนำบทความไปช่วยขยายผลไม่ว่าในรูปใด ๆ ซึ่งเป็นความตั้งใจของบันทึกนี้
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่าน และหวังว่าจะได้จัดทำบันทึกเป็นของตนเอง เอาไว้ใช้จริง ๆ ตามสภาพของแต่ละท่าน แต่ละบ้าน แต่ละพื้นที่ เอามาเตรียมพร้อมในฤดูกาลที่อาจจะเกิดภัย และให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ที่ทำเหมือนมดที่ก่อนที่ฝนจะตกท่วมรังครั้งใด จะเห็นการเดินแถวอพยพทุกครั้ง
![]() |
ขอบคุณอาจารย์มากครับ บทความผมนำไปลงในเว็บบอร์ดแล้วครับ โดยเขียนที่มา อ้างอิงมาที่หน้าเว็บหน้านี้แล้วด้วยครับ
ยิ่งอ่านยิ่งเห็นด้วยครับว่าทุกฝ่ายคงต้องคิดแก้ปัญหาครับ อย่าลืมง่าย เพราะน้ำท่วมต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน
และต้องคิดเผื่อไปด้วยว่า ถ้าระดับน้ำสูงเกินชั้นสองจะทำอย่างไร
น้ำท่วมครั้งนี้ได้เตรียมอุปกรณ์ต่างๆตามที่อาจารย์บอกไว้ เพราะเห็นแม่ทำมาตั้งแต่เรายังเด็กๆ และจดจำไว้ เนื่องจากเราอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมทุกปี(สมัยก่อน) เพิ่งมาว่างเว้นในช่วงระยะหลัง
ขอบคุณคุณ pisit ที่แจ้งกลับ
คุณวราภรณ์ สุภเกษมวงศ์ น่าจะช่วยอบกว่า มีการเตรียมการแล้ว มีผลเป้นอย่างไร จะได้ยืนยันให้เห็นความจำเป็นดังกล่าว
11 พฤศจิกายน 2553 19:51
#61532
ดีจังเลยค่ะอาจารย์
ต้องช่วยเหลือตัวเองได้ อย่าประมาทกับเรื่องของน้ำค่ะ
ขอบคุณค่ะ