ความเห็น: 6
Active learning ๓: พฤติกรรมของผู้สอน
จากความจำเป็น http://share.psu.ac.th/blog/fnr-devolop/14806
และการปรับบทบาท http://share.psu.ac.th/blog/fnr-devolop/14836
มาถึงพฤติกรรม ซึ่งเป็นอีกส่วนที่สำคัญในการสร้างคนให้พร้อม ให้ดี ตามเป้าหมายการพัฒนาคน
การเป็นครู อาจารย์ ที่ดี คือการเป็นต้นแบบที่ดี ต้องสอนอย่างที่ทำ และทำอย่างที่สอนด้วย ไม่ใช่เป็นผู้บอก คือบอกให้คนอื่นทำ แต่ตนเองไม่ทำ ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายต่อสังคมและส่วนรวม เพราะทำให้ผู้เรียน จำสิ่งที่เรียนมาสอบ ทำคะแนน และเข้าใจว่าที่เรียนนะต้องทำคือข้อสอบ ไม่ใช่เรียนแล้วต้องนำไปปฏิบัติ เพราะคนสอนยังไม่ปฏิบัติ ซึ่งส่งผลอย่างมากในสังคม- เริ่มจากสอนให้เห็นค่าของเวลา แต่ทางปฏิบัติ มีคนจำนวนมากต้องมารอประธานทุกที และประธานก็มาสายทุกที แสดงว่า เวลามีค่าเฉพาะของประธาน เท่านั้นหรือ ความจริง หากเอาเวลาที่คนมารอทุกคนรวมกันมีค่ามากกว่าของประธานมากมาย แสดงว่าไม่ว่าเวลาของใคร ๆ ก็มีค่าเท่ากัน
- สอนให้รักษาเวลา แต่ผู้สอนมาสอนสาย หมดเวลาไม่ยอมเลิก อ้างว่าสอนไม่ทัน ไม่สนใจว่าใครจะใช้ห้องสอนต่อ ไม่สนใจว่าผู้เรียนจะไปเรียนวิชาถัดไปไม่ทัน หรือไปสาย แต่หากเป็นวิชาที่สอน นักศึกษามาสายก็ด่าทอ บอกว่าต้องรักษาเวลาเข้าเรียนให้ทัน
- ย้ายเวลาสอนประจำไปตอนเย็น วันหยุด อ้างว่าต้องไปสอนที่อื่นด้วยการรับค่าตอบแทนเพิ่ม
- ส่งคะแนนสาย อ้างว่าเพราะสอบวิชาสุดท้าย ตรวจข้อสอบไม่ทัน ผู้เรียนมาก ซ้ำร้ายไปกว่านั้น อ้างว่าต้องไปราชการ แย่ไปกว่านั้น ขอลาพักผ่อนในช่วงเวลาดังกล่าว แต่พอผู้เรียนไม่เข้าเรียนก็ด่าทอ ต่อว่า (เอ หากเป็นลูกหลานเรา หรือตัวเรา และมีผลทำให้สมัครงานไม่ได้ ไม่ทัน จะรู้สึกอย่างไร? โกรธเป็นฟืน เป็นไฟ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ที่ทำให้หมดโอกาสในชีวิตในตำแหน่งงาน)
- สอนผู้เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถจูงใจให้อยากเข้ามาเรียน แทนที่จะหาทางพัฒนาการสอนให้ดีขึ้น กลับโทษว่าผู้เรียนไม่เก่ง โง่ (ไม่แน่ใจว่า ใครที่ไม่เก่ง ผู้สอนหรือผู้เรียน ผู้สอนเก่งทำไมไม่สอนให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่อง อยากเรียน
ละครไม่สนุก จะโทษผู้ดู หรือผู้แสดง อาหารไม่อร่อย จะโทษคนทำ หรือคนกิน
ที่สำคัญกว่า ผู้สอนรับเงินมาสอน ผู้เรียนเสียเงินมาเรียน จะให้ใครออกดี? ถ้าเป็นนายจ้าง)
- สอนให้มีคุณธรรม จริยธรรม แต่กลับไม่ประพฤติดังกล่าวมาแล้ว ทั้งเอาเปรียบผู้เรียน เอาเปรียบหน่วยงานต้นสังกัด
หากลองคิดเปลี่ยนบทบาทว่า หากเป็นผู้ปกครอง เป็นผู้เสียภาษี เป็นนายจ้าง จะจ้างผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่ให้ทำหน้าที่ดังกล่าว คงจะได้คำตอบชัดเจน
Active learning ไม่ใช่ active teaching หรือสอนลูกเดียว แต่ต้องเป็น active being และ actual being จับค่าที่แท้จริงของการอยู่ร่วมกันมาเป็นบทเรียน
Active learning ไม่ใช่การสอนวิธีใหม่ แต่เป็นที่ใจของผู้สอนที่ต้องปรับใหม่ให้เห็นเป้าหมายและเปลี่ยนบทบาท กระบวนการ และพฤติกรรม จะได้แยกแยะได้ถูกว่า สอนเกินความจำเป็นหรือไม่ อะไรที่ไม่ต้องสอน เพราะไม่ได้ใช้งาน แล้วเอาเวลาที่เหลือไปเน้นย้ำให้เกิดผลได้จริง ๆ น่าจะมีเวลาเหลืออีกมาก ๆ ทีเดียว
ฝากให้คิดถึงความจริงว่า หน่วยความจำของคนเพิ่มไม่ได้ แต่เพิ่มประสิทธิภาพได้ ด้วยการคิดเป็น ทำเป็น จัดระบบเป็น เรียนรู้เป็น แล้วนำเครื่องมือมาช่วยเพิ่มความจำ
ที่บันทึก ต้องการแสดงว่า พฤติกรรมของผู้สอนเป็นบทเรียนที่สำคัญมาก ๆ ของ active learning จริงไหม การเป็นต้นแบบที่ดี ก็จะเป็นบทเรียนที่ดี แสดงถึงสิ่งนั้นต้องดีและมีความจำเป็น ที่ทุกคนต้องปฏิบัติ อันไม่ใช่บทบาทการแสดง แต่เป็นบทบาทของชีวิตจริง ๆ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « Active learning ๒: บทบาทที่ต้องป...
- ใหม่กว่า » ได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ (เ...
ความเห็น
![]() |
วันนี้ว่างๆ เช้าหน่อย กำลัง search หากลุ่มสุนทรียสนทนา และกลุ่มจิตตปัญญาศึกษาของ มอ ได้มีโอกาศ อ่าน Active Being ของอาจารย์ ประทับใจที่อาจารย์สละเวลา แบ่งปัน จะคอยติดตามค่ะ
Cheers!!!!!
อ่านแล้วโดนใจมากเลยค่ะ ขอสมัครเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ด้วยคนค่ะ โดยเฉพาะเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ในเรื่องต่างๆ อย่างน้อยก็ในเรื่องทั่วไปที่เห็นได้ประจำวันเช่น ความมีวินัย ความรับผิดชอบ ความมีน้ำใจ การรู้จักกาละเทศะ เป็นต้น ทั้งนี้ ที่จะขาดไม่ได้คือ ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างศิษย์กับครู และให้ความรักความเมตตา มีความเอื้ออาทรต่อศิษย์ ให้ความห่วงใย คอยถามทุกข์สุข ให้ข้อคิด ข้อแนะนำต่างๆตามโอกาส สุดท้าย ดิฉันเชื่อว่าหากเราทำทุกอย่างด้วยใจที่มีแต่การให้จากครูถึงศิษย์ ความรักและความศรัทธาระหว่างครูและศิษย์ก็จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ร่วมกัน รวมไปยังเรื่องอื่นๆต่อไปได้ด้วยค่ะ
ท่านpanyarak ประเด็นเรื่องเวลา คงต้องตระหนักกันทุกคน และแสดงให้จริงจังมากขึ้น
ประเด็นการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนสามารถออกแบบ ดำเนินการ และกำกับได้ ดังนั้น ผู้เรียนย่อมต้องตาม เพียงแต่ต้องหาวิธีการให้สนุก จูงใจ การให้คะแนนให้สอดคล้อง ดังตอนที่ ๒
คุณJeerapa Sookgaew และคุณ ล.ลิงไต่หลังแกะ ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน หากเห็นด้วยต้องช่วยกันปรับส่วนต้องเกี่ยวข้อง การเป็นแบบอย่าง และช่วยขยายผล
คุณ 259 ยินดีที่เข้าร่วมอุดมการณ์ และเชื่อว่าทำอยู่แล้ว คงต้องช่วยกันขยายผล ชักชวน ทำกันมาก ๆ คงช่วยพัฒนาลูกหลานให้พร้อมดีขึ้น เพราะผิดทิศทางมามากแล้ว
"การเป็นต้นแบบที่ดี ก็จะเป็นบทเรียนที่ดี "
เราไปร่วมกันตามหาครูต้นแบบ แล้วถอดบทเรียน
เพื่อจะได้เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับผู้สอนด้วย
ตามหาครูต้นแบบ (กับอาจารย์ตัวอย่างความหมาย คือกันไหมคะ)
ขอบคุณค่ะ
22 ธันวาคม 2552 23:05
#52323