ความเห็น: 3
ข้อคิดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล ถึงแม้มีชื่อประเทศอังกฤษเป็นเจ้าของภาษา แต่เป็นภาษาที่มีการใช้สื่อสารกันระหว่างคนต่างชาติกันมากที่สุด ดังนั้น เวลามีการประเมินผลด้านความสามารถของคนโดยเฉพาะการศึกษาทุกครั้ง ส่วนใหญ่มักบอกว่ามีความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษไม่ดีพอ หรือภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง
เนื่องจากความสำคัญของภาษาอังกฤษ จึงต้องมีการให้เรียนรู้กันมากขึ้น ซึ่งการจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่เป็นการสอนหลักการใช้ภาษา มากกว่าการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร และมีการประเมินว่าผิด ผิด ผิด จนฝังใจเป็นความกลัวที่จะใช้ภาษา มีคนจำนวนมากสื่อสารภาษาอังกฤษ ทั้งการนำเสนอทางวิชาการ พูดคุยกับชาวต่างชาติได้เรื่องได้ราว สนุกสนาน เฮฮา แต่สอบไม่ผ่านภาษาอังกฤษ ???
ได้อ่านหนังสือที่เขียนโดยชาวจีนที่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษ ได้ให้ข้อสังเกตว่า การเรียนการสอนภาษาอังกฤษส่วนใหญ่เหมือนกันการใช้ปืนที่ยิงทีละนัด สำหรับการใช้แข่งขันยิงปืน ที่จะยิงแต่ละนัด ต้องเล็งแล้วเล็งอีก ก็ยังไม่ถูกเป้าที่ได้คะแนนสูง ๆ
แต่การใช้ภาษาเพื่อการทำงานเหมือนการต่อสู้ในสนามรบ ที่ข้าศึกใช้ปืนกลยิงรัวยิงถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่ข้าศึกตาย และที่แน่ ๆ นักแม่นปืนเมื่อออกรบคงตายเช่นกัน เพราะมัวบรรจุกระสุนที่ละนัด และจะยิงแต่ละที เล็งแล้ว เล็งอีก ความจริงคงถูกยิงตายตั้งแต่หยิบปืนมาบรรจุกระสุนแล้ว
เหมือนการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นถูกหลักภาษา ถูกคำ กว่าหาศัพท์เจอ การคิดว่าจะใช้ให้ถูกต้องอย่างไร คนพูดด้วยคงรอนาน หรือกลับบ้านไปแล้ว แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ คนพูดไม่กล้าจะชักปืนขึ้นมาเพราะกลัวจะถูกว่าใช้ปืนผิด หรือไม่ก็ถูกยิงตายไปเพราะบรรจุกระสุนไม่ทัน แต่หากเปรียบการใช้ภาษาอังกฤษมักไม่กล้าชักปืน คือไม่กล้าพูดเพราะคำว่า ผิด ผิด ผิด ฝังไว้ตั้งแต่สมัยเรียน โดยอย่างยิ่งคนไทยที่เป็นขี้อาย ขี้กลัวเป็นทุนอยู่แล้ว
อยากจะเห็นการแยกแยะการสอนภาษาอังกฤษที่เป็นนักภาษาศาสตร์ คงต้องเน้นหลักการใช้ภาษาให้ถูกต้องเพราะจะไปเป็นครูสอน แต่สำหรับในนักศึกษาทั่ว ๆ ไป น่าจะเน้นการใช้เพื่อการสื่อสาร และต้องส่งเสริม ให้กำลังใจ ที่สำคัญให้มีความกล้า ส่วนการหาความรู้เพิ่มน่าดำเนินการเองต่อไปได้ มากกว่าการตรวจว่าผิด ผิด ผิด รวมถึงต้องจัดสถานการณ์ให้มีโอกาสการใช้ภาษานอกชั้นเรียน การกำหนดสัดส่วนจำนวนผู้เรียนที่ประกันว่าจะสามารถตรวจสอบการฝึกออกเสียงได้ หรือใช้การกระบวนการหรือเนื้อหาในวิชาชีพมาร่วมเป็นกระบวนการด้วย
เคยไปประเมินคุณภาพการศึกษาการสอนภาษาครั้งหนึ่ง ได้สัมภาษณ์นักศึกษาถึงการจัดการสอนภาษาอังกฤษด้วยการจัดแสดงละครด้วยการใช้ภาษาอังกฤษ โดยผู้เรียนรับบทไปแล้ว ต้องทำบทให้เป็นภาษาอังกฤษ และซ้อมทั้งบทละคร ซึ่งนักศึกษาบอกว่าทำให้พัฒนาความสามารถทางภาษาได้ดี
ด้วยในชีวิตจริงในการทำงานดำรงชีพ มีสนามรบและอยู่ในสนามรบมากกว่าการแข่งขันยิงปืน คงต้องปรับการสอนให้ยิงปืนกล กล้าชักปืน โดยจัดกระบวนการสอนภาษาอังกฤษแบบสนามรบสำหรับการฝึกนักรบ ส่วนนักแม่นปืนคงต้องแยกไปเข้าค่ายเฉพาะความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอน พัฒนาคน ต้องให้สามารถนำความรู้ไปใช้งานได้ หน้าที่ของสถาบันการศึกษา คงไม่ใช่การสร้างนักยิงปืนสู่สนามแข่งขันยิงปืน แต่มีหน้าที่สร้างนักรบที่สามารถเข้าสู่สนามรบในอาชีพต่าง ๆ ได้
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « การจัดการศึกษาไทย จุดแข็งสร้างจุ...
- ใหม่กว่า » Share คณะทรัพยฯ ขยับจากคณะลงสู่ภ...
ความเห็น
เห็นด้วยค่ะ และเราคงต้องแยกนะคะว่า เราอยากให้นักศึกษาของเราพูดได้เท่านั้นหรือ เราคงอยากให้อ่านได้ด้วยเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม ตอนนี้ภาษาอังกฤษ 1 เน้นฟังและพูด อังกฤษ 2 จึงค่อยเป็นอ่านและเขียน คือให้กำลังใจก้นก่อนว่าพูดนะ ไม่ยากอย่างที่คิด แล้วค่อนไปสู่สิ่งที่ยากขึ้น
ขอบคุณ คุณไม่หยุดนิ่ง กับท่านumpairat ที่ให้ความเห็น
ความจริง อยากจะเห็นการปรับเปลี่ยนตั้งแต่ระดับเริ่มเรียนในโรงเรียน เพราะมาถึงระดับอุดมนั้น กลัวไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม คงต้องช่วยกันทุกระดับ ทั้งทำความเข้าใจกับผู้เรียน การสร้างบรรยากาศ โดยเฉพาะจิตวิทยา ที่ทำให้กล้ามากขึ้น ในชีวิตจริง แม้แต่ภาษาไทยก็ใช้เป็นการสื่อสาร หากเอาหลักการใช้ภาษามาจับก็ผิดเหมือนกัน
ในส่วนของคณะทรัพยฯก็พยายามให้มีการใช้ภาษาอังกฤษทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการอ่านบทความทางวิชาการ ให้มีการกระจายกิจกรรมในทุกภาคการศึกษา การทำสื่อการสอนเป็นภาษาอังกฤษ
ความจริง ความสามารถภาษาอังกฤษของบัณฑิต ม.อ. ก็ยังเห็นว่าใช้ได้ พบศิษย์เก่าที่ทำงานในบรรยากาศที่ต้องใช้ก็สามารถทำได้ แสดงว่าบรรยากาศนั้น สำคัญต่อการใช้ภาษามาก ๆ
08 ตุลาคม 2552 19:35
#49160
เห็นด้วยครับ ที่สำคัญภาษาเมื่อเรียนแล้วต้องใช้จริงมิใช่เรียนในห้องแล้วออกนอกห้องยังพูดภาษาไทยอยู่ ทำไมเราไม่ทำให้ มอ. เรา หันมาพูดภาษาอังกฤษกันทั้งมหาวิทยาลัยครับ อาจารย์ควรเป็นตัวอย่างให้นักศึกษาก่อน อาจารย์เองยังไม่พูดเลยแล้วนักศึกษาจะพูดได้อย่างไรละครับ
แม้ว่าจะพูดผิดพูดถูกบ้างก็ขอให้พูดออกมาก่อนเพื่อเป็นการสร้างความกล้าหาญออกมา เมื่อมีการพูดครั้งที่หนึ่งแล้ว ครั้งที่สอง สาม สี่ ห้าและครั้งอื่น ๆ ก็จะเกิดขึ้น ถ้าพูดผิดผู้ที่รู้ก็ควรช่วยแก้ไขให้เขามิใช่เยอะเย้อเขาจนเขาไม่กล้าพูดซึ่งเป็นแนวคิดเชิงลบ เราต้องสร้างแนบคิดเชิงบวกให้ได้ครับโดยการกระตุ้นให้กล้าพูดก่อนแล้วค่อยมาช่วยกันแก้ไขสิ่งผิดพลาดทีหลัง ลองนึกถึงเด็กเล็ก ๆ สิครับว่า เขาเรียนรู้ภาษาอย่างไรหรือนึกถึงพวกเราสมัยเด็กก็ได้ครับ เราเริ่มจากการฟังมาก ๆ ก่อนแล้วจึงเริ่มหัดพูดซึ่งมีทั้งถูกและผิด หลังจากนั่นจึงเข้าชั้นเรียนเพื่อเริ่มเรียนการอ่านและเขียนใช่ไหมละครับ เราอาจนำแนวทางนี้มาสอนเด็กก็ได้นะครับ หลายคนเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ประถมปลายหรืออาจจะประถมต้นเลยก็ได้จนถึงมหาวิทยาลัยแล้วยังพูดไม่ได้เลย (บางคนไม่มีโอกาสได้พูดเลยเพราะไม่มีใครให้เขาพูด) เราควรร่วมกันสร้างให้เขาพูดได้สิครับ
ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส หรือภาษาอื่น ๆ ถ้าไม่ได้ใช้จริงแล้วเรียนไปก็คงจะไม่มีประโยชน์แน่นอน เราคงต้องกระตุ้นให้มีการใช้ภาษากันจริง ๆ เสียทีนะครับ