comment: 0
โบนัส ปี ๒๕๕๑ ของ ม.อ.
ปี | ผลประเมิน | เงินรางวัล (ล้านบาท) |
๒๕๔๗ | ๔.๖๐๒๖ | ๒๔.๖๓๔ |
๒๕๔๘ | ๓.๘๙๘๕ | ๑๕.๙๗๒ |
๒๕๔๙ | ๔.๒๓๙๘ | ๑๗.๑๖๒ |
๒๕๕๐ | ๓.๕๖๔๑ | ๑๖.๐๓๕ |
๒๕๕๑ | ๓.๗๐๓๗ | ๑๘.๐๗๒๖ |
มหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดสรรให้บุคลากรทุกท่านต่อไป จากยอดเงินรางวัลคงจะได้รับมากกว่าปี ๒๕๕๐ ประมาณ ๑๒.๕ %
ขอบคุณทุกท่านที่สร้างผลงานในตัวชี้วัดต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม มีหลายตัวชี้วัดที่มีผลการประเมินต่ำที่ต้องช่วยกันปรับปรุง ได้แก่
- คุณภาพของบัณฑิตในเรื่อง ความรู้ภาษาต่างประเทศ การหาความรู้และการฝึกฝนตนเอง ความอดทนในการรับฟังผู้อื่น การปรับตัว การแก้ปัญหา ทักษะการทำงานที่มีมาตรฐาน
- จำนวนผู้ทำวิจัย และเงินอุดหนุนการวิจัย ผู้ที่สมควรต้องทำวิจัยคงต้องช่วยกัน และพยายามเสนอขอจากแหล่งทุนภายนอกเพิ่มขึ้น เนื่องจากทุนภายในค่อนข้างจะเต็มที่แล้ว เช่นเงินอุดหนุนวิจัย งบประมาณ ๒๕๕๓ ก็จะได้รับต่ำกว่าปี งบประมาณ ๒๕๕๒ อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายสนับสนุนก็ต้องช่วยอำนวยความสะดวกทั้ง ให้ข้อมูลแหล่งทุน ธุรการด้านเอกสาร การเงิน ห้องปฏิบัติการ และพื้นที่การวิจัย
- เรื่องประสิทธิภาพของการปฏิบัติราชการ ซึ่งมี่ตัวชั้วัดเกี่ยวกับ การประหยัดพลังงาน(ส่วนนี้ นอกจากเป็นข้อกำหนดแล้ว ยังเป็นจิตสำนึกด้วย) การจัดซื้อครุภัณฑ์ การจัดจ้างสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะครุภัณฑ์ต้องเร่งจัดซื้อโดยเร็ว ต้องเตรียมการล่วงหน้าที่ทำให้ดำเนินการจัดซื้อทันทีที่เริ่มปีงบประมาณ ซึ่งเรื่องนี้ นอกจากมีผลต่อคะแนนชี้วัดของ ก.พ.ร. ยังมีผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณด้วย เพราะจะทำให้รัฐบาลมองว่า ได้รับงบประมาณไปแล้ว ไม่สามารถดำเนินการได้ จะเพิ่มงบประมาณไปทำไม รวมทั้งมาตรฐานและเวลาการให้บริการต่างๆ ทั้งส่วนบริการภายนอก และบริการภายใน โดยเฉพาะการบริการภายในที่มีผลกระทบให้ผลการปฏิบัติล่าช้าไปด้วย ต้องช่วยกันทุกขั้นตอน
- เรื่อง การปรับปรุงหลักสูตร ระบบฐานข้อมูล การจัดการความรู้ การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ที่กล่าวมา คือ ตัวชี้วัดที่มีผลการประเมินต่ำ ที่น่าจะช่วยกันทำให้ดีขึ้นได้ แต่มีตัวชี้วัดอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ดีขึ้นยาก เช่น การได้งานทำของบัณฑิต สัดส่วนของบัณฑิตทำงานตรงสาขา อาจารย์วุฒิปริญญาเอก อาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลานานในการปรับปรุง
ทั้งหมดนี้ คงต้องช่วยกันทุกส่วนทุกฝ่าย เพราะเงินรางวัลก็จัดสรรให้ทุกส่วนทุกฝ่ายเช่นกัน มิฉะนั้น ต่อไป อาจต้องจัดสรรไปตามผลการปฏิบัติงานรายบุคคล ซึ่งความจริง น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะใครที่ไม่อยากได้ จะได้ไม่ถูกกล่าวหาว่ากินแรงเพื่อน คนที่อยากได้และทำเต็มที่ จะได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ถึงใครไม่อยากได้เงินรางวัล ก็ยังต้องทำงานตามหน้าที่ให้เต็มที่ตามมาตรฐานตำแหน่งงานนั้น ๆ โดยเฉพาะท่านที่รับเงินประจำตำแหน่ง และเป็นบุคคลที่ต้องสอนผู้อื่นว่าต้องรับผิดชอบ ก่อนจะถูกย้อนกลับว่าส่วนของท่านรับผิดชอบเต็มที่แล้วหรือ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « แนวทางการประเมินคุณภาพ โดย สมศ. ...
- ใหม่กว่า » การทำหน้าที่ผู้ประเมินคุณภาพ
Comment on this Post