ความเห็น: 0
“โครงการประชุมเชิงวิชารเผยแพร่คู่มือจริยธรรมสำหรับผู้ประเมินโครงการวิจัย ผลงานวิชาการ และผลงานวิจัย”
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการดังกล่าวข้างต้น ได้รับฟังเรื่องจริยธรรมสำหรับการตรวจประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ซึ่งท่านก็สรุปไว้ว่า ประเด็นทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการตรวจประเมินมี 5 ประการ คือ
- ความซื่อตรง (Integrity)
- ความเที่ยงธรรม (Fairness)
- ความโปร่งใส (Transparency)
- การรักษาความลับ (Confidentiality)
- ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)
ประเด็นทางจริยธรรมทั้ง 5 ประเด็นนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่แล้ว Peer reviewer ทั้งหลายจะทราบกันค่อนข้างดี แต่สิ่งที่เรานึกไม่ถึงหรือทำผิดจริยธรรมแบบไม่เจตนาก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การทำลายเอกสารโครงร่างการวิจัยอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้แนวคิดการทำโครงการวิจัยของผู้วิจัยหลุดรอดไปยังบุคคลอื่นแบบที่ Peer reviewer ไม่ได้เจตนาใด ๆ ซึ่งเป็นการผิดจริยธรรมเรื่องการรักษาความลับ
ประเด็นทางจริยธรรมที่สำคัญอีกประเด็นที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิเน้นย้ำมากคือ ผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะโอกาสของสถานการณ์ที่จะเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นมีมาก เนื่องจากวงการวิชาการบ้านเรานั้นไม่กว้างเท่าไรนัก Peer reviewer หลาย ๆ สาขาก็มีจำกัดมาก ดังนั้น โอกาสที่จะประเมินงานของลูกศิษย์ หรือเพื่อนร่วมงาน หรือไม่ใช่เพื่อนร่วมงาน แต่เป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพ หรือร่วมศาสตร์เดียวกันที่รู้จักมักคุ้นนั้นมีมาก เรื่องนี้ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็จะเป็นการดีที่สุด เพราะบางครั้งเราอาจเกิดอคติ หรือเกิดการเอนเอียงให้คะแนนด้วยความเสน่หาไปได้ ดังที่เรามักจะมีข้ออ้างกันบ่อยครั้งว่าเรายังเป็นมนุษย์ปุถุชนอยู่ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ให้แจ้งให้บรรณาธิการทราบเพื่อให้บรรณาธิการได้พิจารณา เป็นการประกาศให้รับรู้ไว้อย่างชัดเจน
จะเห็นได้ว่า ประเด็นเรื่องจริยธรรมนั้นอยู่เหนือข้อกฎหมาย อยู่สูงกว่าข้อกฎหมาย ไม่ใช่ระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมาย ยากในการประเมิน ตรวจสอบความมีจริยธรรม และยากในการสร้าง แต่ไม่ใช่สิ่งที่สร้างไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่สังคมเราทุกฝ่ายไม่พยายามช่วยกันสร้าง แถมผู้ใหญ่ยังทำตัวเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีอีกต่างหาก ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความบกพร่องเชิงจริยธรรมค่อนข้างมาก
LUX
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « Fragmentation Marketing
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้