ความเห็น: 0
สายตรงคณบดี : สิ่งดีๆ ของ วิศวฯ ม.อ. ที่เราควรภูมิใจและบอกต่อ ตอนที่ 3
สายตรงคณบดี : สิ่งดีๆ ของ วิศวฯ ม.อ. ที่เราควรภูมิใจและบอกต่อ ตอนที่ 3
เรียน ประชาคมวิศวฯ ม.อ. ทุกท่าน
สายตรงคณบดีในครั้งนี้ กระผมขอสื่อสารสิ่งดีๆ ของ คณะวิศวฯ ม.อ. ของเรา เป็นตอนที่ 3 ซึ่งสาระสำคัญในครั้งนี้ จะเล่าถึงความสำเร็จของอาจารย์ นักวิจัย/นักศึกษา ที่กระผมได้รับทราบข้อมูลจากการที่อาจารย์ของเราได้รายงานให้ทราบทั้งด้วยเอกสารและด้วยวาจา เพื่อประชาคมวิศวฯ จะได้รับทราบเรื่องดีๆที่เกิดขึ้นในคณะของเราใน 3 เรื่องดังนี้ครับ
1. ความสำเร็จของทีมดงยางในเวทีโลก
ทีมดงยาง ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ใช้งานภายในบ้าน (Robot@home) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. มาอย่างต่อเนื่อง และได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์ที่ใช้งานภายในบ้านเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันสำหรับในปี 2013 ทีมดงยาง เพิ่งกลับจากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก (World Robocup@home) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมกับความสำเร็จอีกระดับของทีมคือ สามารถผ่านเข้ารอบที่สองของการแข่งขันในครั้งนี้และได้ลำดับที่ 11 จากการแข่งขันในระดับโลกมาฝาก ชาววิศวฯ ม.อ. ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างชื่อเสียงและเกียรติประวัติให้ไม่เฉพาะกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. แต่เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วยครับ
กระผมจึงถือโอกาสนี้ขอขอบคุณอาจารย์ บุคลากร นักศึกษาของทีมดงยาง และขอขอบคุณผู้สนับสนุนทุกท่านที่ช่วยกันทำให้ทีมดงยางสามารถไปผงาดในเวทีโลกได้เป็นปีที่สองติดต่อกันนะครับ และสำหรับในปี 2015 ทราบว่าการแข่งขัน World RoboCup 2015 จะจัดที่ประเทศไทย เราคงจะได้ลุ้นฝีมือเด็กไทยจากทีมดงยางอีกแน่นอนครับ
2. ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สาย ได้รับงบประมาณพัฒนานักศึกษาด้าน embedded system จากภาคอุตสาหกรรม
ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สาย (COE-WSN) เป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ของเราโดยความร่วมมือกับ NECTEC ซึ่งที่ผ่านมาทางศูนย์ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเซนเซอร์ไร้สายและระบบสมองกลฝังตัวมาอย่างต่อเนื่อง และมีผลงานที่มีการนำไปประยุกต์ใช้งานจริงในหลายๆ ผลงาน เช่น การประยุกต์ใช้เซนเซอร์ไร้สายกับภาคการเกษตรซึ่งมีการทดลองในลักษณะของโครงการต้นแบบในพื้นที่จริงร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลจากการดำเนินการในโครงการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงซึ่งจะนำไปสู่การลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อขยายงานวิจัยด้านเซนเซอร์ไร้สายไปสู่การใช้ประโยชน์กับภาคการเกษตรและพัฒนาคนทางด้านนี้ให้กับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป
สำหรับสิ่งดีๆ ทีเกิดขึ้นจากผลงานของ COE-WSN ล่าสุดที่เพิ่งได้รับทราบจาก e-mail ของ ผู้อำนวยการศูนย์ (ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต) คือการที่ COE-WSN ได้จัดทำโครงการ Human Resource Development for Embedded System Industrial ร่วมกับ TESA และ มหาวิทยาลัยอื่นๆ อีก 6 สถาบัน ร่วมกันขอสนับสนุนงบประมาณจากภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนทางด้าน embedded system ให้กับนักศึกษา ซึ่งจะเป็นการสร้างความพร้อมให้นักศึกษาที่จะเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ embedded system และเป็นที่น่ายินดีว่าโครงการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการจาก BOI, ประธานหอการค้าไทย รวมทั้งคณะกรรมการจาก สวทช และ NECTEC แล้ว โดยทาง COE-WSN จะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อพัฒนานักศึกษาตามโครงการนี้ เป็นเวลา 1 ปี ในวงเงินประมาณ 400,000 บาท และจะทำงานร่วมกับบริษัทเอกชน (บริษัท DG) ที่ได้มีการลงนามความร่วมมือ ระหว่างบริษัท DG TESA และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ คณบดี และ ผอ. COE-WSN ได้ร่วมลงนามไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
ที่นำเรื่องนี้มาเรียนว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในคณะวิศวฯ ของเรา ก็เพราะว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษา (วิศวฯ ม.อ.) ภาคเอกชน (บ.DG) ภาครัฐที่สนับสนุนด้านการวิจัยของประเทศ (สวทช. NECTEC) รวมทั้ง TESA อย่างจริงจังและมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมด้วยเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างผลงานวิจัยและการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมด้าน embedded system ครับ
กระผมจึงขอถือโอกาสนี้ ขอขอบคุณทางทีมงานของ COE-WSN ทุกท่านที่ได้ทุ่มเทและสร้างสิ่งดีๆ นี้ให้เกิดขึ้นกับคณะวิศวฯ ของเรานะครับ และกระผมเชื่อว่า ผลงานของทาง COE-WSN อีกหลายๆ ผลงานจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากมีการลงนามกับกระทรวงเกษตรที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ก็คงจะมีสิ่งดีๆ ตามมาอีกนะครับ
3. ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตยุคหน้า ร่วมบริษัททีโอที ในการนำ ICT เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน
สิ่งดีๆ ในเรื่องนี้เกิดจากศักยภาพของศูนย์ความรู้เฉพาะด้านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตยุคหน้า (CNR)โดย รศ.ดร.สินชัย กมลภิวงศ์ ในการทำงานร่วมกับบริษัททีโอที ตามโครงการสนับสนุน ICT เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนในภาคใต้ของเรา รวม 2 โครงการ คือ โครงการสนับสนุน ICT เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนที่เกาะบูโหลน อ.ละงู จ.สตูล และที่ บ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในโครงการหลังนี้จะมีการลงนามระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และบริษัททีโอที และจะมีการเปิดโครงการดังกล่าวโดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ครับ สำหรับโครงการที่ เกาะบูโหลน อ.ละงู จ.สตูล นั้นเป็นโครงการของมหาวิทยาลัยร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาในการพัฒนาเกาะบูโหลนครับ จึงเป็นการลงนามระหว่าง มูลนิธิชัยพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และบริษัททีโอที ครับ
กระผมจึงขอถือโอกาสนี้ ขอขอบคุณทางทีมงานของ CNR ทุกท่านที่ได้ทุ่มเทและสร้างสิ่งดีๆ นี้ให้เกิดขึ้นกับคณะวิศวฯ ของเรานะครับ และจริงๆแล้ว CNR ยังมีผลงาน อีกหลายๆ ผลงานที่พร้อมจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยในอนาคตเช่น เรื่อง IPV6 ที่ทาง CNR เป็นผู้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนทั้งในเชิงนโยบาย การวิจัยพัฒนา และ การนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งกระทรวง ICT ได้นำไปสู่การดำเนินการทั้งในแง่ของนโยบายและการปฏิบัติแล้ว ดังนั้นเราคงจะได้เห็นการพัฒนาทางด้าน IPV6 ของประเทศไทยที่ขับเคลื่อนโดย CNR จาก คณะวิศวฯ ม.อ.ของเราไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ครับ
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งดีๆ ที่ อาจารย์/นักวิจัย ของเราได้ร่วมกัน สร้าง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และสร้างชื่อเสียงให้กับคณะวิศวฯ ของเราให้เป็นที่ยอมรับแก่ชุมชน สังคม ในทุกภาคส่วนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลกครับ ซึ่งเราทุกคนก็คงต้องช่วยกันสร้างและรังสรรค์สิ่งดีๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับคณะวิศวฯ ของเราอย่างต่อเนื่องต่อไปนะครับ
ขอบคุณครับ
อ.จรัญ
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้