ความเห็น: 1
สายตรงคณบดี: สี่ปี ที่บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ตอนที่ 3): สี่ปี ของคณบดีและทีมบริหาร มีอะไรใหม่ (ด้านการเรียนการสอน)
สายตรงคณบดี: สี่ปี ที่บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ตอนที่ 3)
สี่ปี ของคณบดีและทีมบริหาร มีอะไรใหม่ (ด้านการเรียนการสอน)
เรียนประชาคมวิศวฯ ทุกท่าน
การสื่อสารในประเด็น “สี่ปี ของคณบดีและทีมบริหาร มีอะไรใหม่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ด้านการเรียนการสอน)” นั้น จะสื่อสารเฉพาะสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นจาก แนวคิด RACE…ING และนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น ซึ่งมีสาระต่างๆ ที่สำคัญๆ ที่สามารถบอกกล่าวผ่านสายตรงคณบดีได้ดังนี้ครับ
Academics Quality, A
1. แนวคิดในภาพรวม
แนวคิดในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ ที่ระบุไว้ในแนวคิดและแนวทางการพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อ เป็น “Academics Quality, A” มองว่านักศึกษาเป็น “บุคลากร” ที่เป็น Asset มีสภาพเป็น “ทุนมนุษย์” ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการบริหารและการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร ดังนั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์จะต้องหาแนวทางในการพัฒนาตัวนักศึกษาให้มีคุณภาพมากที่สุด คือ การพัฒนาให้นักศึกษาเป็นคนเก่งคนดี ซึ่งสามารถวางแนวทางการพัฒนา Asset นี้ให้มีคุณค่าสูงสุดต่อสังคมและองค์กร โดยดำเนินการใน 3 ขั้นตอน คือ
1. การได้มาซึ่ง Asset: คือการรับนักศึกษา ที่จะต้องมีกลยุทธ์ในการที่จะได้มาซึ่งนักศึกษาที่มีคุณภาพและในปริมาณที่คุ้มค่าที่จะนำมาพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า
2. การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ Asset: คือการพัฒนานักศึกษาให้เป็นคนเก่งคนดี ซึ่งจะต้องมีกลยุทธ์ในการพัฒนาให้มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของสังคมและชุมชน คือ การเป็น คนเก่งและดี และ
3. การดูแลผลประโยชน์จาก Asset: คือความสัมพันธ์กับศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์จะต้องมีกลยุทธ์ที่ต้องสานสัมพันธ์กับศิษย์เก่าเพื่อนำศักยภาพของศิษย์เก่ามาร่วมกันพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้คณะวิศวกรรมศาสตร์มีกำลังที่จะรับ Asset ใหม่เข้ามาพัฒนาต่อไป จากแนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำมากำหนดเป็น แนวทางการพัฒนาเป็น 3 ด้านคือ
1.แนวทางการพัฒนาด้านการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี
2.แนวทางการพัฒนาด้านการผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษา และ
3. ศิษย์เก่ากับการพัฒนาคณะวิศวฯ ม.อ.
ซึ่งแต่ละด้านก็จะมีแนวทางการพัฒนาที่ระบุไว้อย่างชัดเจนดังรายละเอียดในเอกสารแนวคิดและแนวทางการพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ 2552-2556 ครับ
จากแนวคิดและแนวทางการพัฒนา คณบดี ทีมบริหาร และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ซึ่งมีผลงานเด่นๆ จากแนวคิดและแนวทางการพัฒนาในทั้ง 3 ด้านข้างต้นดังนี้ครับ
2. จากแนวคิด แนวทาง…สูการปฏิบัติ
2.1 แนวทางการพัฒนาด้านการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี
2.1.1 การสรรหานักศึกษาที่มีคุณภาพดีเข้าคณะให้มากขึ้น
สิ่งที่คณะได้ดำเนินการตามแนวคิดและแนวทางการพัฒนาในประเด็นนี้ประกอบด้วย
• การลดจำนวนรับนักศึกษา ลงประมาณ 150 คน
จากการลดจำนวนรับที่รับนักศึกษาจำนวน 913 คนในปีการศึกษา 2553 เป็น จำนวน 769 คน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นมานั้น ส่งผลให้นักศึกษาที่รับได้มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งมีข้อมูลสนับสนุนโดยการพิจารณาได้จากผลการศึกษาของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของรหัส 54 และ 55 เทียบเมื่อเทียบนักศึกษาชั้นปีที่ 1 รหัส 53 (ก่อนลดจำนวนรับ) ในเรื่องของการพ้นสภาพการศึกษา และ การติดสภาวะรอพินิจพบว่านักศึกษารหัส 54 และ 55 มีสถานะภาพที่ดีกว่าดังนี้
จำนวนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่พ้นสภาพ สำหรับนักศึกษารหัส 55,54 และ 53 เป็นร้อยละ 0.92,0.33 และ 1.52 ตามลำดับ
จำนวนนักศึกษาชั้นปีที่1 ที่อยู่ในสภาวะรอพินิจ สำหรับนักศึกษารหัส 55,54 และ 53 เป็นร้อยละ 14.36,19.02 และ 26.03 ตามลำดับ
ทั้งนี้นักศึกษาทั้ง 3 กลุ่มยังไม่จบการศึกษาจึงยังไม่สามารถประเมินร้อยละที่จบการศึกษาภายใน 4 ปีได้ อย่างไรก็ตามทางคณะก็จะต้องศึกษาวิเคราะห์ผลจากการลดจำนวนนักศึกษาในเชิงลึกต่อไปครับ และในอนาคตเมื่อเราสามารถรับนักศึกษาที่มีคุณภาพเข้ามาได้และบัณฑิตที่จบออกไปมีคุณภาพ และเมื่อมีนักศึกษาที่มีคุณภาพต้องการเข้ามาศึกษาต่อที่คณะวิศวฯ ของเราโอกาสที่คณะจะขยายจำนวนรับก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน แต่สิ่งที่เราต้องยึดมั่นคือ คุณภาพของบัณฑิต และต้องไม่ให้มีเสียงสะท้อนว่ารับเข้ามาอยู่ปีเดียวแล้วก็ออกไปซึ่งจะเป็นการเสียโอกาสของทุกๆ ฝ่าย ทั้ง นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะวิศวฯ เองครับ
• รับนักศึกษาหลายช่องทาง/การดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและหลายวิธี
• รับนักศึกษาหลายช่องทาง
ทางคณะได้ดำเนินการพัฒนาช่องทางการรับนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ถึงปัจจุบันมีช่องทางในการรับนักศึกษาถึง 17ช่องทาง ในจำนวนช่องทางทั้งหมดนั้น 16 ช่องทางเป็นช่องทางที่คณะสามารถรับนักศึกษาได้โดยตรง และอีกหนึ่งช่องทางเป็นการรับผ่านระบบการสอบกลาง (admission)
• การดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและหลายวิธี
คณะวิศวฯ ได้ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์เพื่อการรับนักศึกษา โดยมีการดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในหลายๆ แนวทางประกอบด้วย
1. การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการประชาสัมพันธ์การรับนักศึกษา ที่มีตัวแทนจากทุกภาควิชาเข้ามาร่วมดำเนินการกันอย่างเข้มแข็งโดยเฉพาะในเรื่องการเดินทางไปประชาสัมพันธ์ยังโรงเรียนต่างๆ พร้อมกับการนำนักศึกษาและผลงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาไปจัดแสดงยังโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งการวางแผนการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ส่งผลให้การรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2556 ที่คณะกำลังดำเนินการนั้นสามารถรับนักศึกษาจากการรับตรงและโควต้าต่างๆ ได้สูงกว่าจำนวนรับตามแผนที่วางไว้ และสามารถลดจำนวนรับที่จะรับจาก admission กลางลงได้เป็นครั้งแรกของคณะซึ่งอาจจะนำไปสู่ การยกระดับคะแนน admission ของวิศวฯ ม.อ. ให้สูงขึ้นได้ครับ
2. คณะได้ดำเนินการให้มีหน่วยองค์กรสัมพันธ์ขึ้นมาดำเนินการประชาสัมพันธ์ผลงานเด่นๆ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ออกสู่สังคม และโรงเรียนต่างๆ อย่างจริงจรังและต่อเนื่อง และยังดำเนินการจัดโครงการให้โรงเรียนต่างๆสามารถส่งนักเรียนเข้ามาร่วมในกิจกรรมที่จะช่วยให้โรงเรียนและนักเรียนได้รู้จักคณะวิศวกรรมศาสตร์ของเราโดยตรงคือ โครงการ “โรงเรียนสัมพันธ์กับงานวิจัย” ซึ่งมีกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมโรงเรียนทัวร์งานวิจัย และกิจกรรมโรงเรียนทำวิจัย
โดยกิจกรรม “โรงเรียนทัวร์งานวิจัย” จะดำเนินการโดยให้โรงเรียนสมัครเข้ามาร่วมเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เชิงวิศวกรรมและเข้าชมผลงานวิจัยผลงานวิชาการเด่นๆ ของคณะที่ภาควิชาหรือเครือข่ายวิจัยของคณะ
ส่วนกิจกรรม “โรงเรียนทำวิจัย” จะรับสมัครนักเรียนเข้ามาร่วมทำวิจัยกับเครือข่ายวิจัยของคณะฯ ในช่วงปิดภาคการศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการทำงานวิจัยและได้รู้จักคณะวิศวกรรมศาสตร์มากขึ้น
โครงการ “โรงเรียนสัมพันธ์กับงานวิจัย” จึงเป็นโครงการที่จะทำให้นักเรียนและโรงเรียนได้เห็นศักยภาพของคณะวิศวกรรมศาสตร์ของเราจากการได้เข้ามาสัมผัสและเรียนรู้จริงครับ
นอกจากนี้คณะกรรมการดำเนินการประชาสัมพันธ์การรับนักศึกษา และ หน่วยองค์กรสัมพันธ์ได้วางแผนการประชาสัมพันธ์สำหรับการรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2557 ไว้ในอีกหลายๆ รูปแบบ ที่อยู่ในระหว่างการเตรียมการเช่น โครงการค่ายวิศวฯ ม.อ. และโครงการสร้างความสัมพันธ์กับครูแนะแนวของโรงเรียนต่างๆ เป็นต้น
2.1.2. การพัฒนานักศึกษาระดับปริญญาตรีให้เป็นคนเก่งและดี
ด้านหลักสูตร :
มีการดำเนินการตามแนวคิดและแนวทางการพัฒนาที่กำหนดไว้ในเรื่องสำคัญๆ ดังนี้
1. ปรับปรุงหลักสูตรที่มีความพร้อมให้มีการศึกษาที่เรียนรู้บนฐานการทำงานในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น
• ปรับหลักสูตรที่มีความพร้อมให้มีแผนการศึกษาแบบสหกิจศึกษา
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้กำหนดนโยบายให้แต่ละหลักสูตร มีแผนการศึกษาแบบสหกิจศึกษา เพื่อเป็นทางเลือกให้นักศึกษาได้มีการเรียนรู้บนฐานของการทำงานในภาคการผลิตมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน มีสาขาต่างๆ ที่บรรจุแผนสหกิจศึกษาไว้เป็นทางเลือกในหลักสูตรจำนวน 5 สาขา คือ วิศวกรรมเคมี ไฟฟ้า ชีวการแพทย์ อุตสาหการ และ การผลิต ในขณะที่สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลกำลังดำเนินการเพื่อจัดการเรียนการสอนแบบ work integrate learning (wil) ร่วมกับบริษัทมิชิลินและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งนักศึกษาจะต้องไปเรียนและปฏิบัติงานจริงในโรงงานเป็นระยะเวลาที่นากว่าสหกิจศึกษาครับ
สำหรับการดำเนินการในหลักสูตรที่มีสหกิจศึกษานั้นทางคณะกำลังดำเนินการตามแผนการจัดการศึกษาสหกิจศึกษาที่คณะกำหนดไว้เช่น การประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาได้รับทราบถึงแผนการจัดการศึกษาดังกล่าว การพบปะผู้บริหารของภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างความร่วมมือในโครงการสหกิจของคณะ และการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาตามแผนการของสหกิจศึกษา
จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า โปรแกรมการศึกษาแบบสหกิจศึกษาของสาขาวิชาต่างๆ ได้รับความสนใจจากทั้งนักศึกษา และ ผู้ประกอบการ อย่างดียิ่ง การจัดการศึกษาแบบสหกิจศึกษาจะเป็นแนวทางที่จะพัฒนาให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่จะสร้างจุดเด่นให้กับบัณฑิตจาก วิศวฯ ม.อ. ของเราในอนาคตได้ครับ
ด้านกระบวนการเรียนการสอน:
มีการดำเนินการตามแนวคิดและแนวทางการพัฒนาที่กำหนดไว้ในเรื่องสำคัญๆ ดังนี้
1.มีระบบดูแลนักศึกษาที่มีผลการเรียนอ่อนและระบบดูแลนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี: ประกอบด้วย
• การแก้ปัญหาผลการศึกษาในวิชาพื้นฐาน ทางคณิตศาสตร์ เคมี และฟิสิกส์
ทีมบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ทีมบริหารคณะวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหาผลการศึกษารายวิชาพื้นฐานของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาอย่างต่อเนื่องซึ่งได้มีแนวทางและเริ่มนำไปสู่การปฏิบัติตั้งแต่ภาคการศึกษา 3/2555 นี้เป็นต้นไป
• ระบบคลีนิกให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ :
โดยคณะได้จัดให้มีห้องสำหรับนักศึกษามาติดต่อขอคำปรึกษาแยกออกมาจากห้องทำงานของบุคลากร เพื่อสะดวกในการที่เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา นอกจากนี้แล้วทางกลุ่มงานยังได้ดำเนินการสื่อสาร ให้คำปรึกษา และแก้ปัญหาต่างๆให้กับนักศึกษาผ่านระบบ face book ของหน่วยทะเบียน ที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. เชื่อมโยงการสอนปริญญาตรีกับปัญหาจากภาคอุตสาหกรรม/ชุมชน หรือภาคบริการ ได้แก่
• การเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคอุตสาหกรรมมาร่วมเป็นกรรมการประเมินในโครงการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ระดับปริญญาตรี
• สร้างเครือข่ายกับภาคอุตสากรรมเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนการสอนกับภาคอุตสาหกรรม โดยอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการ ด้านเครื่องปรับอากาศและห้องเย็น ร่วมกับบริษัทบิทไวส์ ซึ่งมีศิษย์เก่าเป็นเจ้าของและผู้บริหารบริษัทดังกล่าว ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงการสอนในระดับปริญญาตรีเข้ากับภาคอุตสหกรรมและภาคบริการได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้านการพัฒนานักศึกษา
มีการดำเนินการตามแนวคิดและแนวทางการพัฒนาที่กำหนดไว้ในเรื่องสำคัญๆ ดังนี้
1. สร้างนวัตกรรมและผลงานวิชาการ จากโครงงานปริญญาตรี
• จัดให้มีโครงการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ระดับปริญญาตรี ในงาน วิศวฯ ม.อ. วิชาการทุกปี โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย
• การจัดประชุมวิชาการสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ร่วมกับ ม.วลัยลักษณ์ และ ม.ทักษิณ
2. สร้างประสบการณ์นานาชาติให้กับนักศึกษา
• ให้นักศึกษาได้มีโอกาสไปฝึกงานในต่างประเทศโดยการส่งนักศึกษาไปฝึกงาน ณ.ประเทศจีน และเซอร์เบีย
• ให้นักศึกษาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักศึกษาต่างชาติที่มาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์โดยจัดให้มีกิจกรรมร่วมระหว่างนักศึกษาของคณะกับนักศึกษาจากประเทศมาเลเซีย ตามโครงการ PSU&USM Engineering Camp ซึ่งความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของ USMที่คณบดีและทีมบริหารจากภาควิชาได้เดินทางไปเจรจาให้เกิดกิจกรรมดังกล่าวและเป็นหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
• จัดโครงการพัฒนาภาษาอังกฤษ “โครงการ English Conversation for Fun เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โครงการนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจและการทุ่มเทและเสียสละของอาจารย์รุ่นใหม่ของคณะที่ได้ช่วยกันดำเนินการในโครงการดังกล่าวให้กับนักศึกษาของเราครับ
• การเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบ TOEIC ให้กับนักศึกษา
3. การทำงานร่วมกับสภาวิศวกร
• การจัดให้มีศูนย์สอบใบประกอบวิชาชีพของสภาวิศวกรที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้วิศวกรและศิษย์เก่าของคณะวิศวกรรมศาสตร์สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพได้โดยไม่ต้องเดินทางไปสอบที่กรุงเทพ
2.2 แนวทางการพัฒนาด้านการผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษา
ในการพัฒนาด้านการผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษา ที่ได้ดำเนินการตามแนวคิดและแนวทางพัฒนาที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรมประกอบด้วย
1. จัดทำหลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนระดับสูงของประเทศ สิ่งที่คณะได้ดำเนินการตามแนวคิดและแนวทางพัฒนานี้ประกอบด้วย
• ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลในการเปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาทางด้านพลังงาน “หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมพลังงานและหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมพลังงาน หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2556 ซึ่ง หลักคิดและความพร้อมในการเปิดหลักสูตรดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อ วันที่ 13 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา
• ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการในการเปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หลักสูตรใหม่ 2556 ซึ่ง หลักคิดและความพร้อมในการเปิดหลักสูตรดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อ วันที่ 13 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา 2. พัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษและหลักสูตรนานาชาติ
• คณะได้จัดการบริหารหลักสูตรระดับปริญญาโทสำหรับนักศึกษาที่มีความสามารถพิเศษ โดยให้มีโปแกรมตรี-โท 5 ปี ในสาขาที่พร้อมและจัดสรรทุนสนับสนุนแก่นักศึกษาที่เข้าศึกษาในโปแกรมดังกล่าว
• คณะเตรียมความพร้อมในการเปิดหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาโท ในสาขาแมคคาทรอนิกส์ โดยการร่วมมือกับ OTTO-VON GUERICKE University ประเทศเยอรมนี โดยได้ส่งหัวหน้าภาควิชาและผู้รับผิดชอบหลักสูตร รศ.ดร.พฤทธิกร ไปเจรจาและเตรียมการในการร่างหลักสูตรร่วมกัน
2.3 ศิษย์เก่ากับการพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์
คณบดีได้ให้ความสำคัญกับการนำศักยภาพของศิษย์เก่ามาพัฒนาคณะเป็นอย่างยิ่ง โดยได้จัดตั้งหน่วยองค์กรสัมพันธ์ขึ้นมารับผิดชอบงานศิษย์เก่าสัมพันธ์โดยตรง และขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างคณะกับศิษย์เก่าตามแนวคิดและแนวทางการพัฒนาที่วางไว้ ซึ่งที่ผ่านมาคณบดี และรองคณบดี และหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ร่วมกันดำเนินการบริหารงานด้านศิษย์เก่าสัมพันธ์ได้อย่างดี ส่งผลให้มีความร่วมมือระหว่างคณะกับศิษย์เก่าอย่างเข้มแข็ง การดำเนินการตามแนวคิดและแนวทางการพัฒนาที่วางไว้สามารถดำเนินการได้ในทุกแนวทางได้แก่
ฐานข้อมูลศิษย์เก่าเป็นฐานข้อมูล Asset ที่สำคัญของคณะ:
คณะได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่องประกอบด้วย
• พัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลศิษย์เก่า
• การสื่อสารระหว่างคณะกับศิษย์เก่าผ่านทาง website และ Email อย่างต่อเนื่อง
• มีระบบเชิดชูเกียรติ และยกย่องศิษย์เก่าที่ทำชื่อเสียงให้กับคณะ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างศิษย์เก่ากับคณะฯ เช่น 45ปี 45 ศิษย์เก่าที่เราภูมิใจ และ การคัดเลือกศิษย์เก่าดีเด่นประเภทต่างๆ
นำศักยภาพของศิษย์เก่ามาพัฒนาคณะ :
คณะได้ดำเนินการร่วมมือกับศิษย์เก่า ในการระดมทุน และการนำศักยภาพของศิษย์เก่ามาพัฒนาคณะในด้านต่างๆ โดยได้ดำเนินการตามแนวทางที่วางไว้ดังนี้
• จัดให้มีสำนักงานสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่คณะ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์
• แต่งตั้งศิษย์เก่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิใน Industrial Advisory Board ของคณะ
• กำหนดโครงการกิจกรรม ที่ต้องการสนับสนุนจากศิษย์เก่า โดยต้องเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากาเรียการสอน และ การวิจัย เพื่อระดมทุนจากศิษย์เก่า เช่น
1.การจัดการแข่งขันกอล์ฟการกุศลคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานทางหลวงชนบทและศิษย์เก่าในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี เพื่อนำรายได้มาใช้ในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา บุคลากร และพัฒนาคณะในด้านอื่นๆ
2. การระดมทุนเนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์
3. การระดมทุนจากรุ่นพี่เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษาปัจจุบัน
4. การระดมทุนเพื่อสร้างห้องเรียนสมัยใหม่ ที่ทันสมัย ให้เป็นห้องเรียนต้นแบบ
5. การร่วมกับศิษย์เก่าในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
• ผู้บริหารคณะฯ ประสานขอพบปะกับศิษย์เก่าที่เป็นผู้บริหาร/เจ้าของบริษัทต่างๆ เพื่อการระดมทุนหรือให้ความช่วยเหลือคณะในการหาแหล่งทุนมาสนับสนุนกิจกรรมการแข่งขันของนักศึกษา กิจกรรมวิจัย และวิชาการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เช่น การเข้าหารือกับผู้บริหารบริษัทโตโยต้า บริษัท ปตท. บริษัทกระทิงแดง โรงไฟฟ้าจะนะ และ บริษัทบิทไวส์ เป็นต้น
• ส่งเสริมความร่วมมือด้านธุรกิจกับศิษย์เก่า โดยการเจราจาความร่วมมือกับผู้บริหารของศิษย์เก่าเพื่อให้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท PSU เทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และองค์ความรู้ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปสู่เชิงพาณิชย์ เป็นต้น
ทั้งหมดที่นำเรียนมา เป็นความพยามของคณบดี ทีมบริหาร และหน่วยงานที่รับผิดชอบที่จะดำเนินการจัดการเรียนการสอนของคณะไปสู่ การเรียนการสอนที่มีคุณภาพ แข่งขันได้ โดยได้มองในทุกมิติ ทั้ง นักเรียน นักศึกษา หลักสูตร กระบวนการพัฒนานักศึกษา และ ศักยภาพของศิษย์เก่า เพราะทุกภาคส่วนจะสามารถช่วยกันขับเคลื่อนคณะวิศวฯ ของเราไปสู่คณะที่มีคุณภาพทางการเรียนการสอน Academics Quality , A ได้ครับ
สำหรับสายตรงคณบดี สี่ปี ที่บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตอนต่อไป (ตอนที่ 4) จะเล่าถึง สี่ปี ของคณบดีและทีมบริหาร มีอะไรใหม่ ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. (ด้านการบริหาร) แล้วอย่าลืมติดตามสายตรงคณบดี “สี่ปี ที่บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์” ตอนต่อๆ ไปนะครับ
ขอบคุณครับ
อ.จรัญ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « สายตรงคณบดี: สี่ปี ที่บริหารคณะว...
- ใหม่กว่า » สายตรงคณบดี: สี่ปี ที่บริหารคณะว...
17 เมษายน 2556 10:46
#86877
เป็นกำลังใจให้กับทีมบริหารทุกท่านค่ะ ในการขับเคลื่อนผลงานด้านต่างๆ ให้แก่คณะวิศวฯ ม.อ.เราอย่างต่อเนื่องและมีผลงานเป็นที่รู้จักแก่ชุมชน และสังคมในวงกว้างค่ะ