ความเห็น: 0
เรื่องเล่าจากการร่วมอภิปรายในการสัมนาของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฏร
สายตรงคณบดี : เรื่องเล่าจากการสัมมนา ของ คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร
เรียน ท่านคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทุกสถาบัน และ
ประชาคมวิศวฯ ม.อ. ทุกท่าน
สืบเนื่องจากประธานกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เชิญ ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย เข้าร่วมอภิปราย ในเรื่อง “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำเป็นไหม นำพาไทยสู่ AEC…ทำอย่างไร” ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2556 ที่ผ่านมาโดยมีประเด็นการอภิปรายในครั้งนี้ 5 ประเด็น คือ
1. การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเด็กไทย
2. ความพร้อมของบุคลากรผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยในปัจจุบัน
3. หลักสูตรการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยในปัจจุบัน
4. ความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ
5. ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบในการเตรียมกำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วยประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ประธานสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนรัตนโกสินทร์ และ ผู้แทนจาก สภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งจากคณะวิทยาศาสตร์ คณะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และ วิศวกรรมศาสตร์ เข้าร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นจำนวนมากนั้น
ท่านประธานกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทางประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะนำผลจากการประชุมระดมความคิดเห็นในวันนี้ไปรับฟังความคิดเห็นจาก ภาคเอกชน และ สภาวิชาชีพ ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 22 ก.พ. นี้อีกครั้ง และจะนำผลจากทั้ง 2 การประชุมไปกำหนดเป็น ยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ National agenda ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งท่านจะขับเคลื่อนให้ไปสู่การปฏิบัติผ่านกลไกของสภาผู้แทนราษฎร ต่อไปครับ
ในส่วนที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ นั้น กระผมได้จัดทำเป็นเอกสารส่งให้ทางสำนักงานกรรมาธิการ และ อภิปรายในบางประเด็นให้เห็นว่า ในการพัฒนาการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สามารถรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น เราจำเป็นจะต้องมีการ พัฒนาหลักสูตร พัฒนากระบวนการเรียนการสอน พัฒนาบุคลากรทดแทนผู้เกษียณอายุ และ สนับสนุนทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ ดังรายละเอียดตามเอกสารแนบข้างล่างครับ
จึงเรียนมายังท่านสมาชิกสภาคณบดี และ ประชาคมวิศวฯ เพื่อ ทราบ และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ข้อคิดเห็นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำเอาความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากทุกๆ ท่านมาประมวลและนำเสนอในที่ประชุมต่างๆ เมื่อมีโอกาส เพื่อเราจะได้ร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนทางวิศวกรรมศาสตร์ ทางเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ของประเทศต่อไปครับ
ขอบคุณครับ
อ.จรัญ
เอกสารประกอบ
การอภิปรายและระดมความคิดเห็น เรื่อง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำเป็นไหมนำพาไทยสู่ AEC…ทำอย่างไร
รศ. ดร. จรัญ บุญกาญจน์
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย
1. การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเด็กไทย
การศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของเด็กไทยจะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกัน 5 ปัจจัย ที่สำคัญๆ คือ 1). นักศึกษา 2). อาจารย์ผู้สอน 3). หลักสูตร 4). วิธีการหรือกระบวนการสอน และ 5). สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้หรือทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ เช่น เครื่องมือ อุปกรณ์ และ สื่อการสอนเป็นต้น
1.1. นักศึกษา:
สภาพปัจจุบัน
1. ความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียน: นักเรียนที่เรียนดี เลือกเรียนทางวิศวกรรมศาสตร์ ลดลง นักเรียนกลุ่มนี้จะเลือกเรียนในสาขาที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มมากขึ้น
2. ความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์: นักเรียนในปัจจุบันมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญๆ เช่น คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ด้อยลง นักเรียนส่วนใหญ่ มีความรู้กว้าง ไม่ลึก คิด วิเคราะห์ต่อ ไม่ได้
3. ภาษา การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ ในอาเซียน ยังไม่ดีพอ
- การพัฒนาเพื่อให้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเด็กไทย พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในส่วนของนักศึกษา
ต้องสร้างทัศนคติที่ดีในการเรียนทางวิทยาศาสตร์ ให้เด็กไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น ให้เด็กไทยมีความอยากรู้อยากเรียน ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ มากขึ้น เพื่อจะได้มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานต่างๆ ที่ดี มีความพร้อมในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ วิศวกรรมศาสตร์ในระดับที่สูงขึ้น และต้องเรียนภาษาอังกฤษ (แบบที่สื่อสารได้) และ ภาษาเพื่อนบ้านของเรา เช่น ภาษาบาฮาซามลายู บาฮาซาอินโดนีเซีย พม่า ลาว จีน ไปพร้อมๆ กันด้วย
1.2 วิธีการหรือกระบวนการสอน
สภาพปัจจุบัน
ส่วนใหญ่เรายังคงเป็นการสอนแบบ Lecture based มีการสอนแบบ PBL โครงงาน ฝึกงาน และปฏิบัติสหกิจศึกษาอยู่ บ้าง แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับ lecture
- การพัฒนาวิธีการสอนหรือกระบวนการสอนเพื่อให้การศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของเด็กไทยพร้อมเข้าสู่ AEC
จะต้องพัฒนาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับทักษะที่ต้องการในศตวรรษที่ 21
ดังนั้นอาจารย์ต้องเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ การเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นให้มีการ คิด อ่าน เขียน ประมวลข้อมูล และ การนำเสนอ ซึ่งทำได้โดยการสอนที่เป็น การเรียนรู้จากปัญหาจริง Problem-based learning หรือ Project-based learning สอนให้นักศึกษารู้วิธีการที่จะเรียนรู้และอยู่ร่วมกับกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข มากกว่าที่เน้นสอนให้ความรู้อย่างเดียวแบบ lecture based ซึ่งนักศึกษาสามารถเรียนรู้เองได้
การที่จะทำแบบนี้ได้ ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์การจัดการเรียนการสอนใหม่ทั้งระบบ ทั้งหลักสูตร เนื้อหา ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ และความเข้าใจจากทุกๆ ฝ่าย ทุกๆระดับชั้นของการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา รวมทั้ง หน่วยงานที่กำหนดระเบียบข้อบังคับต่างๆ เช่น สกอ. สมศ. และ สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้าใจในกระบวนการหรือวิธีการสอนแบบใหม่นี้ ในขณะที่กระทรวงที่รับผิดชอบด้านการศึกษาก็ต้องให้การสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทั้งในเชิงนโยบายและงบประมาณ ถ้าทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบก็จะทำให้การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นการศึกษาที่มีชีวิต มีความน่าสนใจ มีความทันสมัย ทันต่อเทคโนโลยี และบัณฑิตที่จบการศึกษาออกไปก็จะมีคุณภาพมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต
1.2 สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ เช่น ครุภัณฑ์/อุปกรณ์/สื่อการสอน
สภาพปัจจุบัน
การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเด็กไทยโดยเฉพาะในสาขาทางวิศวกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ สื่อการสอนที่ทันสมัย ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ของเรา เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือห่างไกลออกไปแต่ยังอยู่ในกลุ่มเอเชียของเรา ไม่ว่าจะเป็น เกาหลี ไต้หวัน และจีน ต้องยอมรับว่าในประเทศต่างๆ เหล่านี้รัฐบาลลงทุนในเรื่องการสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ เช่น ครุภัณฑ์/อุปกรณ์/สื่อการสอนมาก จะเห็นได้จากสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาไม่ว่าจะเป็น ครุภัณฑ์/อุปกรณ์/สื่อการสอน ต่างๆ ของสถาบันการศึกษาต่างๆ ในประเทศเหล่านี้นั้นดีมาก
ด้วยข้อจำกัดเรื่องสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้กระบวนการสอน กระบวนการเรียนรู้ ของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของไทยส่วนใหญ่ยังไม่ถึงจุดที่ดีที่สุด ความหมายก็คือถ้ามีเครื่องมือ อุปกรณ์ สื่อการสอนที่ทันสมัยกว่าที่เป็นอยู่ผู้สอนก็สามารถสอน ถ่ายทอดความรู้ได้ดีกว่าในปัจจุบันในขณะที่ผู้เรียนก็จะมีความเข้าใจและเรียนรู้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่เช่นกัน
- การพัฒนาสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ เช่น ครุภัณฑ์/อุปกรณ์/สื่อการสอนเพื่อให้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเด็กไทย พร้อมเข้าสู่ AEC
การเตรียมการศึกษาของไทยให้มีความพร้อม เพื่อสร้างคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทางวิศวกรรมศาสตร์ให้พร้อมกับการเปิดสู่ประชาคมอาเซียน นั้น เรื่องการลงทุนด้านครุภัณฑ์/อุปกรณ์/และสื่อการสอน ที่ทันสมัยให้กับมหาวิทยาลัย/คณะ ต่างๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องทำไปพร้อมๆ กับ การพัฒนาบุคลากร และ การพัฒนาหลักสูตร จึงจะทำให้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเด็กไทย เข้มแข็ง และ พร้อมสำหรับการแข่งขันในระดับนานาชาติได้
2. ความพร้อมของบุคลากรผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
สภาพปัจจุบัน
ในสาขาที่เป็น Conventional engineering
ความพร้อมของผู้สอนทั้งในเชิงของคุณภาพและปริมาณเพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน
ในสาขาสำหรับอนาคต ที่เป็น Multi-Disciplinary Engineering
ความพร้อมของบุคลากรทั้งในเชิงของคุณภาพและปริมาณในสาขาเหล่านี้เชื่อว่ายังไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน
การเกษียณอายุราชการ:
มีผู้สอนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ในสาขาที่เป็น conventional engineering เริ่มเกษียณอายุราชการเพิ่มมากขึ้น ในอนาคต 5-10 ปี ข้างหน้าทุกมหาวิทยาลัยจะมีอาจารย์ผู้สอนเกษียณอายุราชการ เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ทุนการศึกษาตามแผนการพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เคยสนับสนุนโดย ก.พ. หรือ กระทรวงวิทยาศาสตร์เองที่ให้ทุนการศึกษาแก่อาจารย์ หรือ บุคคลทั่วไป เพื่อไปศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศดูเหมือนว่าจะน้อยลงมาก ซึ่งอาจจะมองว่าในปัจจุบันเรามีกำลังคนเพียงพอ อัตราเร่งในการพัฒนากำลังคนของรัฐบาลเลยต่ำลง แต่ในภาพรวมแล้วเราก็จะมีกลุ่มของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยรวมทั้งในสาขาวิศวกรรมศาสตร์จำนวนมากที่จะเกษียณอายุราชการในช่วง 5,10 หรือ 15 ปี ข้างหน้า ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างบุคลากรเพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุดังกล่าว
แม้ในปัจจุบัน หลายๆ มหาวิทยาลัย หลายๆคณะ/หน่วยงานจะแก้ปัญหาโดยการใช้งบประมาณจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย/คณะ/หน่วยงานในการพัฒนาบุคลากร โดยส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศแต่ด้วยกำลังและศักยภาพจากเงินรายได้ของหน่วยงานนั้นจะไม่สามารถพัฒนาบุคลากรได้ในอัตราที่จะไปทดแทนผู้ที่จะกำลังเกษียณอายุอย่างแน่นอน ทางรัฐบาลโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คงต้องมีงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุ ในช่วง 10-15 ปี ข้างหน้าอย่างชัดเจน และต้องมีการพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้อย่างต่อเนื่อง
โดยสรุปการพัฒนาบุคลากรผู้สอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ ภาครัฐต้องสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรผู้สอนทั้ง เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุสำหรับสาขาที่เป็น conventional engineering และเพื่อสร้างกำลังคนสำหรับสาขาใหม่ๆ ที่เป็นหลักสูตรเชิงบูรณาการ Multi-Disciplinary Engineering ที่จะมีมากขึ้นในอนาคต และต้องมีการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
3. หลักสูตรการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยในปัจจุบัน
สภาพปัจจุบัน
ในปัจจุบันด้วยข้อบังคับของหน่วยงานที่กำกับดูแลการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทั้ง สกอ. สมศ. และ สภาวิชาชีพ ทำให้ การพัฒนาหลักสูตรทางวิศวกรรมศาสตร์มีข้อจำกัด สถาบันการศึกษาไม่สามารถพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ที่สอนในสิ่งใหม่ๆ ที่จะช่วยให้นักศึกษามีความรู้หรือมีความพร้อมรับกับเทคโนโลยี หรือวิทยาการใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตได้มากนัก ซีงเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แล้วเราก็คงต้องมีนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆเหล่านี้ เพื่อแข่งขันกับวิศวกรจากประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจจะเข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงต้องมีการปรับหลักสูตรต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่น บูรณาการ และมีความเป็นสากลและสามารถสอนให้นักศึกษามีทักษะทางวิชาการ ทักษะทางชีวิต ที่แข่งขันกับนานาประเทศได้
ในส่วนของสาขาทางวิศวกรรมศาสตร์นั้น สภาวิศวกรในสมัยปัจจุบัน มีนโยบายส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ก็น่าจะเป็นผลดีต่อหลักสูตรทางวิศวกรรมศาสตร์ในอนาคต กล่าวคือคณะวิศวฯ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะสามารถสร้างหลักสูตรและวิศวกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถพร้อม ที่จะเปิดสู่โลกกว้าง และบัณฑิตในอนาคตจะมีความเชี่ยวชาญ โดนเด่น ในเฉพาะเรื่องที่คณะ/มหาวิทยาลัยต้องการเน้นให้เป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยหรือคณะตามศักยภาพและตามลักษณะของพื้นที่ได้
โดยสรุปแล้วหลักสูตรทางวิศวกรรมศาสตร์ ในปัจจุบัน เป็นแบบ Conventional engineering: เช่น วิศวกรรมไฟฟ้า โยธา เครื่องกล เคมี อุตสาหการ สิงแวดล้อม วิศวกรรมเหมืองแร่ มีหลักสูตร เชิงบูรณาการเกิดขึ้นบ้าง เช่น วิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ วิศวกรรมชีวการแพทย์ และวิศวกรรมวัสดุ เป็นต้น
- การพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้การศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของเด็กไทย พร้อมเข้าสู่ AEC นั้น
หลักสูตรการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีในสมัยใหม่ จะต้องเป็นหลักสูตรที่เป็น มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ ข้ามสาขากันมากขึ้น (Multi-Disciplinary) เพื่อ สร้างวิศวกรรุ่นใหม่ ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ เช่น ผู้เรียนทางวิศวกรรมศาสตร์อาจจะต้องมีความรู้ทางการเงินและบัญชีด้วยเป็นต้น การพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้การศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของเด็กไทย พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นั้นมหาวิทยาลัยต่างๆ จะต้องไปวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต เพื่อสร้างหลักสูตรสมัยใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตไม่เฉพาะในประเทศ แต่วิศวกร ที่จบในสาขาต่างๆ เหล่านี้ต้องมีศักยภาพที่จะสามารถทำงานในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนหรือที่ใดในโลกนี้ได้
4. ความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สภาพปัจจุบัน
ผู้ที่ประกอบอาชีพวิศวกรรมยังเป็นอาชีพที่มีความก้าวหน้า และเป็นอาชีพที่ยังเป็นที่ต้องการของผู้ใช้บัณฑิต การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การประกอบอาชีพของวิศวกรข้ามชาติในประเทศใดก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายท้องถิ่น การเคลื่อนย้ายแรงงาน ในปี 2558 จึงอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าของอาชีพวิศวกรไทยมากนัก
อย่างไรก็ตามการเปิดเสรีอาเซียนจะมีการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น วิศวกรไทยที่มีความพร้อมทั้งวิชาการ ทักษะชีวิต และ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และหรือภาษาอาเซียน ก็อาจจะมีโอกาสที่จะไปทำงานในต่างประเทศและมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพสูง
5. ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบในการเตรียมกำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ กระทรวงศึกษาธิการ ควรร่วมกันรับผิดชอบในการเตรียมกำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ แม้ว่าในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างเช่น เกาหลีไต้นั้น สถาบันที่ผลิตบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียง เป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ ในขณะที่ประเทศไทยเราในสภาวะปัจจุบันคงยังทำแบบนั้นไม่ได้ ดังนั้นการให้ทั้ง 2 กระทรวง ร่วมกันรับผิดชอบในการเตรียมกำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดี
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « เรื่องเล่าจากที่ประชุมสภามหาวิทย...
- ใหม่กว่า » เรื่องเล่าจากการประชุมร่วมอนุกรร...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้