ความเห็น: 0
เรื่องเล่าจากที่ประชุม คบม. ประจำเดือนสิงหาคม 2555
เรื่องเล่าจากที่ประชุม คบม. ประจำเดือนสิงหาคม 2555
เรียนประชาคมวิศวฯ ทุกท่าน
ในการประชุม คบม. เดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมามีวาระการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากร ที่จะขอนำมาเล่าให้ประชาคมวิศวฯ รับทราบ ใน 5 เรื่อง ดังนี้ครับ
1. หลักเกณฑ์ วิธีการปรับระดับชั้นงาน และเปลี่ยนสายงาน ลูกจ้างประจำ
ที่ประชุม คบม. เห็นชอบ ขั้นตอนการเปลี่ยนตำแหน่งลูกจ้างประจำ ใหม่ โดยมี ขั้นตอนดังนี้ ครับ
1. คณะ/หน่วยงาน: จัดทำ แบบ ลปจ. 1 มอบหมายภาระงาน อย่างน้อย 6 เดือน และแต่งตั้งกรรมการประเมิน (ระดับคณะฯ)
2. คณะกรรมการประเมิน (ระดับคณะฯ) : ประเมินตัวบุคคลและภาระงาน
3. เสนอผลการประเมินไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองการกำหนดระดับตำแหน่งและเปลี่ยนตำแหน่ง (ระดับมหาวิทยาลัย) เพื่อพิจารณากลั่นกรอง
4. คณะกรรมการกลั่นกรองการกำหนดระดับตำแหน่งและเปลี่ยนตำแหน่งสรุปผลการพิจารณาและนำเสนอกรรมการบริหารงานบุคคลมหาวิทยาลัย (คบม.) เพื่อพิจารณา อนุมัติ หรือไม่อนุมัติ
5. กรณีที่ คบม. อนุมัติ นำเสนอ อธิการบดี เพื่อลงนามในคำสั่ง
6. กรณีที่ คบม. ไม่อนุมัติ ส่งเรื่องกลับไปยัง คณะ/หน่วยงาน
ขั้นตอนใหม่นี้จะแตกต่างจากขั้นตอนขั้นตอนการเปลี่ยนตำแหน่งลูกจ้างประจำ แบบเดิม ที่เริ่มกระบวนการโดยให้ คณะ/หน่วยงาน เสนอเหตุผลความจำเป็นในการเปลี่ยนตำแหน่งลูกจ้างประจำไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองการกำหนดระดับตำแหน่งและเปลี่ยนตำแหน่ง คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวแล้วนำเสนอ คบม. เพื่อพิจารณาอนุมัติ/ไม่อนุมัติ ถ้า คบม. อนุมัติ คณะหน่วยงานจึงมาดำเนินการ จัดทำ ลปจ. 1 มอบหมายภาระงานอย่างน้อย 6 เดือน และแต่งตั้งกรรมการประเมิน เมื่อคณะกรรมการประเมินผ่าน ก็จะเสนออธิการบดีลงนามในคำสั่ง
ดังนั้นถ้าเป็นขั้นตอนแบบเดิมนั้น กรรมการกลั่นกรองจะพิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นที่คณะหน่วยงานเสนอไปเท่านั้น ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่เพียงพอ หรือกรรมการกลั่นกรองอาจจะมองไม่เห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนตำแหน่ง แต่การดำเนินการตามขั้นตอนใหม่ คณะกรรมการกลั่นกรองจะเห็นทั้งเหตุผลความจำเป็นและเห็นผลงานที่สอดคล้องกับขอเปลี่ยนตำแหน่ง ก็น่าจะพิจารณากลั่นกรองได้อย่างมีมาตรฐานมากขึ้น โอกาสที่จะได้รับการเปลี่ยนตำแหน่งก็น่าจะมากขึ้นกว่าแบบเดิมนะครับ
ในส่วนของคณะวิศวฯ เรายังมีลูกจ้างประจำอีกจำนวนหนึ่งที่มีตำแหน่งไม่ตรงกับสายงานที่ปฏิบัติที่กำลังจะดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนตำแหน่ง เมื่อ คบม. มีขั้นตอนการดำเนินการใหม่ ที่แตกต่างไปจากแบบเดิมก็คงต้องฝาก HR ของคณะฯ จัดประชุมชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับบุคลากรที่เป็นลูกจ้างประจำของเราต่อไปด้วยครับ
2. การเปลี่ยนตำแหน่งลูกจ้างประจำเพื่อให้ตรงกับสายงานที่ปฏิบัติ
ที่ประชุม คบม. เห็นชอบการเปลี่ยนตำแหน่งลูกจ้างประจำเพื่อให้ตรงกับสายงานที่ปฏิบัติ จำนวน 3 ราย จากจำนวนที่ขอเปลี่ยนตำแหน่งทั้งหมด 11 ราย ซึ่งในส่วนที่ คบม. เห็นชอบ 3 รายนั้นมีลูกจ้างประจำของคณะวิศวฯ ได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนตำแหน่งด้วย 1 รายคือ นายอนันต์ นิลโกสีย์ ซึ่งขอเปลี่ยนตำแหน่งจาก ผู้ช่วยช่างทั่วไป ระดับ ช1 เป็น ช่างไฟฟ้า ระดับ ช1 โดยมีเหตุผลคือ เพื่อให้ตรงกับงานที่คุณอนันต์ปฏิบัติครับ
ในนามของทีมบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงถือโอกาสนี้แสดงความยินดีกับ คุณอนันต์ นิลโกสีย์ ด้วยครับ และเนื่องจากการขอเปลี่ยนตำแหน่งของคุณอนันต์ เป็นไปตามขั้นตอนเดิม ดังนั้นเมื่อ มหาวิทยาลัยเห็นชอบให้มีการเปลี่ยนตำแหน่งแล้ว การดำเนินการขั้นต่อไปคือ การจัดทำ แบบ ปล1. การแต่งตั้งกรรมการประเมิน มอบหมายงานภาระงานอย่างน้อย 6 เดือน กรรมการประเมินผล (ประเมินตัวบุคคล และ ภาระงาน) ถ้าผ่านการประเมิน ทางคณะก็จะเสนอมหาวิทยาลัยเพื่อออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงตำแหน่งต่อไป ซึ่งด้วยผลงาน ประวัติการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบของคุณอนันต์ ที่ผ่านมา นั้นเชื่อว่าจะสามารถผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่เหลือได้อย่างแน่นอนครับ
3. มาตรฐานกำหนดตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย
ที่ประชุม คบม. เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุน ระดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญการ และ ระดับชำนาญการพิเศษ ซึ่งเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับประเภทตำแหน่งของพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านๆ มา บุคลากรของเรา ไม่ได้รับทราบหรือเข้าใจในเรื่อง มาตรฐานตำแหน่งของตัวเองมากนัก ทั้งๆ ที่มาตรฐานตำแหน่งนี้เกี่ยวข้องกับบุคลากรในหลายๆ เรื่อง เช่น คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง หน้าที่ความรับผิดชอบ และลักษณะงานที่ปฏิบัติ และเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงาน และการพิจาณากำหนดค่างานของตำแหน่ง สำหรับขอกำหนดตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นต้น ดังนั้นหัวหน้าหน่วยงานทุกระดับและตัวบุคลากรเองก็คงต้องศึกษาและทำความเข้าใจในมาตรฐานตำแหน่งของตัวเองด้วยนะครับ (ขอรายละเอียดมาตรฐานตำแหน่งของตัวท่านได้ที่ HR ครับ)
ในส่วนของภาพรวมของคณะก็คงต้องฝากทาง HR นำเรื่องการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งทั้งในส่วนของข้าราชการและของพนักงานมหาวิทยาลัย มาบอกเล่าให้กับบุคลากรในคณะของเราได้รับทราบผ่านเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่างๆ ของคณะด้วยนะครับ เพราะการที่บุคลากรในหน่วยงานต่างๆได้รับทราบ มาตรฐานตำแหน่งของตัวเอง จะทำให้แต่ละท่านทราบว่า ในตำแหน่งที่ตัวเองรับผิดชอบ หรือ ปฏิบัติงานอยู่ มีหน้าที่ความรับผิดชอบ และลักษณะงานที่ปฏิบัติอย่างไรบ้าง และถ้าต้องพัฒนาตนเองไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น เช่น ตำแหน่งชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบและลักษณะงานที่ปฏิบัติแตกต่างไปจากตำแหน่งเดิมอย่างไร การรับทราบข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ก็จะช่วยให้ หน่วยงานและบุคลากรสายสนับสนุนของเราสามารถวางแผนการทำงาน และวางแผนการพัฒนาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนางานและพัฒนาตนเองได้ครับ
4. การกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น
ที่ประชุม คบม. เห็นชอบการกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชาการให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น จำนวน 8 ราย โดยจำนวนนี้มีบุคลากรสายสนับสนุนของคณะวิศวฯ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น จำนวน 2 รายคือ
1. นางลัดดาวัลย์ โภควินท์ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ระดับชำนาญการพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค 2553
2. นางฐานิตา ลอยวิรัตน์ ตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานบริหาร ระดับชำนาญงานพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2554
ในนามของทีมบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ ขอแสดงความยินดี กับบุคลากร ทั้ง 2 ท่านและ เชิญชวนชาววิศวฯ ร่วมกันแสดงความยินดีกับบุคลากรสายสนับสนุนทั้ง 2 ท่านที่สามารถสร้างผลงานที่ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมหาวิทยาลัยและผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการชุดต่างๆ จนกระทั่งผ่านการเห็นชอบ จาก คบม. ครับ ขอแสดงความยินดีกับบุคลากรสายสนับสนุนทั้ง 2 ท่านอีกครั้งและขอให้ทั้งสองท่านปฏิบัติงานในระดับที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อพัฒนาตนเองและองค์กรต่อไปอย่างต่อเนื่องครับ
เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับบุคลากรสายสนับสนุนที่กำลังดำเนินการเพื่อขอกำหนดตำแหน่งและทำผลงานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ผมขอเรียนข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับการขอกำหนดตำแหน่งและผลงานที่ต้องใช้ในการเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรในคณะดังนี้ครับ
ตำแหน่ง ชำนาญงาน/ชำนาญการ
1.การประเมินค่างานของตำแหน่ง (ตามมาตรฐานการกำหนดตำแหน่ง ) : ผลการประเมินมากกว่า 64 คะแนน
2. ผลงาน: คู่มือปฏิบัติงานซึ่งมีคุณภาพดี หรือ ผลงานประเภทอื่นๆซึ่งมีคุณภาพดี
3. ผู้ทรงคุณวุฒิ: กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน เกณฑ์การตัดสินใช้คะแนนเสียงข้างมาก (ผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งทั้ง 3 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก)
ตำแหน่ง ชำนาญงานพิเศษ/ชำนาญการพิเศษ
1.การประเมินค่างานของตำแหน่ง (ตามมาตรฐานการกำหนดตำแหน่ง ) : ผลการประเมินมากกว่า 84 คะแนน
2. ผลงาน: งานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์หรืองานสร้างสรรค์ ซึ่งมีคุณภาพดี และ ผลงานประเภทอื่นๆซึ่งมีคุณภาพดี
3. ผู้ทรงคุณวุฒิ: กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน เกณฑ์การตัดสินใช้คะแนนเสียงข้างมาก (ผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งทั้ง 3 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก)
5. เรื่องอื่นๆ
นอกจากเรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้วที่ประชุม คบม. ยังเห็นชอบโครงร่างการเขียนเอกสารประกอบสำหรับ ผลงานประเภทอื่น ซึ่ง ควรประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ ต่อไปนี้คือ
บทที่ 1: บทนำ ที่ประกอบไปด้วย ความเป็นมา หรือ เหตุผลความจำเป็น และ วัตถุประสงค์ ของการจัดทำผลงาน
บทที่ 2: แนวคิด ทฤษฏี หรือ หลักวิชาการที่นำมาใช้ในการทำผลงาน
บทที่ 3: ขั้นตอน วิธีดำเนินการจัดทำผลงาน เช่น วัสดุ อุปกรณ์ หรือ เครื่องมือที่ใช้ ขั้นตอน วิธีการจัดทำผลงาน เป็นต้น
บทที่ 4: การวิเคราะห์ผลงานและการสรุปผล เช่น ประโยชน์ทีได้และคุณค่าของผลงานต่อการพัฒนางานในหน้าที่ หรือแก้ไขปัญหาของหน่วยงาน รวมทั้ง ปัญหาและอุปสรรคจาการนำผลงานไปใช้ และการแก้ไขปัญหา
บรรณานุกรม:
ภาคผนวก (ถ้ามี): เช่น คู่มือ ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้
ประวัติผู้เขียน:
ทั้งนี้ผลงานประเภทอื่นๆ สามารถใช้ประกอบการขอตำแหน่งทั้งตำแหน่ง ชำนาญงาน/ชำนาญการ และตำแหน่ง ชำนาญงานพิเศษ/ชำนาญการพิเศษ ครับ
ผลงานประเภทอื่นๆ ที่อาจจะเห็นได้ชัดในคณะฯ ของเรา คือโครงการพัฒนางานที่หลายๆ ท่านทำอยู่ถ้าเป็นโครงการที่นำไปสู่การพัฒนางานในหน้าที่ หรือการพัฒนาองค์กรอย่างชัดเจน ก็นับเป็นผลงานประเภทนี้ได้ครับโดยต้องเขียนรายงานผลงานตามหัวข้อข้างต้น นะครับ
สำหรับโครงร่าง การเขียนคู่มือ ผลงานเชิงสังเคราะห์ ผลงานเชิงวิเคราะห์ ผลงานวิจัย รวมทั้งแบบประเมินที่เกี่ยวข้องกับผลงานประเภทต่างๆ นั้นได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม คบม. ไปแล้วเมื่อเดือน พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งผมได้นำรูปแบบโครงร่างของการจัดทำผลงานทุกประเภทมาเรียนให้บุคลากรสายสนับสนุนได้รับทราบในเวทีจิบน้ำชาบุคลากรสายสนับสนุนครั้งที่ผ่านมาด้วยแล้ว อย่างไรก็ตามบุคลากรทุกท่านสามารถประสานเพื่อขอรูปแบบในการจัดทำผลงานต่างๆ ได้จาก HR ของคณะนะครับ การที่เราได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ล่วงหน้าจะช่วยให้เราวางแผนการทำผลงานของเราให้ได้คุณภาพและสามารถเขียนผลงานได้ดี และถ้าบุคลากรสายสนับสนุนเห็นว่า คณะควรมีการให้ความรู้ถึงแนวทาง และวิธีการเขียนผลงานต่างๆ เหล่านี้ ทางคณะก็จะได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรของเราในประเด็นนี้ต่อไปครับ
สุดท้ายนี้ ช่วงวันที่ 20-21 สิงหาคม 2555 เป็นช่วงของการประเมินคุณภาพภายในของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยจะมีการนำเสนอผลการประเมินด้วยวาจา ในเวลา 11.00 น.ของวันนี้ (21 สิงหาคม 2555) ณ.ห้องประชุมมงคลสุข ครับ ผมจึงขอเรียนเชิญประชาคมวิศวฯ ทุกท่านเข้าร่วมรับฟังผลการประเมินคุณภาพภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2554 โดยพร้อมเพรียงกันนะครับ เพื่อเราจะได้ร่วมรับทราบข้อเสนอแนะต่างๆ จากคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายใน และจะได้ร่วมกันแก้ไขและพัฒนาองค์กรตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการซึ่งเป็นไปตามกลไกการประกันคุณภาพที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่องครับ
ขอบคุณครับ
อ.จรัญ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « สายตรงคณบดี: เรื่องเล่าจากที่ประ...
- ใหม่กว่า » สายตรงคณบดี: บอกเล่าข้อมูลที่คณบ...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้