ความเห็น: 1
ทำไมต้อง “ทบทวนวรรณกรรม” - Literature review
“วรรณกรรม” คือ อะไร ทำไมต้อง “ทบทวน” ยิ่งอ่านความหมายของวรรณกรรม บางคนถึงกับงง ว่า จริงๆ แล้ว “การทบทวนวรรณกรรม” คือ อะไรกันแน่ และมันเกี่ยวกับอะไรการวิจัย นักวิจัยบางคนเลือกใช้คำว่า “การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งอาจจะทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นถึงสิ่งที่ต้องทำในการวิจัย
วรรณกรรม น. (อังกฤษ: Literature) หมายถึง งานเขียนที่แต่งขึ้นหรืองานศิลปะ ที่เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด และจินตนาการ แล้วเรียบเรียง นำมาบอกเล่า บันทึก ขับร้อง หรือสื่อออกมาด้วยกลวิธีต่างๆ
ทบทวน ก. ย้อนกลับทำซ้ำอีกเพื่อให้แม่นยำ เช่น ทบทวนตำรา ทวนทบ ก็ว่า; พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เช่น ทบทวนนโยบาย
ดังนั้นในเบื้องต้นการทบทวนวรรณกรรม จึงน่าจะเป็นการอ่านงานเขียน ในลักษณะของการอ่านแล้วอ่านอีก พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่คำว่า “ซ้ำแล้วซ้ำอีก” อาจจะไม่ใช่หมายถึงว่าอ่านอยู่เรื่องเดียว นะครับ แต่หมายถึงการอ่านงานหลายๆ ชิ้น หนังสือหลายๆ เล่ม บทความหลายๆ บทความ เพื่อให้แม่นยำ และแตกฉาน ซึ่งในแง่ของการวิจัยแล้ว การทบทวนวรรณกรรม คือ การอ่านเพื่อปรับฐานความรู้ของนักวิจัย อ่านแล้วอ่านอีกจนนักวิจัยแม่นยำในเรื่องที่จะทำวิจัย นักวิจัยต้องไปเรียนให้รู้สิ่งที่มีอยู่แล้วในอดีต เพื่อป้องกันนักวิจัย “ล้าหลังทางความรู้” และมัว “งมโข่ง” (ทำวิจัย) หาความรู้ที่นักวิจัยคนอื่นๆ เคยหาไว้แล้วในอดีต ดังนั้นจากฐานคิดนี้ หัวใจของการทบทวนวรรณกรรม คือ การประมวลความรู้และสังเคราะห์ความรู้ในอดีต มาเป็นฐานความคิดการทำวิจัยในปัจจุบัน
งานวิจัยเป็นงานต่อยอดความรู้ เป็นการสร้างหรือเสริมความรู้ใหม่ต่อจากสิ่งที่คนอื่นเคยหาความรู้ไว้แล้ว (บางกรณีก็เป็นการหักล้างความรู้เดิมๆ) ซึ่งการทบทวนวรรณกรรมเป็นกระบวนการสร้างองค์ความรู้ของนักวิจัยเพื่อใช้ในการทำวิจัยให้สำเร็จอย่างมีคุณภาพ ดังนั้น การทบทวนวรรณกรรม จะทำให้นักวิจัยสามารถรู้ได้ว่าประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่นักวิจัยสนใจได้ถูกศึกษาวิจัยแล้วหรือยัง และถ้าถูกศึกษาวิจัยแล้ว ผลของการวิจัยดังกล่าวเป็นอย่างไร และเกี่ยวข้องอะไรกับประเด็นปัญหาที่นักวิจัยสนใจอย่างไร
การทบทวนวรรณกรรม เป็นงานที่เริ่มพร้อมๆ กับการเริ่มทำวิจัย (เริ่มเร็วเท่าไรยิ่งดี) และข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมสามารถช่วยผู้วิจัยให้สามารถกำหนดหัวข้อวิจัย และ คำถามวิจัยได้คมชัดยิ่งขึ้น และข้อมูลดังกล่าวยังใช้ประกอบการเขียนหลักการและเหตุผลให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
กรอบแนวคิดในการวิจัยและสมมุติฐานการวิจัย (ถ้าจำเป็นต้องมี) เป็นผลผลิตของการทบทวนวรรณกรรม นักวิจัยทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างกรอบแนวคิดในการวิจัย นอกจากการอ่านงานวิจัยอื่นๆ จะทำให้ได้ข้อมูลเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัยแล้วนั้น การอ่านยังทำให้นักวิจัยได้แนวคิด แนวทางในการออกแบบวิธีวิจัยที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเมื่อได้ผลวิจัยจากการวิเคราะห์ข้อมูล นักวิจัยก็ต้องนำวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการอภิปรายผลร่วมด้วยความคิดเห็นของนักวิจัย หรือบางครั้งนักวิจัยอาจจำเป็นต้องเพิ่มเติมแนวคิด ทฤษฎีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการอภิปรายผลการวิจัย (โดยเฉพาะในกรณีที่ผลการวิจัยไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้)
การทบทวนวรรณกรรมที่ดีต้องมีความทันสมัย ดังนั้นโครงการวิจัยระยะยาว (เช่น งานวิจัยระดับปริญญาเอก) อาจจำเป็นต้องทบทวนวรรณกรรมก่อนปิดโครงการ เพื่อทำให้งานวิจัยมีองค์ความรู้ที่ทันสมัย และความสอดคล้องเป็นเรื่องราวเดียวกันกับวรรณกรรมปัจจุบัน
อ้างอิง: สุธีระ ประเสริฐสรรพ์. (2544). สนุกกับงานวิจัย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, กรุงเทพฯ.
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « How to Write a Conclusion - การเ...
- ใหม่กว่า » ทบทวนวรรณกรรมอย่างไร ไม่ให้เชย
19 พฤศจิกายน 2556 20:40
#94483
คนแถวนี้เขาใช้ "ทบทวนวรรณกรรม" ครับ
อิอิอิ
เราเอง