ความเห็น: 0
ปฏิรูปการศึกษา: หัวใจ เนื้อหา กระบวนการ ผลลัพธ์ ๑
หัวใจ เนื้อหา กระบวนการ ผลลัพธ์ ๑
ที่ไม่เข้าใจเป็นอย่างมากคือ
- เด็กไทยโง่เพิ่มขึ้นจริงหรือ ถึงกับที่ต้องมาเรียนพิเศษกันทุกวิชา
- ที่โรงเรียนครูสอนอะไร ทำไมเด็กถึงต้องมาเรียนพิเศษ
- ที่สอนพิเศษเข้าใจง่ายกว่าที่สอนในห้องเรียนหรืออย่างไร
ก่อนอื่นต้องยอมรับกันก่อนนะครับว่า หัวใจในการศึกษาต้องประกอบพร้อมทั้งองค์ ๔ คือ สุ จิ ปุ ลิ ตามที่พระพุทธเจ้าได้เคยสอนไว้ การศึกษานั้น ๆ ถึงจะแตกฉานเข้าใจได้ถ่องแท้ ดังแจกแจงเบื้องต้นไว้ใน ปฐมบท และก่อนจะวิพากษ์ต่อ ผมรู้สึกตกใจกับนักการศึกษาทั้งหลายแหล่ ที่ได้เข้ามามีบทบาทปลูกฝังแนวคิด ที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไปรับมา...เช่น
..แนวคิดของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ..ที่ครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทจาก การ lecture เป็น Coach, Facilitator หรือ Mentor ...เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาด้วยตัวนักเรียนเอง
ผมจะไม่ตกใจ ถ้านำแนวคิดนี้มาใช้ในระบบบัณฑิตศึกษา หรือระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ที่เขาทำกันเป็นปกตินิสัยอยู่แล้ว แต่เมื่อผู้ปฏิบัติเป็นครูและผู้รับเป็นนักเรียน ให้สร้างองค์ความรู้ขึ้นมาด้วยตัวเอง (ต้องขออนุญาต วงเล็บ และอุทานดัง ๆ ว่า อุแม่เจ้า %$&**^@#...) จากนั้นแล้วค่อยสงบสติอารมณ์ เน้นอีกครั้งว่า
อย่างแรกเลยที่ต้องทำ คืออย่าใช้กรรมการที่เป็นนักปฏิรูปเก่า ๆ ที่เคยทำปฏิรูปการศึกษาเมื่อสิบกว่าปีก่อนเกินครึ่งครับ
ผมเลี่ยงที่จะไม่วิจารณ์นักคิดนักการศึกษาทั้งหลาย ที่ท่านตั้งใจทำยังไงให้เด็กไทยเก่งซะที จึงวิพากษ์สภาพการศึกษาที่เป็นอยู่จริง และวิเคราะห์สาเหตุโดยใช้หลักการเปรียบเทียบกับหัวใจในการศึกษาข้างต้น... ว่าจุดใดที่ยังเป็นรูรั่ว
ยังนับว่าโชคดี ที่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเป็นส่วนที่เติมให้เต็มเพื่อให้ "อุดม"ศึกษาเท่านั้น..
แต่ในบางสาขา... เช่นวิศวกรรมศาสตร์ที่ผมเป็นอาจารย์อยู่นั้น ถ้าอาจารย์ทำตัวเป็นแค่ โค้ช ...เป็นอันจบเห่แน่ คือไม่ทันเห่ก็บอกเลิก ๆ ๆ ไม่ไหวแล้ว
ก็แค่นักเรียนม.6 คำนวณหาพื้นที่สามเหลี่ยมไม่ได้ ..ทั้ง ๆ ที่แบบเรียน ม.ปลายปัจจุบัน จับวิชา Calculus (ที่สมัยหลายสิบปีก่อนเรียนในชั้นปีที่ 1) เข้าไปสอนแล้ว ... ยังงี้ เหล่าอาจารย์วิศวฯ ก็หนาวแล้วละครับ ก็มาจากแนวคิดสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาด้วยตัวนักเรียนเอง
ถ้าใช้ภาษาวัยรุ่นหน่อย ก็บอกว่า องค์ความรู้เดิม ๆ ที่ปรมาจารย์ทั้งหลายแหล่ ค้นคิด สร้างไว้ให้ รับรู้ให้ได้ เข้าใจให้ถูก ใช้งานให้เป็น แค่นี้ก็ไปต่อได้ ...อะไรกันนักกันหนานะ..
ผมอยากจะเรียนให้ท่านนักคิดได้ทราบว่า... นักศึกษาวิศวฯ ต้องเสียเวลาเรียนทฤษฎีและหลักการต่าง ๆ ที่ อาคีมีดีส กาลิเลโอ นิวตัน เรโนลด์ ไอน์สไตน์ ฯลฯ คิดไว้ให้ พิสูจน์ ทางวิทยาศาสตร์ จนยอมรับเป็นทฤษฎีแล้วนั้น ต้องเรียนกันจริง ๆ จัง ๆ 3 ปีเต็ม ๆ ถึงจะเริ่มทำ โปรเจ็ค หรือโครงการ ที่บางคนได้แค่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ขณะที่บางโครงการ "ได้องค์ความรู้" ด้วย ... ย้ำว่าบางโครงการเท่านั้นครับ
เราไม่จำเป็นต้องมีอัจฉริยะปีละ 2 แสนคน แต่ต้องการคนที่บวกลบคูณหารเป็นและมีคุณธรรม ปีละ 1 แสน 9 หมื่น 9 พันคน ...ที่เหลือค่อยเป็นอัฉริยะซัก 1 พันคนต่อปี ประเทศไทยก็ไปได้แล้วครับ
และไม่ว่าจะโดยวิธีไหน การศึกษาแบบไหน ก็เกิดอัจฉริยะได้เสมอ แต่การศึกษาในสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้คนคิดเลขไม่เป็นเพิ่มขึ้นมหาศาล ?
เอาเป็นกระสายก่อนนะครับ... ถ้าจะยาว คงต้องยกไปต่อบันทึกหน้า ...อีกแล้ว งานนี้มหากาพย์แน่ ครับ อิอิ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ปฏิรูปการศึกษา: ปฐมบท
- ใหม่กว่า » ปฏิรูปการศึกษา: หัวใจ เนื้อหา กร...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้