ความเห็น: 2
ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (6): เรื่องประทับใจเกี่ยวกับอาสาสมัครในงานวิจัยต่างๆ
ความจริงในต้นฉบับที่ลงในวารสารสายใยพยา-ธิต่อจากตอนที่แล้ว จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานที่ทำในแล็บ แต่อ่านดูแล้วคงจะทำให้คนอ่านบล็อกนี้ปวดหัวเป็นแน่แท้ แต่ก็น่าจะเอามาเล่าไว้ จะนำไปลงไว้ในบล็อก ประสบการณ์งาน Molecular มาแลกเปลี่ยน แล้วค่อยมาลิงค์ไปจะดีกว่า ก็เลยข้ามไปจนถึงเรื่องอาสาสมัครที่มาร่วมเป็นกลุ่มทดลองให้งานของเราเลยค่ะ อ่านเองอีกก็ยังประทับใจทุกท่านเลย
งานวิจัยที่ทำช่วงหลังๆจะเป็นงานที่ต้องการอาสาสมัครทั้งสิ้น เริ่มจากตอนที่พัฒนาการทดสอบวัดปริมาณ RNA ต้องทำการเก็บ sampleจากคนเดียวกันในช่วงต่างๆของวัน และห่างกัน 2 สัปดาห์ ต้องขอ sample จากเพื่อนๆนักศึกษาและนักวิจัยที่ Royal Perth นั่นแหละ ทั้งหมด 10 คน น่าประทับใจที่ทุกคนตอบรับทันทีที่ขอ
ต่อมาเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการเผาผลาญไขมันในคนที่มี gene variant คนละกลุ่ม การวิจัยนี้เราต้องโทรไปติดต่อกับคนที่เป็นอาสาสมัครเพื่อให้มาร่วมโครงการ จะขอเล่าขั้นตอนในการเข้าถึงอาสาสมัครเป็นตอนต่างหากเพราะชอบระบบของเขาอีกเหมือนกัน ตอนนี้เล่าความประทับใจเกี่ยวกับคนที่มาก่อน เรามีเป้าหมายไว้กลุ่มละ 10 คน ขบวนการในการร่วมเป็น subject ให้เรานั้นไม่ธรรมดาเลย ตอนที่ร่างจดหมายกันเพื่อเป็นข้อมูลแจ้งแก่อาสาสมัครว่าเราจะทำอะไรบ้างนั้น อ่านดูเองแล้วก็คิดว่าจะมีใครยอมมาเป็นsubject ให้หรือนี่ เพราะเราต้องบอกขั้นตอนอย่างละเอียดว่าเขาจะต้องมาทำอะไรบ้าง ข้อดี ข้อเสียของการปฏิบัติตามขั้นตอนนั้นๆ เริ่มกันตั้งแต่ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 2 วันและอดอาหารอย่างน้อย 10 ชั่วโมงก่อนจะมาให้เราเจาะเลือดตอนเช้า ประมาณ 7 โมง แล้วก็ต้องดื่ม milk shake ที่ประกอบด้วยไขมันปริมาณมากกว่ามื้ออาหารปกติพร้อมๆกับกินวิตามิน A เพราะเราต้องการติดตามการเผาผลาญไขมันโดยใช้วิตามินเอ เป็น marker ต่อจากนั้นก็ยังคงต้องงดอาหารเป็นเวลาอีก 10 ชั่วโมง โดยเราจะเจาะเลือดทุก 1-2 ชั่วโมงไปจนครบเวลา ในข้อมูลเหล่านี้รวมทั้งตอนที่เราโทรติดต่อ เราต้องแจ้งละเอียดและยืนยันให้มั่นใจว่าเขาเข้าใจว่าต้องทำอะไรบ้าง โดยผลดีที่จะได้ต่อตัวอาสาสมัครมีเพียงว่าจะรายงานค่าไขมันต่างๆที่เราตรวจให้เท่านั้นเอง แต่เขาต้องเสียเวลาทั้งวันอยู่กับเราที่โรงพยาบาล ปรากฎว่าเราได้อาสาสมัครจำนวนเกือบครบตามเป้าหมาย โดยที่ทุกรายเป็นคนทำงานที่ยอมสละเวลามาเพื่อเป็น subject ให้เรา ตัวเองรู้สึกประทับใจกับทุกคนที่ได้เจอ เพราะเราต้องพบกันทุก 1-2 ชั่วโมงทั้งวันเลย
ตัวเองจึงคิดขึ้นมาว่าไหนๆเขาก็อยู่กับเราทั้งวัน จึงขออาจารย์พาอาสาสมัครเข้าไปในห้อง lab ให้เขาได้ดูว่าเราเอาเลือดเขาไปทำอะไรบ้าง ระหว่างนั้นก็อธิบายให้ฟังและตอบข้อซักถามที่เขามี ได้พบว่าทุกคนเป็นคนมีจิตใจสาธารณะจริงๆ ทำเพราะเห็นว่างานวิจัยแบบนี้จะช่วยให้เราค้นพบวิธีการแก้ปัญหาโรคหัวใจก่อนวัยอันควร อ้อ ลืมบอกไปว่ากลุ่มนี้เป็นคนที่เคยบริจาคเลือดเพื่อเป็น control DNA ให้แก่โรงพยาบาล Royal Perth มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว อายุอยู่ระหว่าง 40 – 50 ปีและให้ความร่วมมือเป็น subject ให้กับงานวิจัยต่างๆอย่างต่อเนื่อง แต่ที่แตกต่างก็คืองานอื่นๆส่วนใหญ่จะเป็นแค่มาทำอะไรในช่วงสั้นๆ ไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง เพิ่งมีอันของเรานี่แหละที่ขอเขาทั้งวัน แถมให้อดอาหารอีกต่างหาก ตัวเองก็เลยทำขนมถั่วกรอบแก้วที่ได้สูตรมาจากพี่คนไทยที่มาเรียนเหมือนกัน ที่พบว่าฝรั่งชอบ เอาใส่ขวดโหลให้เป็นของที่ระลึก กับขอให้คุณสามีช่วยทำแกงใส่กล่องพร้อมข้าวสวย เอาเตรียมไว้ให้อาสาสมัครหลังจากเจาะเลือดครั้งสุดท้ายตอนประมาณ 5-6 โมงเย็น พบว่าทุกคนที่มาชอบมากและดีใจที่ได้สิ่งที่เขาไม่คิดว่าเราจะเตรียมไว้ให้ แถมด้วยว่าทุกคนชอบอาหารไทย มีหลายคนที่ส่งโน้ตหรือการ์ดมาขอบคุณและอวยพรให้เราเรียนจบกลับบ้านไวๆสมใจปรารถนา เขารู้จากตอนที่เราคุยกันระหว่างพาชม lab ระยะเวลาที่ทำงานโครงการนี้ก็รวมแล้วเกือบๆปีครึ่ง และผ่านมาแล้วถึง 2-3 ปีก็ยังจำทุกคนได้อย่างละเอียด จะขอเล่าคนที่เด่นๆให้ฟังสัก 2-3 คนในตอนหน้านะคะ
อ่านซ้ำเองก็ยังคิดถึงทุกคนได้อยู่เลยนะคะนี่
ต่อมาจาก: ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (1): จุดเริ่มต้น
ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (2): สองวันแรกในออสเตรเลีย
ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (3): ปริญญาโทหลักสูตร Master of Laboratory Medicine
ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (4): การสมัครเรียนปริญญาเอก
ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (5): Proposal
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « บันทึกความคิดจากการติดตาม medica...
- ใหม่กว่า » รวมบันทึกใหม่ในรอบ 7 วัน (31 สิง...
07 กันยายน 2556 19:07
#92540
ถ้าเป็นปืน เค้าเรียกบันทึกปืนกล...มาเป็นชุดเลยครับ อิอิ
เอิ้ก เอิ้ก
"ใจสั่งมา"