ความเห็น: 8
เคล็ดลับการเขียนเรื่องเล่าให้น่าอ่าน
เชื่อว่าคงมีใครๆหลายคนที่คิดว่า การเขียนเป็นเรื่องยาก ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรดี ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนยังไง เขียนเรื่องไหนถึงจะมีคนอ่าน มีเรื่องอะไรที่เราจะเขียนได้ โดยไม่เสียหายขายหน้าถ้าเขียนอะไรผิดพลาด ไม่ถูกต้อง ฯลฯ อีกสารพัดข้อติดขัดที่ทำให้รู้สึกว่า การจะเขียนอะไรนี้ยากจัง
สำหรับตัวเองก็เคยคิดว่า การเขียนเป็นเรื่องของคนมีพรสวรรค์ เมื่อเด็กๆชอบอ่านนิยาย ตามอ่านมาแทบจะทุกนักเขียนดังๆของเมืองไทย เป็นร้อยๆเรื่อง เคยลองเขียนเรื่องสั้นเอง แล้วก็สรุปกับตัวเองได้ว่า การเขียน ไม่ง่ายเลย
แต่พอมาเริ่มเขียนบันทึกในบล็อกที่ GotoKnow.org เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อที่จะถ่ายทอดสิ่งที่อยากจะเขียนบอกคนไทยทั้งหลายเรื่องเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษ ที่เป็นประสบการณ์ตรงของตัวเอง เป็นการเขียนบันทึกทีละเรื่อง ไม่ยาวมาก เพราะเขียนยาวๆไม่เป็นเหมือนกัน ได้เริ่มรู้ว่า การเขียนก็ไม่ยากเท่าไหร่นัก หากเราเขียนสิ่งที่เราคิด
เมื่อเขียนมากขึ้นๆ พร้อมทั้งอ่านบันทึกของคนอื่นๆมากขึ้น ก็พบว่า การเขียนบ่อยๆทำให้กระบวนการเขียนเป็นระบบระเบียบไปเองโดยธรรมชาติ เขียนเองอ่านเองก็ยังรู้สึกว่า มีบางบันทึกที่ชอบการเขียนและการเรียบเรียงความคิดและมีของหลายๆคนที่เราได้เห็นพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงจากบันทึกแรกๆมาถึงปัจจุบัน ทำให้รู้แล้วว่าการเขียนเป็นสิ่งที่ใครๆก็ทำได้
สิ่งที่เรียนรู้จากการเขียนและการอ่านบันทึกต่างๆมาตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าใน GotoKnow.org ก็คือ การเขียนที่ดี ที่เราอ่านแล้วชอบ (แม้แต่สิ่งที่ตัวเราเองเขียน) ก็คือ การเขียนสิ่งที่คิด ในขณะที่ทำเรื่องนั้นๆ ไม่ว่าจะเล่าเรื่องอะไร หากใส่สิ่งที่ตัวเองคิดในระหว่างการทำ การเห็น การฟัง เรื่องนั้นๆลงไปด้วย จะทำให้บันทึกเรื่องเล่านั้น มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร
สำหรับคนเขียน เราก็จะได้พัฒนาวิธีการคิด กระบวนการคิด และได้ทบทวนสิ่งที่เราเขียนเล่า เป็นการพัฒนาตนเองที่เป็นธรรมชาติและให้ประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับคนอ่าน เราก็ได้เรียนรู้วิธีคิด ที่บางครั้งเหมือน บางครั้งแตกต่างหลากหลาย เป็นการสอนให้รับฟัง รับรู้ความคิดของคนอื่น เป็นการรับรู้ที่เราไม่สามารถโต้แย้งได้โดยตรงทันที ทำให้เราใคร่ครวญกว่าการรับรู้ผ่านการฟัง
สรุปแล้ว หนึ่งในเคล็ดลับที่สำคัญในการเขียนเรื่องเล่าให้น่าอ่าน ก็คือ เขียน "สิ่งที่คิด" ไปพร้อมๆกับเล่าเรื่องที่ทำ เพราะสิ่งที่เราคิดเป็นของเรา ไม่มีใครมาตัดสินได้ว่าถูกหรือผิด ทุกคนมีสิทธิคิดและแสดงความคิด ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่จำเป็นต้องเหมือนหรือแตกต่างกับใคร และโดยทั่วไปแล้วไม่ว่าเราจะทำอะไร การ"คิด"ระหว่างที่ทำก็คือการฝึก"สติ"นั่นเอง ซึ่งเราทำกันอยู่แล้วเป็นประจำเพราะฉะนั้น การเขียนเล่าเรื่องที่เราทำ เราเห็น เราฟังมาพร้อมกับความคิดของเราระหว่างที่ทำ ระหว่างที่เห็น ระหว่างที่ฟังเรื่องนั้นๆ ก็ไม่มีอะไรยากเลย ใช่ไหมคะ
Other Posts By This Blogger
ความเห็น
ค่ะ เห็นด้วยเลยค่ะกับการเขียน อย่างที่ให้ข้อแนะนำไว้
ดีๆๆๆ จัง
กล้าเขียน ก็มีคนกล้าอ่านนะคะ จริงมั้ย
ถ้าไม่ลองเขียน จะรู้ได้ยังไงว่าเขียนดี
ขอบคุณมากค่ะ
หญิงลี่
พี่อาภรณ์ลองเขียนเรื่องเกี่ยวกับงาน ในทำนองเรื่องเล่า นอกจากการสื่อข่าวสารบ้างสิคะ รู้สึกว่าพี่ก็น่าจะเขียนได้สนุกเหมือนกันนะคะ
น้องลี่ ก็เขียนเก่งนะคะ เราจะได้พบกันที่ตรังวันที่ 19 นี้ไหมคะ ทีมจากหาดใหญ่จะไปเผยแพร่ Share.psu กันค่ะ
คุณ เริ่มจะเป็นมืออาชีพแล้วล่ะค่ะ พี่โอ๋ว่า แวะเข้าไปเยี่ยมชมมาแล้ว
![]() |
![]() |
อยากเป็นนักเขียนค่ะอยากถ่ายทอดสิ่งที่เราได้พบเจอมาออกมาเป็นตัวหนังสื่อให้ทุกคนได้อ่าน แต่ไม่มีประสบการณ์การเขียนหนังสือเลยค่ะ และไม่กล้าพอไม่รู้จะะเริ่มต้นอย่างไรดี ขอคำแนะนำและสร้างความมั่นใจด้วยค่ะ
17 December 2007 08:23
#4859