ความเห็น: 1
เล่าสิ่งที่เรียนรู้จากการเข้าอบรม เรื่อง การจัดการเรียนการสอนที่เน้น Active Learning ตอนที่ 1
ในช่วง 2 วันที่ ผ่านมา กระผมได้มีโอกาสเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดการเรียนการสอนที่เน้น Active Learning ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่งที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จึงตั้งใจที่จะทำความความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รู้ในเรื่องเหล่านี้จริงๆ เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องนี้ร่วมกันและเป็นการกระตุ้นให้ครูและนักเรียนได้การจัดการเรียนการสอนแบบนี้ในทุกระดับตั้งแต่ระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษาเพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนาการศึกษาของไทยให้ก้าวไกลไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยในตอนแรกนี้จะกล่าวถึง ความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 กับ Active learning ตามที่กระผมเข้าใจ ที่ได้เรียนรู้จาก ท่าน รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (รศ. คร. จุฑามาศ ศตสุข) โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ
การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีประเด็นสำคัญๆ ที่ทั้ง ครูและนักเรียน ต้องเข้าใจร่วมกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับพัฒนาการในการด้านต่างๆ ของโลกเราในศตวรรษที่ 21 การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นั้นจะเปลี่ยนไปจากการเรียนรู้ในศตวรรษที่ผ่านมาในหลายมิติ ทั้งในมิติของผู้สอน ผู้เรียน บรรยากาศหรือสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ และความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ โดยมีความแตกต่างระหว่างการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 20 และในศตวรรษที่ 21 ในหลายๆประเด็น (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, 2556) ประเด็นที่สำคัญๆคือ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นั้น จะเป็นการเรียนที่ผู้เรียนเป็นสำคัญไม่ใช่ครู อาจารย์ เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แทนการสอน เน้นให้นักเรียนมีทักษะมากกว่าความรู้ เน้นกระบวนการมากกว่าเนื้อหา เน้นทักษะการประยุกต์มากกว่าทักษะพื้นฐาน เน้นการสอนโดยใช้คำถาม ปัญหา มากกว่าความจริงหรือหลักการ เน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี เน้นโครงการแทนหลักสูตร การจัดการเรียนสอนเป็นไปตามความต้องการ เป็นรายบุคล มากกว่าการจัดการเรียนการสอนแบบเหมือนกันทั้งห้องและตามช่วงเวลาที่ผู้สอนหรือสถานศึกษากำหนด เป็นการเรียนการสอนที่เน้นความร่วมมือแทนการเรียนแบบแข่งขัน ใช้ชุมชน/สังคม เป็นห้องเรียน ใช้สื่อเทคโนโลยีต่างๆ แทนตำรา การวัด/ประเมินผล ก็จะเปลี่ยนเป็นวัดการเรียนรู้แทนการวัดความรู้ และเป็นการเรียนเพื่อการดำรงชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่าการเรียนเพื่อให้ได้เรียน หรือเป็นการเรียนเพียงเพื่อจบการศึกษา ดังนั้นวัฒนธรรมการเรียนการสอนสำหรับศตวรรษที่ 21 ต้องเปลี่ยนไป ครูต้องเปลี่ยน นักเรียนต้องเปลี่ยน ผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติต้องเข้าใจตรงกันและต้องปรับเปลี่ยน กฎ กติกาต่างๆ ให้สนับสนุนให้ครูและนักเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดของการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ได้
การเรียนการสอนที่สอดคล้องกับแนวคิดของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้ แก่ การเรียนการสอนเชิงรุก (Active learning) การเรียนการสอนแบบ PBL (Project-Based Learning) ที่ครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทจาก การ lecture เป็น Coach, Facilitator หรือ Mentor ให้กับนักเรียนในการเรียนรู้ การเรียนการสอนแบบสหกิจศึกษา หรือ โครงงาน ต่างๆ ซึ่งครูจะเป็นผู้ที่คอยทำหน้าที่ Coach, Facilitator หรือ Mentor เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาด้วยตัวนักเรียนเอง
การเรียนรู้จากการเรียนการสอนโดยกระบวนการ Active learning นักเรียนอาจจะได้รับ “ความรู้”น้อย แต่จะเป็นความรู้ที่เกิดจากการที่นักเรียนได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ทั้งการเข้าใจ (understanding) การประยุกต์ (applying) การวิเคราะห์ (Analyzing) การประเมินค่า (Evaluating) หรือ อาจจะถึงขั้นสูงสุดของการเรียนรู้คือการคิดสร้างสรรค์/นวัตกรรม (Creating) ต่างๆได้ ในขณะที่การเรียนการสอนแบบ Lecture Base นักเรียนอาจจะแค่จำได้ (Remembering) เข้าใจ (Understanding) และอาจจะประยุกต์ใช้ (Applying) ได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะไม่สามารถวิเคราะห์ (Analyzing) หรือสร้างแนวคิด หรือ นวัตกรรม (Creating) ได้ ดังนั้นนักเรียนที่ผ่านกระบวนการการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning จะสามารถใช้ “ทักษะ” ขั้นตอน กระบวนการที่ได้เรียนรู้ไปหา “ความรู้” ได้เองในอนาคตและซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืนและสามารถดำรงชีวิตในสังคมในศตวรรษที่ 21 ได้
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ข้อคิดวันครูปี 57
- ใหม่กว่า » การขับเคลื่อน การเรียนรู้สำหรับศ...
25 กรกฎาคม 2557 10:59
#99288
นี่แหละครับ ที่ต้องปฏิรูปการศึกษา... ซะที