ความเห็น: 0
จากประสบการณ์งานบริหาร สู่การสอนปฏิบัติการ
จากประสบการณ์งานบริหาร สู่การสอนรายวิชาปฏิบัติการ
ประสบการณ์จากการทำงานบริหารที่ผ่านมาที่ได้สัมผัสและที่ได้เรียนรู้ในเวทีต่างๆสอนให้ต้องเข้าใจภาพรวมก่อนที่ลงรายละเอียดในภาพย่อยของงานนั้น ทำให้การสอนรายวิชา lab ให้แก่นักศึกษา ที่เรียกว่า “Talk lab” "ของกระผมเปลี่ยนไป โดยจะบอกกับนักศึกษาว่าจะไม่อธิบายเนื้อหาสาระที่อยู่ในคู่มือ lab (direction lab) เพราะเป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจและลงทำตามนั้นโดยมี TA คอยดูแลในระหว่างการทดลอง ครับ
แต่สิ่งที่สอนนักศึกษาคือ ให้นักศึกษามองภาพรวมและคิดตามอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า วันนี้เราทำ lab เรื่องอะไร ทำไมต้องทำ ทำอย่างไร และคาดหวังว่าจะได้อะไรจากการทดลองหรือจากการทำ lab ในครั้งนี้ โดยให้นักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วมในการคิดและตอบคำถามเหล่านี้ เมื่อนักศึกษาตอบก็จะชี้ให้นักศึกษาเห็นความเชื่อมโยงของคำตอบของนักศึกษากับสิ่งที่ปรากฏอยู่ใน direction lab
เช่น คำถามที่ว่า ทำไมต้องทำ lab เรื่องนี้? คำตอบของนักศึกษาก็จะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการทดลอง คำถามที่ว่า ทำอย่างไร? ก็จะชี้ให้นักศึกษาเห็นว่าเมื่อกำหนดวัตถุประสงค์ขึ้นมาแล้วเราก็จะต้องทำอะไร? อย่างไร? เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด ซึ่งก็จะเป็นเรื่องของการออกแบบสภาวะและวิธีการทดลอง ซึ่งนักศึกษาก็สามารถศึกษาได้จาก วิธีการทดลอง ส่วนคำถามที่ว่า คาดว่าจะได้อะไรจากการศึกษานี้ นักศึกษาอาจจะมีคำตอบที่หลากหลายแต่อย่างน้อยก็ต้องสอดคล้องกับหัวข้อหรือประเด็นที่นักศึกษาต้องอภิปรายเป็นต้น
ง่ายๆ ก็คือ นักศึกษาต้องเห็นความเชื่อมโยงในภาพรวมทั้งหมดก่อนแล้ว โดยใช้คำถาม What? Why? และ How? เมื่อนักศึกษาเข้าใจภาพรวมแล้วค่อยมาทำความเข้าใจในรายละเอียดของการลง lab ครับ
ในระหว่างการสอนก็จะเน้นให้นักศึกษาทราบว่าทุกเวลาเราต้องสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง อย่ามองว่าการลงปฏิบัติการเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ หรือเป็นเพียงการให้ได้มาซึ่งข้อมูลแล้วเขียนรายงาน lab ซึ่งอาจจะลอกๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นแล้วส่งให้อาจารย์ ถ้าทำแบบนี้ก็จะไม่เกิดประโยชน์กับตัวนักศึกษาเลย
การเสียเวลาทำอะไรซักอย่างต้องเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเรา การลงปฏิบัติการและการจัดทำรายงานปฏิบัติการก็ต้องให้เกิดการเรียนรู้ที่จะสร้างคุณค่าให้กับนักศึกษาโดยเราต้องเรียนรู้จากการลงปฏิบัติการทุก lab ให้ดี โดยตั้งคำถาม “อะไร” “ทำไม” “อย่างไร” และให้หา “คำตอบ” รวมทั้งคิดหา”เหตุผลประกอบ” ถ้านักศึกษาหาคำตอบหรือเหตุผลในเรื่องใดในขณะนั้นไม่ได้ก็ต้องกลับไปค้นคว้าเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อจัดทำรายงานที่คิดว่าสมบูรณ์ที่สุดมาส่งอาจารย์ ซึ่งในปัจจุบันนักศึกษาสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้มากมาย ถ้าทำเช่นนี้ได้นักศึกษาจะได้คิด ค้นคว้า และศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองก็จะเกิดการเรียนรู้จริง ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้โดยการลงมือทำ คิด และหาเหตุมาอธิบายด้วยตัวเองเหล่านี้เป็นความรู้ที่จะติดตัวนักศึกษาไปตลอด และเป็นความรู้ที่ดีกว่าที่อาจารย์สอนหรือที่อาจารย์ป้อนให้เพราะเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนักศึกษาก็จะลืม
ดังนั้นในฐานะอาจารย์คนหนึ่งก็จะพยามสอนนักศึกษาตามแนวคิด teach less learn more เน้นการสอนแบบใหม่ในรายวิชาที่ตนเองรับผิดชอบเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เองให้มากที่สุด ก็คงต้องมาดูกันว่าถ้าสอนแบบนี้แล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยในฐานะอาจารย์ก็ดีใจที่ได้ถ่ายทอด ปลูกฝัง “แนวคิดการเรียนรู้” ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของนักศึกษาทั้งในปัจจุบันและในอนาคตครับ
ขอบคุณครับ
อ.จรัญ
Other Posts By This Blogger
- Older « อนุทินคือปฏิญญารายวันที่ทุกคนทำได้
- Newer » ควันหลงจากวันเด็กปี 2557
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้