ความเห็น: 0
การเรียนรู้เชิงรุก
สรุปประสบการณ์ “การเรียนรู้เชิงรุก”
การรับรู้ประสบการณ์การเรียนการสอนด้วย “การเรียนรู้เชิงรุก” ตามมุมมองของอาจารย์ผู้สอน
ในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลอนามัยชุมชน ที่ได้สรุปตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุขศาสตร์สู่การเรียนรู้ร่วมกันในเวทีวิจัยการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในศตวรรษที่ 21
1. ความหมายของการเรียนรู้เชิงรุกทางการพยาบาล (Active Learning in nursing)
เป็นการให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักศึกษาพยาบาล ที่ต้องการเป็นผู้มีความรู้ มีเจตคติที่ดีต่อการพยาบาลแบบองค์รวมที่ผสมผสานภูมิปัญญา มีความสามารถ ทักษะความชำนาญ ในการปฏิบัติพยาบาลสำหรับเป็นพยาบาลวิชาชีพได้อย่างเข้าใจ มั่นใจ ภูมิใจ ไปพร้อมกับการพัฒนาความสามารถของตนเอง ให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีประโยชน์และมีความสุข
ด้วยมีความเชื่อว่าผู้ที่สมัครใจเข้ามาศึกษาวิชาชีพในระดับอุดมศึกษา เป็นผู้ที่มีความพร้อม มีความต้องการพัฒนาตนเองไปสู่อาชีพนั้นๆ จากประสบการณ์ของการร่วมเป็นคณะกรรมการสัมภาษณ์นักเรียนเข้าศึกษาในสาขาการพยาบาลของคณะฯ จะผ่านการเตรียมตนเองโดยการไปศึกษาดูงานหรือลองเข้าไปฝึกปฏิบัติงานในสถานบริการพยาบาลก่อนตัดสินใจเลือก หรืออาจจะมีบางส่วนที่เลือกเพราะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องการให้เรียนพยาบาล ส่วนน้อยที่เลือกเพราะไม่ทราบจะเรียนอะไรลองเรียนไปก่อนแล้วค่อยเลือกใหม่หากเรียนไม่ได้หรือไม่ชอบ
กระบวนจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร นักศึกษาจะต้องเข้าใจเป้าหมายของการเข้ามาศึกษาของตนเองโดยผู้สอนช่วยให้นักศึกษาได้ทบทวนเป้าหมายของตนเอง เพื่อผู้สอนจะได้จำแนก ช่วยหนุนเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนภายใต้การทำงานเป็นทีม การจัดการเรียนการสอนในรายวิชานี้เป็นปีสุดท้าย เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการทำงานในวิชาชีพที่แตกต่างจากการพยาบาลในสถานบริการหรือโรงพยาบาล
ดังนั้นการเรียนรู้เชิงรุกคือการที่นักศึกษารุกเข้าไปดูใจตนเอง มองตน เห็นเป้าหมาย ความต้องการ สิ่งที่ต้องการพัฒนาตนเองสำหรับการทำหน้าที่ระหว่างการจัดการเรียนการสอนรายวิชานี้และเมื่อสำเร็จการศึกษา อันเป็นผลนำไปสู่การค้นคว้าข้อมูลหาความรู้ จนเป็นผู้รู้ ได้ลงมือทำ ทำเป็น พัฒนาเป็นความชำนาญ ในขณะที่นักศึกษาก็รุกเข้าไปอยู่ในใจผู้สอนเพื่อจะได้มีความพร้อมสำหรับกระตุ้น หนุนเสริม อำนวยความสะดวก ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นมิตร เคารพกันและกัน ผู้สอนจะอยู่ในใจของนักศึกษาหรือไม่นั้นไม่สามารถบังคับกันได้ ในขณะเดียวกันทั้งผู้เรียนและผู้สอนจะต้องเปิดใจให้ผู้รับบริการ /ประชาชน ได้เข้ามาอยู่ในใจเรา เปิดใจที่จะรับเราเข้าไปอยู่ในใจเขาด้วย การเรียนการสอนในลักษณะเช่นนี้ก็สะท้อนการเรียนรู้สำหรับผู้สอนไปพร้อมกัน ที่จะต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ ชี้แนะแหล่งความรู้ รวมทั้งเป็นแหล่งความรู้และประสานแหล่งความรู้ให้กับนักศึกษาในบริบทแหล่งฝึกพื้นที่นั้นๆเพื่อรุกเข้าไปหาความรู้ในตัวคน เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนเกิดความรู้สึกมีศักดิ์ศรี ใช้ความรู้จากตำราเป็นตัวนำทางหาความรู้ในตัวคนจนเกิดเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน
2. ความคิดเห็นหรือความรู้สึกต่อ “การเรียนรู้เชิงรุก”
การจัดการเรียนการสอนปฏิบัติการรายวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชนฯเป็นการจัดการเรียนรู้ในระดับที่ 4 ของหลักสูตร นั้นคือเป็นการพยาบาลระดับสมบูรณ์ ที่ผสมผสานความรู้ทักษะทุกระดับในการให้การพยาบาลทุกภาวะสุขภาพ ทุกกลุ่ม แก่ผู้รับบริการในชุมชน ที่บ้าน ในโรงเรียน รวมทั้งในสถานบริการปฐมภูมิ เพื่อให้บริการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ นักศึกษาต้องใช้ความรู้เดิมเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติ จะต้องเชื่อมโยงความรู้ และประยุกต์ใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมแต่ละบริบทของความจริงที่ต้องเผชิญ ดังนั้นนักศึกษาจะรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับการปรับตัว เนื่องจากไม่ทราบว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร จะไปพบเจออะไรบ้าง เพราะเป็นสถานที่ซึ่งไม่คุ้นเคย
เมื่อใช้คำว่าการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก จะสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพคือการดูแลที่เป็นการตั้งรับอยู่ในสถานบริการเป็นการรุกเข้าไปในครอบครัวชุมชน สถานประกอบการ เพื่อเป็นการสร้างสุขภาพแทนการซ่อม
ดังนั้นจึงมองว่าการจัดการเรียนการสอนเชิงรุกจะเน้น การพึ่งตนเองของผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการพิจารณาด้วยตนเองมากขึ้น และนำไปสู่การที่จะสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้รับบริการพึ่งตนเองได้ในที่สุดเช่นกัน
3. กระบวนการสอน/เทคนิควิธีการสอน
เป็นไปตามกระบวนการพยาบาลชุมชน
1.) การเตรียมพื้นที่แหล่งฝึกสำหรับอำนวยความสะดวกในการที่นักศึกษาจะรุกเข้าไปเรียนรู้
เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ มิตรไมตรี การสนับสนุนบรรยากาศ อำนวยความสะดวกสำหรับการทำงานร่วมกันและเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษารวมทั้งเพื่อความมั่นใจสำหรับความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
2.)การเตรียมนักศึกษา โดยการปฐมนิเทศจากบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา เป็นการสร้างโอกาสให้นักศึกษาเกิดความคุ้นเคย มั่นใจในการทำงานร่วมกับบุคคลอื่น กำหนดให้มีการทำงานกลุ่ม โดยประชุมกลุ่มเตรียมการเพื่อระดมคำถามที่ต้องการเรียนรู้ข้อมูลพื้นที่ รูปแบบการประชุมกลุ่ม การนำเสนอทบทวนความรู้ที่เรียนมา โดยจะกระตุ้นให้เกิดการวิเคราะห์งานด้วยตนเองและกลุ่ม กระตุ้นให้เกิดคำถาม เพื่อนำไปสู่การหาคำตอบและวิธีการทำงานร่วมกัน ผู้สอนจะร่วมสะท้อน การสนับสนุนคู่มือการปฏิบัติงาน ศึกษาวิดิทัศน์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเห็นการฝึกปฏิบัติทั้งกระบวนการ
การเล่นเกมส์เพือให้เกิดความสนุกสนาน สร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ร่วมกัน การเขียนสะท้อนคิดและแลกเปลี่ยนกัน อาจารย์ร่วมสะท้อนคิดผ่านบันทึกของนักศึกษาเป็นรายบุคคล และร่วมให้ข้อคิดเห็นในกลุ่ม
3.)ขั้นตอนปฏิบัติการของนักศึกษา ตามกระบวนการพยาบาลและแผนการปฏิบัติของกลุ่ม โดยจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการและปฏิทินของชุมชน ดังนั้นนักศึกษาจะต้องพัฒนาความสามารถในการนำความรู้ทฤษฏี และความเป็นจริงของพื้นที่ แหล่งฝึกมาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม ผู้สอนจะมองความสามารถและศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน จากงานที่ได้รับมอบหมาย การสะท้อนคิด สังเกตุการมีส่วนร่วมและบทบาทที่ได้รับมอบหมายตามแผนปฏิบัติงานประจำวัน
การกำหนดข้อตกลงร่วมกันสำคัญมาก เนื่องจากสถานการณ์ของพื้นที่สามารถมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอดังนั้นการยืดหยุ่น ปรับแผนกิจกรรมจะเป็นเรื่องท้าทายในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของนักศึกษา สิ่งสำคัญของการทำงานเชิงรุกของนักศึกษานอกจากสอนตนเองแล้วยังต้องสอนคนอื่นคือผู้รับบริการ ทั้งรายบุคคล รายกลุ่ม ทั้งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพและผู้ที่สุขภาพดี รวมทั้งการผลิตสื่อการสอน การจัดทำรายงาน การนำเสนอผลการปฏิบัติงานอันเป็นผลงานที่เกิดจากกลุ่มหรือการทำงานร่วมกับชุมชน
ทักษะที่สำคัญของผู้สอน 1) คือการฟังอย่างไม่ตีความ ให้ความสำคัญกับทุกความเห็นของผู้เรียน แล้วนำมาใคร่ครวญร่วมกัน และพยายามหนุนเสริมความสามารถในการตัดสินใจด้วยตนเอง 2) การแสดงท่าที่ของความเข้าใจและเป็นกำลังใจ 3) การส่งเสริมให้มองในมุมบวก ความดี ความงาม ความถูกต้องของผลการทำงานร่วมกัน ในขณะที่พิจารณาจุดอ่อนข้อบกพร่องสำหรับเป็นบทเรียนและนำมาแก้ไขต่อไป (เท่าที่สติ ปัญญาของผู้สอนเองจะเจริญเพียงพอ)
4) การประเมินผลและสรุปบทเรียนร่วมกันกับแหล่งฝึก เป็นการรายงานผลการปฎิบัติงานซึ่งช่วงนี้นักศึกษาจะเข้าใจกระบวนการทำงานร่วมกันมากขึ้น จะต้องสนับสนุนให้ทุกคนได้มีโอกาสเป็นผู้นำเสนอผลงาน หรือจัดการประชุม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักศึกษา สิ่งนี้จะเป็นการถ่ายทอดไปสู่ชุมชน หรือกลุ่มเป้าหมายได้อีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการดำเนินการต่อ ตามความเหมาะสมของแต่ละที่ การให้นักศึกษาตรวจสอบผลงานตนเอง ตรวจสอบกันเองก่อนนำเสนอ ผู้สอนก็ช่วยพัฒนาความรอบคอบ ช่างสังเกต และนำความรู้ที่เรียนมาเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความถูกต้อง เป็นการเพิ่มความมั่นใจ และมีส่วนร่วมในผลงานของกลุ่มอันแสดงถึงความรับผิดชอบร่วมกันอยู่บนหลักการของการใช้ความรู้และเหตุผลในการทำงาน หากโอกาส เหตุปัจจัยเหมาะสมก็จะเป็นการเรียนรู้ที่ร่วมเสริมการขับเคลื่อนในการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนได้บ้างก็จะส่งเสริมให้เกิดความภูมิใจ มั่นใจ ในขณะเดียวก็ต้องเฝ้าระวังที่จะส่งเสริมให้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้รับการพัฒนาเป็นความอ่อนน้อม ถ่อมตน และพร้อมสำหรับการเรียนรู้ร่วมกับคนอื่นๆในชุมชน ทั้งประชาชน บุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้นำชุมชน ต่อไป
บางครั้งความมุ่งมั่นของผู้สอนที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาสุขภาวะชุมชนไปร่วมกับการจัดการเรียนการสอนอาจเกิดเป็นความคาดหวัง จากงานของผู้เรียน ทำให้เกิดความกดดันกลุ่ม การสะท้อนและรับฟังความคิดเห็นอย่างเปิดใจทุกฝ่าย ช่วยให้เกิดความเข้าใจร่วมกันสำหรับการหาความพอดี สร้างบรรยากาศของการเรียนรู้อย่างมีความสุข ถูกต้อง เหมาะสมร่วมกัน จะช่วยให้เติบโตด้านจิตวิญญาณไปพร้อมกัน คือเรียนรู้สุขทุกข์ของกันและกัน นำไปสู่ความเข้าใจ ยอมรับ ร่วมมือร่วมใจ และพัฒนาไปพร้อมกัน “รุกถึงใจของกันและกัน” ซึ่งสิ่งนี้จะขัดแย้งกับแนวคิดความเป็นมืออาชีพ และสัมพันธภาพในเชิงวิชาชีพหรือไม่ ?
4. ปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆที่ขัดขวางความสำเร็จ
ความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนวัดจากพัฒนาการของนักศึกษา จากผู้ไม่รู้เป็นผู้รู้ เลือกสรรค์ความรู้ที่มีมาใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับความจริง ทั้งเป็นความรู้ที่เคยเรียนมา ความรู้ที่ได้จากการค้นคว้า ทั้งจากตำรา แหล่งความรู้หลากหลาย รวมทั้งความรู้ในตัวบุคคล สิ่งที่เรียกว่าความกลัวกังวล ได้รับการพัฒนาเป็นความกล้าแสดงออก กล้าทำ กล้าถาม อย่างรู้จักกาละ เทศะ บุคคล เกิดความอ่อนน้อม รอบคอบ พร้อมสำหรับการเรียนรู้ และมีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสม การเข้าใจตนเองและผู้อื่น เห็นศักยภาพตนเองและผู้อื่น ร่วมกันสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข ทำอย่างไรให้ทุกคนเปิดใจพร้อมเรียนรู้ ที่สำคัญคือการรู้จักให้อภัย ขอบคุณ ขอโทษ ให้โอกาสตนเองและผู้อื่น ผู้เรียนและผู้สอนคงต้องกำหนดร่วมกัน มีการปาวารณาว่าหากมีอะไรบกพร่อง ไม่พอใจกัน หรือทำให้เกิดความทุกข์ พร้อมที่จะบอกกล่าวและร่วมปรับเปลี่ยนเพื่อเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ดีของการเรียนรู้ไปด้วยกัน
ฝึกไปด้วยกัน สติ การรู้ตัว การเลือกสิ่งที่เหมาะที่ควร ลงมือทำและสรุปบทเรียนร่วมกัน ละ ลด เลิก ความโกรธ โมโห เห็นใจกันให้มากขึ้น โดยเข้าใจความเป็นเพื่อร่วมทุกข์ ร่วมสุข และพัฒนาไปสุ่ ความเป็นกัลยาณมิตรคือเพื่อนแท้ให้กันและกัน แม้เป็นเป้าหมายที่ถึงไม่ง่ายนักเราเองก็ต้องฝึกฝน ขัดเกลาตนเองไปตลอดชีวิต ดังเช่นคำกรวดน้ำในพื้นที่แหล่งฝึกของ ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง มีตอนหนึ่งที่ว่า “ฝากศีล ฝากทาน ฝากพระนิพพานไว้กับแม่ธรณี” สิ่งเหล่านี้คือความตั้งใจของบรรพชนที่บำเพ็ญไว้ให้เราได้รู้จัก เพื่อเข้าถึง ความสุข สงบ เย็น ร่วมกัน และดำรง สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ขึ้นอยู่กับใครจะเข้าถึงสิ่งที่ท่านฝากไว้ ก่อนหลัง ที่เรียกว่า “ความเจริญในธรรม”
ดังนั้นการเรียนรู้เชิงรุก จึงเป็นการรุกเข้าไปทำความเข้าใจ เรียนรู้ตนเอง พัฒนาตนเอง โดยการทำงานร่วมกับคนอื่น ที่มีภาระกิจคือเป้าหมายสุขภาวะแบบองค์รวมของทุกคน ทุกระดับที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้ร่วมกันทั้งนักศึกษาและผู้สอนเอง โดยมีเป้าหมายคือประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นสำคัญที่จะหนุนเสริมให้เกิดการพึ่งตนเองให้พ้นจากความทุกข์ในทุกสถานการณ์ รวมทั้งความทุกข์จากการเรียนการสอน ข้อตกลงร่วมกันคือเมื่อทุกข์เราจะร่วมกันฟันฝ่าให้หมดทุกข์และใช้ความสุขที่ได้รับจากการทำงานเป็นปิติ หล่อเลี้ยงกายใจ พัฒนาจิตวิญญาณของความเกื่อกูล เอื้ออาทร จากสิ่งที่เรามีและพัฒนาไปด้วยกัน ทำเต็มที่ได้แค่ไหนแค่นั้น ปล่อยวาง ให้อภัย เริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน
“ร่วมเรียนรู้เกื่อกูลและแบ่งปัน สานสัมพันธ์สรรค์สร้างทางสุขเย็น” เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียม ทุกคนมีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ ในแบบฉบับของตนเอง การเรียนรู้เชิงรุก จึง เป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ทุกคน รวมทั้งตัวเราเอง แล้วจะช่วยให้ได้เห็นสังคมของผู้รู้เต็มแผ่นดิน ด้วยกระบวนการพยาบาลเชิงรุก สู่ระบบสุขภาพพอเพียง ร่วมจัดการความรู้เชิงรุก เรียนรู้และแบ่งปันกันต่อไป
CARE@SHARE นำความรู้ มาร่วมสร้างความรัก ความเมตตา โดยการเรียนความกรุณา ถึงเวลาก็ ผ่อน ปล่อย วาง บุญกุศล คุณ ความดีขอให้เป็นประโยชน์สุขร่วมกัน พยายามต่อไปจนกว่าจะถึงฝั่ง สำเร็จทุกครั้งที่พยายาม
ทบทวนบันทึกหลังวันครบรอบ 50 ปี ต้นไม้ของพ่อ
เจริญธรรม สำนึกดี
ยาดมเอง
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (บทปฏิบ...
- ใหม่กว่า » การบูรณาการภาระกิจในอุดมศึกษา
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้